กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้รับการให้สัตยาบันจากสภาฯ นายกรัฐมนตรีพระยาพหลฯ ก็ต้องก้าวเข้ามาแก้ปัญหาที่ค้างมาก่อนที่จะลาออกจากนายกรัฐมนตรีไป ปัญหานี้คือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยในกฎหมาย 3 ฉบับที่ทางรัฐบาลได้เสนอขึ้นไป กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่อยู่ในชุดเดียวกัน ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทหาร กรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องร้อนของรัฐบาล ที่ต้องนำเสนอให้สภาฯพิจารณา และลงมติเพื่อดำเนินการตามมาตรา 39 แห่งรัฐธรรมนูญ นั่นเองโดยรัฐบาลได้นำร่างกฎหมายอาญาทั้ง 3 ฉบับ เข้าพิจารณาในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2477 ครั้งนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้กล่าวในที่ประชุมสภาฯ ว่า
“แต่บัดนี้ เป็นการพิจารณาโดยเฉพาะว่า จะลงมติตามเดิม หรือว่าจะงดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 39 เป็นการปรึกษาใหม่ ข้าพเจ้าใคร่ถามที่ประชุมว่า เพื่อไม่ให้เสียเวลาที่ว่าการพิจารณาตามมาตรา 39 นั้น ต้องลงมติคะแนนลับ โดยวิธีเรียกชื่อเพราะเหตุอย่างนั้น ถ้าท่านไม่ขัดข้องแล้ว ข้าพเจ้าใครที่ให้พิจารณารวมกันไปทั้ง 3 ฉบับในคราวเดียวกัน ท่านมีข้อขัดข้องอะไรหรือไม่”
ประธานสภาฯคงจะเกรงว่าการพิจารณาครั้งละฉบับจะเสียเวลามาก ทั้งนี้นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้เลื่อนการพิจารณาไปในวันรุ่งขึ้น อ้างว่า
“มีโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แล้วที่สภาฯ เรามีผู้ที่อ่านภาษาอังกฤษได้มีน้อยเหลือเกิน การที่จะอภิปรายในสิ่งซึ่งไม่ทราบว่าโทรเลขนั้นมีความอย่างใด แล้วไม่ได้ผล”
ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
สภาฯจึงต้องขอให้หม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งนั่งอยู่ในสภาฯด้วยเป็นผู้แปลความในโทรเลขเป็นภาษาไทยมีสมาชิกอภิปรายและซักถามกันมาก จนสภาฯเลิกประชุมช้าล่าไปเกินสามทุ่ม โดยเสียงข้างมากให้ไปลงมติ กันในวันรุ่งขึ้น
ในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าสภาฯได้ลงคะแนนลับมีมติยืนยันร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับด้วยคะแนน 75 เสียง โดยมีเสียงที่ให้แก้ไขร่างจำนวน 36 เสียง รัฐบาลจึงได้นำร่างกฎหมายเดิมทั้ง 3 ฉบับทูลเกล้าฯถวาย แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย หรือส่งร่างกฎหมายคืนมาภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ยังไม่ได้ประกาศใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้หลังจากเกินระยะเวลาตามที่มาตรา 39 กำหนดแต่อย่างใด ที่เป็นดังนี้มีการกล่าวกันว่าทางสภาฯเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ไม่เคยมีมาก่อนที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย แม้แต่กฎหมายอากรมรดกซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยยับยั้ง แต่เมื่อสภาฯยืนยันและรัฐบาลกราบบังคมทูลนำร่างกฎหมายถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วส่งคืนมา โดยรัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายอากรมรดกในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2477
ส่วนร่างกฎหมายอาญาทั้ง 3 ฉบับนี้ เมื่อพ้นระยะเวลาตามเงื่อนไขในมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลสามารถประกาศใช้ได้ แต่ที่รัฐบาลยังไม่ประกาศใช้ เพราะต้องมีแบบการประกาศใช้พระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเสียก่อน ในที่สุดรัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2477 นับเป็นเวลา 29 วันหลังจากวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประกาศสละราชสมบัติแล้ว
นี่นับเป็นกรณีแรก ที่มีการประกาศใช้กฎหมายที่กษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี