เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองปลุกระดมมวลชนของกลุ่มคนที่เป็นพวก“ด้อมส้ม”พูดกันเกี่ยวกับ 44 อดีต สส.พรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน ที่เคยลงชื่อเสนอแก้ไข มาตรา 112 ซึ่ง ป.ป.ช.มีหนังสือเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์วันนี้นั้น กลายเป็นว่า การดำเนินการของ ป.ป.ช.“เป็นความชั่วร้ายที่ไม่อาจรับได้ในระบอบประชาธิปไตย” และยังได้เรียกร้องให้“คนรักประชาธิปไตย”ต้องช่วยกันต่อต้าน
44 อดีต สส.พรรคก้าวไกล ที่ ป.ป.ช.ได้ส่งเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาผิดจริยธรรมร้ายแรงและเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหานั้น แยกได้เป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกปัจจุบันยังเป็น สส.ในนามพรรคประชาชน 25 คน ซึ่งเป็น สส.ระบบเขต 8 คน และ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ 17 คน, กลุ่มที่สอง 11 คน เป็นอดีต สส. และกลุ่มที่สาม 8 คน เป็นอดีต สส.ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองคนละ 10 ปี
ที่เป็น สส.เขตจำนวน 8 คน คือ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม., นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม., นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม., นางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี, นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา, นายจรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี, นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด และนายวุฒินันท์ บุญชู สส.สมุทรปราการ
ส่วนอีก 17 คนที่เป็น สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน, นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน, นายนิติพล ผิวเหมาะ, นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน, นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์, นายณัฐวุฒิ บัวประทุม, นายวรภพ วิริยะโรจน์, นายคำพอง เทพาคำ, นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, นายองค์การ ชัยบุตร, นายมานพ คีรีภูวดล, นายวาโย อัศวรุ่งเรือง, นางสาววรรณวิภา ไม้สน, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร, นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, นายรังสิมันต์ โรม และนายสุรวาท ทองบุ
11 คนที่ไม่ได้เป็น สส. ก็มี นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา, นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์, นายทองแดง เบ็ญจะปัก, พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์, นายปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์, นายทวีศักดิ์ ทักษิณ และนายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล
และ 8 คนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี พร้อมกับการที่พรรคก้าวไกลถูกสั่งยุบพรรคในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 และเป็นสารตั้งต้นให้อดีต สส.พรรคก้าวไกล 44 คนถูก ป.ป.ช.เรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาว่ากระทำการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์วันนี้ นั่นก็คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นางสาวเบญจา แสงจันทร์, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, นายสุเทพ อู่อ้น, นายอภิชาติ ศิริสุนทร, นายปดิพัทธ์ สันติภาดา และนายสมชาย ฝั่งชลจิตร
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ได้กังวลใจ เพราะทีมกฎหมายเตรียมความพร้อมก่อนที่จะได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. และเชื่อว่าสิ่งที่ได้ยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม
ขณะที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรรคก้าวไกล เจ้าของฉายา“เตี้ยหลังม็อบ” และ“ตัวตึงแห่งก้าวไกล” โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากได้รับหนังสือของ ป.ป.ช.เรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยตั้งคำถามว่า “อำนาจหน้าที่เสนอกฎหมายใหม่ แก้ไขกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยยังเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่..มีบทบัญญัติหรือข้อห้ามใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าห้ามเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และในอดีตก็เคยมีการแก้ไขมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง”
คำถามของ“เจี๊ยบ-อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” ซึ่งเคยเป็นมวลชนคนเสื้อแดงและร่วมชุมนุมกับ นปช.ในปี 2552-2553 ที่มีการเผาบ้านเผาเมือง ก่อนจะลงมาเล่นการเมืองและเป็น สส.ระบบบัญชีสมัยแรกสังกัดพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ดังกล่าวนั้น, คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 หรือ“คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567” และมีผลผูกพันมาถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ที่มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกล-ระบุไว้ว่า
“แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯเป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมิได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นการกระทำหนึ่งซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่”
และอีก 2 ย่อหน้าที่ร้อยเรียงต่อเนื่องกัน-ดังนี้
“การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัด พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคก้าวไกล) รวม 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ พ.ศ... แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 จากเดิม..เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง และประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง”
“การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล) เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด”
สรุปไว้ ณ บรรทัดนี้เพื่อย้ำเตือนอีกครั้งว่า เมื่อประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้..พระเกียรติของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดได้
ดังนั้น ผู้ใดก็ตามที่มีเจตนา“เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย”พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมถือได้ว่า“เป็นความชั่วร้ายที่ไม่อาจรับได้ในระบอบประชาธิปไตย” สมควรที่“คนรักประชาธิปไตย”ต้องช่วยกันต่อต้าน
ส่วนชะตากรรม 44 อดีต สส.พรรคส้มจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะจบด่านสุดท้ายในชั้นศาลฎีกา-แต่ดูทรงแล้วไม่รอด !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี