สัปดาห์ก่อนเล่าถึง......การทำรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2511 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยในช่วงที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้น จอมพลถนอมได้ตั้ง“สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นเพื่อใช้อำนาจแทนรัฐบาลและรัฐสภา เมื่อไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร งบพัฒนาจังหวัด หรือ งบ สส. ก็หายไปจากกระบวนการจัดทำงบประมาณของไทยนับตั้งแต่ตอนนั้น
อย่างไรก็ตาม งบพัฒนาจังหวัดของสส. ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ในปี 2523.....โดยมีชื่อเรียกใหม่อย่างเป็นทางการว่า “โครงการพัฒนาจังหวัดตามข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการพัฒนาชนบทและชุมชนตามข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ในเวลาต่อมา โดยช่วงปี 2525-2533 สส. แต่ละคนได้รับการจัดสรรงบดังกล่าวคนละ 1.5 ล้านบาท และเพิ่มเป็นคนละ 5 ล้านบาทในงบประมาณปี 2534
อย่างไรก็ดี การทำรัฐประหารปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบแห่งชาติ (รสช.)ที่นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำให้ งบ สส. หายไปจากกระบวนการจัดทำงบประมาณของไทยไปอีกครั้งในงบประมาณปี 2535 เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็เพียงแค่ปีเดียว ภายหลังการเลือกตั้งเดือนกันยายน 2535 และได้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง งบ สส. ก็ได้คืนชีพกลับมาอีกครั้งในงบประมาณปี 2536 โดยเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น “โครงการพัฒนาพิเศษตามข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (พ.สส.)
ในงบประมาณปี 2537 นอกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับงบ โครงการ พ.สส. คนละ 5 ล้านบาทแล้ว ยังได้รับการจัดสรรอีกคนละ 15 ล้านบาท ในโครงการใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา ที่มีชื่อว่า “โครงการพัฒนาจังหวัดของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” รวมเป็นคนละ 20 ล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพลิดเพลินกับการใช้จ่ายงบ สส. คนละ 20 ล้านบาทในแต่ละปีงบประมาณได้เพียงสี่ปีเท่านั้น
เมื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มีผลบังคับเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 โดยมีบทบัญญัติในมาตรา 180 วรรค 6 ที่ว่า.....“ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หรือของคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้”
ธรรมนูญทางการคลังเช่นเดียวกันนี้ต่อมาก็ได้ถูกเขียนไว้ใน มาตรา 168 วรรค 6ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และมาตรา 144 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ตามลำดับ
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว คือ...การห้ามไม่ให้สมาชิกรัฐสภาหาประโยชน์จากการใช้งบประมาณแผ่นดินไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม...
ในอดีตที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างแย่งชิงกันเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยหวังผลจากการ
ใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น การผลักดันให้โครงการการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินบางโครงการลงสู่เขตการเลือกตั้งหรือจังหวัดของตน รวมไปถึงฐานที่มั่นทางการเมืองของพรรคการเมืองที่สังกัด ภายหลังเมื่อ สส. แต่ละคนได้รับการจัดสรรงบพัฒนาจังหวัดเป็นครั้งแรกในปี 2513 การแย่งชิงเพื่อเป็นกรรมาธิการงบประมาณในสภาผู้แทนราษฎรจึงลดน้อยลงไปบ้าง
งบพัฒนาจังหวัดของ สส. ไม่เพียงช่วยเพิ่มคะแนนนิยมทางการเมืองให้กับ สส. แต่ยังเป็นการสร้างสายสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ อันเป็นการวางรากฐานทางการเมืองที่มั่นคงให้กับตนเองและทายาททางการเมืองสืบต่อไปในอนาคต นอกจากนั้น...งบพัฒนาจังหวัดยังสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจเชิงสายสัมพันธ์ระหว่างหัวคะแนนกับ สส. ในพื้นที่จากการประมูลงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ของราชการ รวมไปถึงการผูกขาดการจัดซื้อจัดจ้าง การขายสินค้าและบริการให้กับหน่วยงานราชการที่อยู่ในฐานที่มั่นทางการเมืองของตน
ถึงแม้ สส. จะไม่ได้รับงบนี้ทุกปี เพราะถูกขัดจังหวะด้วยการทำรัฐประหารเป็นระยะๆอันทำให้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในบางช่วง นับจากปี 2513 จนถึง 2540 อันเป็นปีแรกที่ สส.ได้รับงบพัฒนาจังหวัด จนถึง การมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกที่ห้าม สส. มีส่วนในการใช้งบประมาณไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ด้วย....งบพัฒนาจังหวัดที่เริ่มจาก 300,000 บาทต่อ สส. หนึ่งคน ในปี 2513
เพิ่มเป็น 1,000,000 บาท ในปี 2514
กลายเป็น 1,500,000 บาท ในปี 2523-2533 (11 ปี)
และเพิ่มอีกเป็น 5,000,000 บาท ในปี 2534 และ 2536 (2 ปี)
และสุดท้าย 20,000,000 บาท ในปี 2537-2540 (4 ปี)
โดยเฉพาะ...การฝังตัวของงบดังกล่าวในกระบวนการงบประมาณระหว่างปี 2523-2533 อันเป็นช่วงพัฒนาการของนักเลือกตั้งในตลาดการเมืองไทย และกลายเป็นห้าล้านและยี่สิบล้านบาท ต่อปีและต่อคน ในช่วงหกปีสุดท้าย ก่อนที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 จะมีผลบังคับใช้
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด ที่จะมีชื่อของบ้านใหญ่ สุพรรณบุรี, บ้านใหญ่ บุรีรัมย์, บ้านใหญ่ ชลบุรี, บ้านใหญ่ โคราช และชื่อของอีกหลายบ้านใหญ่ในจังหวัดอื่นๆ ติดอยู่ตามวัสดุอุปกรณ์ตั้งแต่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เต็นท์ผ้าใบ เรื่อยไปจนถึงตามสะพานลอย หอนาฬิกา สวนสาธารณะ และอนุสรณ์สถานต่างๆ ในแต่ละจังหวัด
และกว่าที่มาตรา 180 วรรค 6 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จะได้อุบัติขึ้นและพัฒนาการต่อเนื่องมาถึง มาตรา 144 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับปัจจุบัน....บ้านใหญ่ก็กลายเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลและมีบทบาทอย่างมากในระบบการเมืองการปกครองของไทยไปเรียบร้อยแล้ว...
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี