ตอนที่ มีการปิดสมัยประชุมในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2477 นั้น ทางตำรวจได้เข้าจับกุมนายพลโท พระยาเทพหัสดิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในข้อหากบฏ นับว่าเป็นข้อหาที่ร้ายแรงนายพลท่านนี้เป็นผู้ที่อภิปรายแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาและเป็นตัวของท่านเองมากที่ผ่านมาท่านก็อาจจะไม่ได้สนับสนุนท่าทีของรัฐบาล แต่ข้อหากบฏนี้ดูจะเป็นข้อหาใหญ่ที่ไม่แน่ใจว่าทางตำรวจจะมีหลักฐานมั่นคงขนาดใดเพราะหลายคนก็คิดว่าท่านไม่น่าจะเป็นกบฏวันที่ตำรวจสันติบาล ออกปฏิบัติการจับกุมคุมตัวพระยาเทพหัสดิน นั่นคือวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2477 หลังปิดสภาหนึ่งวัน ปกติวิสัยโดยทั่วไปนั้นในสมัยเปิดประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน ที่ตำรวจจะเข้าไปจับกุมตัวไม่ได้ แม้แต่ขณะดำเนินคดีที่ศาลก็ยังต้องปล่อยตัวมาประชุม ดังนั้นที่ตำรวจดำเนินการจับกุมในวันแรกหลังที่ปิดประชุม แสดงว่าได้เตรียมการมาพอสมควร
ก่อนหน้านั้นได้มีการจับกุมทางการเมืองเกิดขึ้นผู้ที่ถูกจับกุมน่าจะมีอยู่ประมาณ 7-8 คนและหนึ่งในนั้น คือ ด็อกเตอร์โชติ คุ้มพันธุ์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร นับเป็นนักการเมืองที่มีท่าทีอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างชัดเจน และด็อกเตอร์โชตินี่เองที่เป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกับพระยาเทพหัสดิน เพราะทั้งสองท่านเคยอาสาไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 มาด้วยกัน ได้มีข่าวว่าพระยาเทพหัสดินได้พยายามติดต่อคนในรัฐบาล รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีพระยาพหลฯ เพื่อขอให้ปล่อยตัวด็อกเตอร์โชติออกมาสู้คดี ที่จริงจะว่าไป พระยาเทพหัสดินก็พยายามทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนเปิดปากเรียกร้องแทนราษฎรที่เดือดร้อนก็ได้ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ว่าทำไมท่านเรียกร้องให้เฉพาะด็อกเตอร์โชติ ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับการเรียกร้อง ดังนั้นตำรวจจึงเพ่งเล็งไปที่พระยาเทพหัสดินด้วย โดยมองว่าที่ท่านมาเรียกร้องเช่นนี้อาจจะไปร่วมมือกันทำอะไรก็ได้ และพระยาเทพหัสดินก็รู้ดีว่าท่านได้ถูกตำรวจติดตามตัว คอยเฝ้าดูพฤติกรรมของท่านมาระยะหนึ่ง ถึงขนาดปลอมตัวไปเป็นคนตกปลา ไปด่อมๆ มองๆ ที่บ้านท่านด้วย การร้องเรียนให้ปล่อยตัวด็อกเตอร์โชติของพระยาเทพหัสดินนั้น ได้เป็นที่รู้กันทั่วไปในรัฐบาล นอกจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่างก็พากันหาข้อมูลชี้แจง ไม่เพียงเท่านั้นประธานสภาผู้แทนราษฎร เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวพระยาเทพหัสดินซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกมาด้วย แต่ก็ไม่ได้ผล
ทางตำรวจได้เร่งรวบรวมหลักฐานและรีบส่งฟ้องพระยาเทพหัสดินในข้อหาว่าท่านได้จ้างคนให้ดำเนินการสังหารหรือลอบฆ่า นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเวลานั้นหลวงพิบูลสงคราม เป็นนักการเมืองที่มีความโดดเด่นรองจากนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ และเป็นนายทหารที่มีอำนาจมากที่สุด ข้อหาที่ว่าพระยาเทพหัสดินจะจ้างคนฆ่าหลวงพิบูลฯนั้นไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไร แต่ต้องยอมรับว่าได้ว่าเวลานั้นหลวงพิบูลฯ ก็มีความขัดแย้งกับนายทหารพวกเดียวกันที่เคยกอดคอกันก่อการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อยู่ด้วยเหมือนกันเพราะฉะนั้นข่าวเรื่องการที่จะมีบุคคลเล่นงานหลวงพิบูลฯ ถึงตายจึงมีความจริงอยู่บ้าง แต่ที่มาลงเอยที่พระยาเทพหัสดินนั้น ยังเป็นที่แปลกใจของคนโดยทั่วไป
พระยาเทพหัสดินถูกฟ้องศาลดำเนินคดีกบฏ โดยกล่าวหาว่าท่านจ้างคนให้ฆ่าหลวงพิบูลฯ นั้น ท่านได้รับการประกันตัวชั่วคราวจากนั้นท่านถูกฟ้องร้องสู่ศาลอาญา ทางศาลไม่ให้ประกันแม้ท่านจะเป็นรองประธานสภาจึงต้องถูกคุมขังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2477 จนคดีดำเนินไปถึงศาลอุทธรณ์ ทางศาลได้พิจารณาพิพากษายกฟ้อง ท่านจึงได้รับการปล่อยตัว ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2477 รวมเวลาต้องถูกคุมขังอยู่ประมาณ 3 เดือน นับว่าเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกก็ว่าได้ ที่ถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้แทนราษฎร และตำแหน่งประธานสภาคนที่ 2
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี