ในปี 2568 นี้ ก็จะมีการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับจีนคอมมิวนิสต์ครบรอบ 50 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนนั้นมีต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยเริ่มต้นกันในกรอบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนต่อมาเมื่อทางฝ่ายจีนมีการปฏิวัติล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเปลี่ยนจีนเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งก็ได้เปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐจีนอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งเมื่อฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์มีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง (ชาตินิยม) ในสงครามกลางเมืองเมื่อปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) ราชอาณาจักรไทยยังคงความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝ่ายก๊กมินตั๋งที่มาตั้งมั่นอยู่ที่เกาะไต้หวัน
แต่เมื่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนบนแผ่นดินใหญ่ (ที่ประกาศตนเป็นรัฐบาลเดียวของจีนทั้งหมด) ได้รับการรับรองจากนานาชาติ รวมทั้งการได้รับที่นั่งเป็นสมาชิกสหประชาชาติแทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ก๊กมินตั๋ง-ไต้หวัน) ในช่วงปี ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ราชอาณาจักรไทยก็ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตจากสาธารณรัฐจีนไต้หวัน มาเป็นจีนคอมมิวนิสต์บนผืนแผ่นดินใหญ่ โดยในการนี้รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ก็ได้ยุติการให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นการตอบแทน
ในช่วงประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับจีนคอมมิวนิสต์ ถือว่ามีความราบรื่น และมิตรไมตรีกันเป็นที่พึงพอใจกันในระดับหนึ่ง ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนต่างๆ กันมากมายทั้งการเพิ่มพูนการทำมาค้าขาย และการท่องเที่ยวระหว่างกัน ไปจนถึงเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
ในขณะเดียวกัน จีนได้ตัดสินใจเปิดประเทศ และเข้าร่วมในการทำมาค้าขายระหว่างประเทศแบบตลาดเสรีหรือทุนนิยม โดยละทิ้งระบอบเศรษฐกิจแบบรัฐนำพา (State-led economy) จนจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพชีวิตอย่างใหญ่หลวง แต่ทว่าในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จีนได้ตัดสินใจที่จะแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาในการเป็นเจ้าโลก และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและแพร่ขยายรูปแบบของการพัฒนาประเทศแบบพรรคเดียวนำพา และเศรษฐกิจผสมผสานระหว่างวิสาหกิจรัฐกับธุรกิจเอกชน
ในการนี้จีนก็มีงบประมาณมากมายที่จะช่วยให้เกิดการขยายอิทธิพล อุดมการณ์หรือระบบความคิดทางโครงสร้างทางการเมืองดังกล่าว ไปยังประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลก โดยมีเงินช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น โครงการ DRI 1 แถบ 1 เส้นทาง โครงการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และธนาคารเพื่อการพัฒนา เป็นต้น
นอกจากการช่วยเหลือทางด้านเงินทองแล้ว จีนยังมีองค์กรที่จะเสนอ “ขายไอเดีย” ว่าด้วยพรรคเดียวนำพาดังกล่าว และความมีมิตรไมตรีของจีนต่อประชาคมโลก เช่น สถาบันขงจื๊อ สมาคมมิตรภาพจีนกับแต่ละประเทศ การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม การศึกษา และโครงการวิจัย รวมไปถึงการเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศต่างๆ ด้วยการให้ทุนสนับสนุนแวดวงวิชาการ สื่อ และบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ
ในรูปการณ์นี้ องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของจีนก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่เป็นผู้บงการ ควบคุมและกำกับความเป็นไปต่างๆ ทั้งภายในประเทศจีนและการดำเนินการต่างๆ นอกประเทศ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าองค์กรใดๆ ทั้งภาครัฐ วิชาการ สื่อ วัฒนธรรม ล้วนเป็นเครื่องมือกลไกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งสิ้น ในการที่จะเสริมสร้างอำนาจ อิทธิพลของจีนในประชาคมโลก
การที่ประเทศหนึ่งใดจะดำเนินความสัมพันธ์กับจีนนั้น จึงต้องตระหนักในเรื่องโครงสร้างของจีน และผู้เล่นบทบาทต่างๆ ของฝ่ายจีนว่า ต่างมีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น อีกทั้งประเทศต่างๆ ก็ต้องตระหนักให้เป็นที่แน่ชัดว่า จีนเขามีเป้าหมายและวิธีการต่างๆ ที่จะเสริมสร้างอิทธิพลและครอบงำความเป็นไป ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกกว้างด้วย
ประเด็นปัญหาก็คือ หน่วยราชการความมั่นคงต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม
(3 กองทัพและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร – กอ.รมน.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โดยเฉพาะสันติบาล) มีองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารจัดการของจีนมากน้อยเพียงใด? และตระหนักว่าภารกิจที่มีกับฝ่ายจีนต่างๆ นั้น คุกคามหรือเป็นภยันตรายต่ออธิปไตยและความมั่นคงของไทยหรือไม่? อย่างไร?
ถ้ามีข้อบกพร่องก็จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขให้เหมาะสมในแวดวงราชการต่างๆ ของไทย และให้มีการบริหารจัดการที่มีความเป็นบูรณาการเพื่อรับมือกับจีนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเฉลียวฉลาด
เพราะที่ผ่านมาดูเสมือนว่า หน่วยงานไทยต่างๆ กระโจนเข้าร่วมมือกับฝ่ายจีน โดยไม่รู้ไม่เข้าใจหรือตระหนักในเรื่องความยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และก็อาจจะมีการร่วมมือกับฝ่ายจีนต่างๆ โดยมิได้คำนึงว่าเป็นภยันตรายต่ออธิปไตยและความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย ซึ่งโดยทั่วไปสังคมไทยก็มักจะเห็นความพินอบพิเทาของฝ่ายรัฐบาลไทย ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำต่อฝ่ายจีนจนเกินเหตุ มีภาพว่าฝ่ายไทยนั้นมีความเกรงอกเกรงใจ มีความห่วงกังวลเรื่องความรู้สึกและปฏิกิริยาของฝ่ายจีนว่า เขาจะมีความพึงพอใจหรือไม่? อย่างไร? แทนที่จะเป็นภาพการร่วมมือกันอย่างทัดเทียม เที่ยงธรรม และรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองไว้
ก็ขอตั้งข้อสังเกตมายังหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้พิจารณา ทบทวน และประเมินตนเอง ในการที่จะเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพครับ
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี