“Medical Tourism ถ้าเราพูดถึงความหมายกว้างๆ เพราะวันนี้ยังไม่มี Definition (นิยาม) ที่ทุกคนเห็นด้วยกันหมด ยังเถียงกันอยู่ตกลงมันคืออะไร แต่มันจะเป็นสิ่งที่พูดถึงสถานการณ์ที่คนไข้จากประเทศหนึ่งไปใช้ Medical Service (บริการสาธารณสุข) จากอีกประเทศหนึ่ง นั่นคือ Core Element (องค์ประกอบหลัก) ของเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เถียงกันก็คือคำว่า Medical Service มันรวมอะไรบ้าง? บางคนรวมผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนอะไรต่างๆ แต่ถ้าเกิดทำฟันบางคนก็เริ่มมีคำถาม หรือมารักษาผู้มีบุตรยาก มันก็เริ่มมีคำถาม ตกลงเป็น Medical Service หรือเปล่า?”
รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยาย (ออนไลน์) ในหัวข้อ “Thailand’s medical tourism in the post pandemic” ในกิจกรรม Monday Brown Bag ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงต้นเดือนก.พ. 2568 ที่ผ่านมาว่าด้วย “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)” ซึ่งบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังค้นหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจ (Growth Engine) ตัวใหม่ ต่างสนใจธุรกิจด้านนี้เพราะพบแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
นอกจากนั้น ด้วยความที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต้องการแรงงานทักษะ (เช่น แพทย์ พยาบาล) ยังทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเกิดความรู้สึกภูมิใจว่าชาติของตนเองไม่ได้ขายแต่แรงงานราคาถูก เมื่อรวมกับคนที่มาใช้บริการมักเป็นนักท่องเที่ยวที่มีฐานะดี มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูง ก็ต้องบอกว่า “Medical Tourismได้ทั้งเงินและคุณค่าทางใจ” นำไปสู่ความพยายามส่งเสริมอย่างเอาจริงเอาจัง รวมถึงสถาบันทางธุรกิจหลายแห่งก็พยายามตอกย้ำให้เดินหน้าโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีหลายประเด็นให้พิจารณา
1.ชาวต่างชาติที่ใช้บริการสาธารณสุขควรจะนับใครบ้าง? เช่น กรณีของประเทศไทย มีทั้งบุคลากรของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาประจำการ แรงงานข้ามชาติ นักท่องเที่ยว หากไม่มีการจำแนกก็อาจทำให้เศรษฐกิจในภาคส่วนนี้ถูกมองอย่างใหญ่เกินจริง (Overestimate) 2.การเคลื่อนย้ายของผู้รับบริการสาธารณสุขควรจะนับระหว่างประเทศแบบใดกับแบบใด? เพราะมีทั้งคนจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้บริการในประเทศกำลังพัฒนา คนจากประเทศกำลังพัฒนาเคลื่อนย้ายไปในบริการในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน หรือแม้แต่คนในประเทศกำลังพัฒนาไปประเทศพัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ Medical Tourism ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยหากย้อนไปในอดีตหลายสิบปีก่อน คนร่ำรวยในประเทศกำลังพัฒนานิยมเดินทางไปรักษาพยาบาลในประเทศพัฒนาแล้วเพราะมีเทคโนโลยีและบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีกว่า แต่ปัจจุบันกลับกัน คือคนจากประเทศพัฒนาแล้วเลือกเดินทางไปใช้บริการสาธารณสุขในประเทศกำลังพัฒนา หรือตัวอย่างของการเคลื่อนย้ายการใช้บริการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เช่น คนจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีกำลังทรัพย์ ก็มักจะเดินทางข้ามชายแดนเข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในไทย
หรือแม้แต่จุดประสงค์ของการใช้บริการก็ต้องแยกแยะอีก เพราะหลายคนก็ไม่ได้เจ็บป่วยจนจำเป็นต้องรับบริการทางการแพทย์ แต่ทำเพราะต้องการความสุข เช่น ผ่าตัดเพื่อความงามให้มีรูปร่างดูดี 3.ผลข้างเคียงของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (ซึ่งมักไม่ค่อยถูกพูดถึง) เช่น กรณีของประเทศไทยที่มีเสียงบ่นเป็นระยะๆ ว่าแพทย์ไม่นิยมอยู่โรงพยาบาลของรัฐแต่ออกไปหากินกับโรงพยาบาลเอกชน การส่งเสริม Medical Tourism ดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่อีกด้านก็ทำให้คนไทยได้รับผลกระทบการพัฒนาตรงนี้จึงต้องคิดให้รอบคอบ
อาทิ จำนวนบุคลากรไม่พอเมื่อเทียบกับความต้องการ และการผลิตบุคลากรก็ต้องใช้เวลา ส่งผลให้ราคาบริการทางการแพทย์หรือบริการสาธารณสุขเพิ่มสูงขึ้น และผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชนทั่วไปในประเทศนั้น โดยเฉพาะหากเป็นกรณีการเคลื่อนย้ายระหว่างคนจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เมื่อคนประเทศหนึ่งเห็นว่าบริการในประเทศของตนเองไม่ดีจึงข้ามไปใช้บริการในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นบริการแบบเดียวกันกับที่คนท้องถิ่นในประเทศนั้นใช้อยู่ จึงเกิดการทับซ้อนกัน
“กลุ่มเพื่อความสวยงาม เพื่อความพึงพอใจ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง กลุ่มนี้ไม่ทับซ้อน คนหนึ่งจะไปโรงพยาบาล ไปหาหมอ เจ็บคออีกคนหนึ่งจะไปผ่าหน้าทำหน้าสวย เปลี่ยนชายเป็นหญิง-หญิงเป็นชาย อันนั้นเป็นเรื่องหนึ่งเลย ไม่ทับแน่นอน แต่สิ่งที่ยังไม่พูดถึงกันก็คือมันจะมี Indirect Side Effect (ผลข้างเคียงทางอ้อม)ขึ้นมา วันที่คุณปล่อยให้ธุรกิจพวกนี้บูมมากๆ มันจะทำให้ไปดึงคนจากกลุ่มหนึ่ง
ดึงนักเรียนแพทย์ที่กำลังเรียน รอจะขึ้นเฉพาะทาง แต่อาจเห็นว่ากิจกรรมพวกนี้ถ้ามันบูมมากๆ ผลตอบแทนมันสูงมากๆ นักเรียนแพทย์ที่กำลังจะออกมาอาจตัดสินใจไม่ใช้ทุน แล้วกระโดดเข้ามาภาคส่วนนี้ แล้วคราวนี้มันจะเกิด Indirect Side Effect เข้ามา ซึ่งตรงนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แล้วผมว่าเป็นเรื่องสำคัญและเราควรติดตามอย่างมาก” รศ.ดร.อาชนัน กล่าว
และ 4.ผลกระทบจากโควิด-19 โดยช่วงที่มีสถานการณ์ระบาดรุนแรง แต่ละชาติใช้มาตรการปิดประเทศเพื่อจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน การท่องเที่ยวทุกประเภทก็ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไป ประเทศกลับมาเปิดและมีการเดินทางข้ามพรมแดนตามปกติ แต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Medical Tourismจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน เช่น บริการสำหรับผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาจริงๆ จะยังคงเติบโตไปเรื่อยๆ ในภาพรวมแต่หากแยกเป็นบริการแต่ละด้าน ผลกระทบอาจมีทั้งบวกและลบ อาทิ การรักษาแผลเบาหวาน แพทย์ไทยยังโดดเด่นอยู่
หรือการเคลื่อนย้ายระหว่างคนจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แต่ละชาติเริ่มคิดถึงความมั่นคงทางการแพทย์ (Medical Security) มากขึ้น นำไปสู่ความพยายามปรับปรุงระบบสาธารณสุขในประเทศของตนเอง ซึ่งหลายชาติก็คิดแบบยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว คือไหนๆ จะทำแล้วก็ส่งเสริม Medical Tourism ไปด้วยเลย มีการจูงใจนักลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ซึ่งในระยะสั้นประเทศที่พร้อมเรื่อง Medical Tourism อยู่แล้ว (เช่น ไทย) จะยังคงเติบโต แต่ระยะยาวหากประเทศอื่นทำได้บ้าง แรงงานด้าน Medical Tourism ที่เร่งผลิตกันมาจำนวนมากจะทำอย่างไร คราวนี้ก็จะเกิดปัญหาขึ้น รวมถึงหลายประเทศก็ยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ทำให้การเดินทางไปใช้บริการสาธารณสุขในต่างประเทศลดลง ขณะที่ด้านบริการเพื่อความพึงพอใจ (เช่น ศัลยกรรมความงาม) ซึ่งขยายตัวมากเป็นดอกเห็ด มีการตัดราคากันอย่างหนัก นำไปสู่ปัญหาการควบคุมคุณภาพ เมื่อไปเจอบริการที่ไม่ดีก็ถูกมองในแง่ลบแบบเหมารวม
ชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/ECONTUofficial/videos/468923109628038/?locale=th_TH
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี