ผู้เขียนที่เคยมีโอกาสถกเรื่อง รัฐธรรมนูญไทยและรัฐธรรมนูญเมียนมากับนักการเมืองอาวุโสสูงสุดในสภา และพูดได้เต็มปากว่า ท่านเป็นนักการเมืองซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เคยมีข้อครหาเรื่องโกงกินงบประมาณแผ่นดิน ตลอดเวลาห้าสิบกว่าปีที่ท่านทำงานการเมือง
นักการเมืองท่านนั้นกับผม บังเอิญพบกันที่สนามบินดอนเมือง ระหว่างเดินทางกลับบ้านในห้วงเวลาที่รัฐบาลคสช.กำลังรณรงค์ทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคงสังเกตเห็นผมเดินคุยกับท่านตั้งแต่ลานบินเลยจัดแจงเปลี่ยนที่นั่งให้ผมไปนั่งใกล้ท่าน
การนั่งใกล้กันวันนั้นท่านได้กล่าวว่า ไม่สบายใจที่รัฐธรรมนูญเขียนเสร็จแล้ว ยังเพิ่มบทเฉพาะกาลห้าปีเข้าไป นอกจากนั้น ยังมีหลายมาตราที่ไม่เป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตย ท่านจำเป็นต้องใช้สิทธิไม่รับรัฐธรรมนูญปี’60 ในวันลงประชามติ
ผู้เขียนซึ่งมีความรู้ความเข้าใจ เรื่องกฎหมาย เรื่องรัฐธรรมนูญเพียงเล็กน้อยจึงออกความเห็นตามประสาคนรู้ไม่พูด คนพูดไม่รู้ว่า อย่างน้อยรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 ก็ยังดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2553 ของเมียนมาที่ยังใช้อยู่ได้ถึงวันนี้
ท่านถามผมว่า รัฐธรรมนูญปี’60 ดีกว่าของเมียนมาตรงไหน ผมตอบแบบงูๆ ปลาๆว่า อย่างน้อยรัฐธรรมนูญไทย มีบทเฉพาะกาลห้าปี หลังจากนั้นจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ท่านกล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ของไทยดีกว่าอย่างไร ในเมื่อรัฐบาลทหารมีอำนาจตั้งวุฒิสภาได้ 250 คน ตามอำเภอใจ และ ให้อำนาจวุฒิสภาแต่งตั้งเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. 500 คน ที่ประชาชนเลือกมา เท่ากับว่านายกฯมีเสียงอยู่ในมือแล้ว 250 คน เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจหลังจากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป
นอกจากนั้น ผู้นำกองทัพเป็น สว.ได้ตามตำแหน่ง และหลังจากหมดบทเฉพาะกาลห้าปีแล้ว ใครจะรู้ได้ว่า เขาเลือก สส. เลือก สว. กันอย่างไร (ตอนที่คุยกับท่านกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังไม่ประกาศใช้) ท่านกล่าวด้วยว่าบางมาตรารัฐธรรมนูญบัญญัติให้ปรับปรุงแก้ไขได้ยาก
จะเห็นได้ว่า นักการเมืองที่อุดมการณ์มั่นคง ซื่อสัตย์ สุจริตท่านนี้ มองการณ์ไกลรู้ล่วงหน้าว่า หลังจากหมดวาระบทเฉพาะกาลห้าปีแล้ว จึงมีวิธีการเลือกตั้ง สว.แบบพิสดาร โดยวิธีการให้ผู้สมัครเลือกกันเองในแต่ละสาขา และเลือกไขว้กันไปมา ซึ่งสามารถจัดตั้งได้ง่าย นี่ยังไม่รวมถึงซื้อเสียง ซึ่งหากมีการทำกันจริงแน่นอนซื้อผู้สมัครหลักร้อยคน ง่ายกว่าซื้อเสียงประชาชนนับหมื่นนับแสนคน
เมื่อได้พูดไปแล้วแต่ต้นว่ารัฐธรรมนูญปี’60 ของไทย ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2553 ของเมียนมาผมจำเป็นให้เหตุผลแก่ท่านว่า ที่ดีกว่า เพราะ 1.รัฐธรรมนูญเมียนมา ไม่มีบทเฉพาะกาลห้าปี และ 2.รัฐธรรมนูญเมียนมาแทบแก้ไม่ได้เพราะกำหนดไว้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 75% ของสมาชิกรัฐสภา 3. กองทัพมีโควตา 25% ในรัฐสภาโดยไม่ต้องลงสมัครเลือกตั้ง 4.รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดนได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพ และ 5.รัฐธรรมนูญปี 2553 ของเมียนมา มาตรา 59 ห้ามมิให้ผู้ที่มีคู่สมรสเป็นต่างชาติหรือมีบุตรธิดาเป็นต่างชาติเป็นประธานาธิบดี
ก่อนจะพล่ามเรื่องเมียนมาต่อไป บังเอิญเครื่องบินถึงจุดหมายปลายทางเสียก่อน ผมจึงต้องกราบลาท่านตรงนั้น และขอบพระคุณท่านที่ทนฟังผมพล่ามตลอดเวลาการเดินทางโดยเครื่องบิน อนึ่งเนื่อง จาก สส.ที่ประชาชนทั้งประเทศรักเคารพศรัทธา การสนทนาในเครื่องบิน จึงชะงักเป็นระยะๆ เมื่อผู้โดยสารที่รักเคารพศรัทธา มาทักทายและขอถ่ายรูป (เซลฟี่) กับท่าน
ยกเรื่องนี้ขึ้นเล่าเพื่อยืนยันว่า ท่านเป็นนักการเมืองยึดมั่นในหลักการ เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราที่ผ่านมา ท่านอภิปรายสนับสนุนอย่างแข็งขันส่วนการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 76 ที่ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ท่านก็คัดค้านเช่นเดียวกับที่ท่านไม่เห็นด้วย กับการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 แต่ท่านก็เป็น สส.เพียงไม่กี่คนที่แสดงตนในที่ประชุมสภาตามหลักการประชาธิปไตย ท่านไม่เลือกวิธีการ Walk Out เหมือนสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ซึ่งมีเอกสิทธิ์ตามกฎหมาย
มองจากความเป็นจริงจะพบว่า การแก้ไขรัฐในมาตราที่อ่อนไหวอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายในกรณีประเทศไทยรัฐธรรมนูญมาตรา 1 และ 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และความมั่นคงภายในเป็นประเด็นอ่อนไหว ดังนั้น เมื่อตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ใครรับประกันได้ว่าจะไม่แตะ มาตรา 1 และ 2 ตลอดถึงมาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
ส่วนรัฐธรรมนูญ 2553 ของเมียนมา เนื่องจากเมียนมาตกอยู่ในการปกครองของอาณานิคมอังกฤษนานปี เขาจึงพยายามกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาปกครองอีก จึงมีมาตรา 59 บัญญัติไว้ไม่ให้ผู้ที่มีคู่สมรส และบุตร ธิดาต่างชาติ เป็นประธานาธิบดี
นาง ออง ซาน ซู จี คงเคยอ่านนิทานศรีธนญชัย เหมือนคนไทย เธอจึงตั้งตัวเป็น ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และปฏิบัติหน้าที่เหนือ ประธานาธิบดีทุกประการ
ที่สำคัญ เมียนมาปัจจุบันไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์กองทัพที่ปกครองประเทศมากว่าห้าสิบปี หลังเป็นอิสระจากอังกฤษกองทัพจึงเป็นสถาบันหลักที่รักษาอธิปไตย ให้เป็นสหภาพเมียนมาเป็นหนึ่งเดียวไว้ได้
รัฐธรรมนูญเมียนมา จึงให้โควตากองทัพ 25% ในอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ แต่ผลการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2563 พรรคเอ็นแอลดีของ นางออง ซาน ซู จี ชนะ แบบแลนด์สไลด์ได้ สส. 395 คนจาก สส.เต็มสภา 440 คน และมีรายงานว่า นางออง ซานซู จี เสนอตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งการเมืองอื่นๆให้สส.พรรคยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรคแนวร่วมทหารหลายตำแหน่ง เพื่อให้มี สส.ในสภาเกิน 75% ซึ่งสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ รัฐธรรมนูญเมียนมากำหนดให้ผู้รับตำแหน่งทางการเมือง พ้นจากเป็นสมาชิกรัฐสภา
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 วันเปิดประชุมสภาเป็นทางการ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จึงนำทหารยึดอำนาจห้าชั่วโมงก่อนเปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการ จึงถือว่าพรรคเอ็นแอลดี ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล ความหวังของออง ซาน ซู จี ที่จะแก้รัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2553 จึงดับวูบลงตั้งแต่วันนั้น
จึงเป็นบทเรียนว่า การแก้รัฐธรรมนูญในมาตราอ่อนไหวทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับ นางออง ซาน ซู จี ที่ได้อำนาจ 75% ไม่พอใจอยากได้อำนาจเด็ดขาด 100%
นางออง ซาน ซู จี ไปเติบโตในต่างประเทศได้รับการศึกษาจากตะวันตก และมีสามีมีลูกเป็นคนอังกฤษ เธอกลับมาเยี่ยมแม่วัยชราในเมืองย่างกุ้งปี 2531 ซึ่งตรงกับห้วงเวลาที่นักศึกษา ประชาชนเมียนมาประท้วงขับไล่รัฐบาลนายพลเนวิน
ในฐานะที่เป็นลูกสาวของนายพลอองซาน วีรชนผู้ต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพให้เมียนมา เธอจึงถูกอุปโลกน์ให้เป็นผู้นำต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา โดยที่ไม่ประสีประสาบริบทสังคมการเมืองและทหารในสหภาพเมียนมา
ออง ซาน ซู จี ได้รับการยกย่องเป็นวีรสตรีแห่งประชาธิปไตยจากประเทศตะวันตก ทั้งๆที่เธอไม่เคยออกจากบ้านไปต่อต้านเผด็จการในถนน เธอเพียงแต่ยืนบนโต๊ะหลังประตูรั้วให้ประชาชนเห็นหน้าแล้วทำการปราศรัย ออง ซาน ซู จี ผู้ฝังใจประชาธิปไตยแบบตะวันตก
ดังนั้น เมื่อวอชิงตันยุยงให้นางลุกขึ้นมาปฏิวัติประชาชน จัดตั้งกองกำลังขึ้นมาสู้กับกองทัพเมียนมาที่มีศักยภาพสูง มีทหารประจำการกว่า 500,000 นาย เธอจึงเชื่อคำแนะนำจากวอชิงตันให้ต่อสู้กับทหารด้วยกำลังอาวุธที่ไม่มีวันชนะกองทัพได้
หลายฝ่ายมีคำถามว่า ในเมื่อเธอมีผู้สนับสนุนล้นหลามในเมียนมา ที่เลือกตั้งเมื่อไหร่เธอชนะแบบแลนด์สไลด์เมื่อนั้น แล้วทำไมเธอจึงเลือกต่อสู้ด้วยอาวุธที่ไม่มีวันชนะได้
คำตอบง่ายๆ คือเธอไม่เข้าใจบริบทสังคม การเมือง การทหารในเมียนมาอย่างลึกซึ้ง เมื่อเธอได้รับการปลูกฝังจากตะวันตก และเมื่อตะวันตก
แนะนำให้เธอใช้กำลังโดยมีตะวันตกหนุนหลัง นางจึงกระโจนเข้าสงครามที่ไม่มีวันชนะ ซึ่งตรงกับคำพังเพยไทยที่ว่าได้คืบเอาศอก ได้ 75 จะเอาเต็ม 100
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี