การแก้ปัญหาพนัน กับการทำพนันให้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
1. การทำพนันให้ถูกกฎหมาย คือการอนุญาตให้คนเล่นการพนันได้ ไม่ถูกจับ โดยมีเงื่อนไขรายละเอียดบางอย่าง
คนเล่นการพนันจะเพิ่มขึ้น ผลกระทบก็ตามมา
แลกกับรายได้เข้ารัฐ หรือผลประโยชน์อื่น ฯลฯ
2. ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Center for Gambling Studies) ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการผลักดันมาตรการและกลไกในการควบคุมปัญหาการพนัน
นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “กลไกลดผลกระทบจากพนัน” โดย พันธรัตน์ ศรีสุวรรณ
ชี้ประเด็นสำคัญว่า การบังคับใช้กฎหมายพนันในบางเรื่องหรือบางประเด็นยังไม่ครอบคลุมไปถึง หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมาตรการในการลดผลกระทบจากพนัน พบว่า กลไกในการลดผลกระทบจากพนันในกฎหมายไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ในการลดผลกระทบจากพนันโดยตรง เมื่อเทียบกับกฎหมายพนันในต่างประเทศ
หากมีการเปิดให้มีการพนันอย่างเสรี ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิต ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนและอาจส่งผลทำให้เกิดนักพนันหน้าใหม่มากขึ้น
อีกทั้ง นักพนันที่เป็นปัญหา (Problem Gambling) หรือนักพนันที่เป็นโรคติดพนัน (Pathological Gambling) ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม
ผู้วิจัย เห็นว่า ควรให้รัฐมีองค์กรควบคุมและลดผลกระทบจากพนันโดยตรง ส่งเสริมให้มีมาตรการทางกฎหมายหรือแนวทางการควบคุมและลดผลกระทบผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการพนันอย่างชัดเจน มีระบบให้คำปรึกษาและรักษาผู้มีปัญหาจากพนันอย่างครบวงจร และมีกองทุนลดผลกระทบจากพนัน โดยผู้บริหารกองทุนมีอำนาจจัดการได้อย่างอิสระภายใต้กฎหมาย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดปัญหาการพนันที่เกิดขึ้นกับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ผลกระทบจากการพนัน
ปัจจุบัน รูปแบบและประเภทของการพนันมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้เล่นสามารถเข้าถึงการพนันเข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งในการเข้าเล่นในบ่อนพนันแบบมีที่ตั้ง หรือบ่อนพนันออนไลน์
ทำให้การพนันส่งผลกระทบต่อผู้เล่นการพนัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
ผู้วิจัย ชี้ว่า มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่า การพนันส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและการพัฒนาการของเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะด้านสมอง องค์การอนามัยโลก กำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง เรียกว่า โรคติดพนัน (Pathological Gambling) ผู้เล่นจะมีความทุกข์จากการเล่นการพนัน ซึ่งหยุดเล่นไม่ได้
และต้องเล่นต่อไป
3.1 ผลกระทบในด้านลบ (Negative Impacts) จากการเล่นพนัน พิจารณาในส่วนของผู้เล่นเป็นหลัก มีดังนี้
ผลกระทบด้านร่างกายหรือสมอง - การเล่นพนันจนติดมีผลทำให้สมองเปลี่ยนแปลงไปความสามารถในการตัดสินใจลดลง มีการใช้เงินเปลือง ใช้เงินแบบไม่ยั้งคิด มีโอกาสเป็นโรคทางจิตเวช และโรคติดสารเสพติดเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เนื่องจากวัยรุ่นในช่วงต้นเป็นวัยที่ยังขาดความยับยั้งชั่งใจ อันเกี่ยวกับสมองส่วนหน้าซึ่งกระบวนการคิดที่ใช้เหตุผล (Prefrontal Cortex) จะพัฒนาสมบูรณ์ในช่วงอายุ 20 ปีขึ้น การพนันจึงไม่ใช่เกมสนุกแต่เป็นเกมส์ที่สามารถทำลายสมองของเด็ก หากเด็กหรือวัยรุ่นหมกมุ่นหรือติดการพนันส่งผลทำให้สมองส่วนหน้าจะไม่พัฒนาอย่างถาวร ส่งผลต่อระบบคิดและพฤติกรรมที่ติดต่อไปตลอดชีวิต
ดังนั้น เด็กและเยาวชนจึงเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดพนันได้ง่ายและถอนตัวได้ยาก
อีกทั้ง การพนันส่งผลทำให้เด็กหวังเงินที่ได้มาง่ายและรวดเร็ว กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่อดทนรอความสำเร็จ
3.2 ผลกระทบทางด้านจิตใจ
ผู้วิจัยชี้ว่า การพนันส่งผลกระทบในทางจิตใจของผู้เล่นพนัน โดยผู้เล่นจะแสดงอารมณ์หงุดหงิด หรือก้าวร้าว ไม่สบายใจต่อคนใกล้ชิด มีความรู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง เพราะพฤติกรรมของตนที่น่ารังเกียจ และเป็นที่เดือดร้อนจนไม่มีใครต้องการ และคิดฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ผลกระทบต่อจิตใจที่มักพบในผู้เล่นพนัน ดังนี้
โรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย รวมไปถึงการเป็นโรคกลัวโรควิตกกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางกาย โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดการต่อต้านสังคมมากกว่าผู้ไม่ติดพนัน
ผู้พนันมักก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว เนื่องจากภาวะทางการเงินหรือภาวะอารมณ์ไม่ดีเมื่อเวลาเสียพนัน
ความสัมพันธ์กับบุคคลที่เป็นเครือญาติไม่อยากคบสมาคมด้วย เพราะกังวลในเรื่องของการหยิบยืมเงิน และหากผู้ติดพนันเสพยาเสพติดร่วมด้วยจะเกิดอาการหงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว หรือทำทารุณกรรมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ตบ ตี เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินภายในบ้านไปใช้เล่นพนัน
ผู้ติดพนันจะไม่มีแรงจูงใจในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการเล่นการพนัน ความรู้สึกรักในตัวเองเริ่มลดลง และอาจจะเป็นที่ไม่น่าไว้วางใจจากคนรอบข้าง อาจถูกต่อว่า ตำหนิ และการไม่ได้รับกำลังที่จะพัฒนาตนเอง
การกระทำของผู้เล่นพนันทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน โดยเฉพาะคนใกล้ชิด ทำให้มีความขัดแย้ง ทารุณกรรม การแยกทาง หย่าร้าง ทำให้ผู้ใกล้ชิดหรือบุคคลในครอบครัวเกิดความทุกข์และนำมาเป็นสาเหตุของปัญหาในเรื่องต่างๆ ตามมา
3.3 ผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ผู้วิจัยระบุว่า คนติดพนันมักประสบปัญหาการเงิน ล้มละลาย เกิดความเสียหายในด้านหน้าที่การงานหรือการเรียน อาจกระทำผิดกฎหมาย เช่น การทำร้ายผู้อื่น การลักขโมยจี้ ปล้น เพื่อให้ได้เงินมาใช้เล่นพนัน อันเป็นปัญหาที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาด้านหน้าที่การงาน การเรียน หรืออาชีพ ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการไล่ออกจากงาน และว่างงานบ่อยขึ้น จนต้องไปกระทำความผิดในทางกฎหมายและเป็นปัญหาหนี้สิน ในภาพรวมของประเทศ หากพลเมืองไม่มีคุณภาพ อ่อนแอเรื่องสุขภาพ หรือขาดความสามารถในการทำงาน หรือมีคนว่างงานมากขึ้น ย่อมส่งผลให้รายได้มวลรวมของประเทศน้อยลง สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของคนวัยทำงาน
4. กลไกลดผลกระทบจากพนัน
ผู้วิจัยนำเสนอว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดโดยเฉพาะ
แตกต่างกับในหลายประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญและมีแนวทางในการลดผลกระทบจากปัญหาการพนันที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์ เป็นประเทศที่อนุญาตให้มีการเล่นพนันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อนุญาตให้มีธุรกิจกาสิโน โดยตระหนักดีว่าการพนันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม แม้การพนันในสิงคโปร์จะเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่สิงคโปร์ก็มีนโยบายที่เข้มงวดเรื่องการเข้าใช้บริการกาสิโนของชาวสิงคโปร์ โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการพนันและลดผลกระทบที่เกิดจากพนัน เช่น
CRA (Casino Regulatory Authority of Singapore) อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย, NCPG (National Council on Problem Gambling) อยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว (Ministry of Socail and Family Deverlopment) เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผลกระทบที่เกิดจากการพนันของประชาชน และต่อสู้กับปัญหาการพนันในสิงคโปร์
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงาน Public Education and Outreach, Gambling Safeguards Division ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการของ NCPG
NAMS (National Addictions Management Service) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่รณรงค์และสร้างกระบวนการเรียนรู้ปัญหาจากการพนันและสิ่งเสพติดต่างๆ และดูแลเรื่องการบำบัดผู้ติดพนัน
TOTE BOARD ภายใต้การควบคุมดูแลของกฎระเบียบของ Singapore Turf Club และ Singapore Pools คือกิจการพนันประเภทแข่งม้า ลอตเตอรี่ การทาย
ผลกีฬาหรือเกมต่างๆ โดยองค์กรแต่ละองค์กรมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน
NCPG เป็นหน่วยงานบริหารกองทุนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเล่นพนันของคนสิงคโปร์
รายได้ของกองทุนมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการกาสิโนของสิงคโปร์โดยให้หน่วยงาน CRA (Casino Regulatory Authority of Singapore) ออกใบอนุญาตกำกับการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย จัดเก็บค่าธรรมเนียมจากกาสิโน และจัดสรรเงินรายได้ร้อยละ 17 เข้ากองทุน
ภารกิจและอำนาจหน้าที่คณะกรรมการบริหารของ NCPG สามารถยกเว้นและจำกัดการเข้าถึงกาสิโน โดยมีอำนาจในการกีดกันการเข้าสถานกาสิโน และเพิกถอนคำสั่งกีดกันนั้นทั้งการกีดกันโดยผู้เล่นพนัน การร้องขอของครอบครัว ผู้ล้มละลายที่ยังไม่ปลดจากการล้มละลาย และผู้ที่อยู่ในโครงการช่วยเหลือทางสังคมของรัฐบาลซึ่งจะถูกแบนโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ ยังมีกลไกในการบำบัดผู้ติดพนัน โดยจัดให้มีหน่วยบริการให้คำปรึกษาและรักษาผู้มีปัญหาจากการพนันครบวงจร เช่น One Hope Center (ศูนย์ให้คำปรึกษาแบบมืออาชีพแก่บุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากพนัน), We Care (ศูนย์บริการการรักษาและช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการเสพติดสำหรับปัญหาการพนัน) ฯลฯ
5. ผู้วิจัยสรุปว่า หลายประเทศมีวิธีการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดจากพนัน ไม่ว่าจะเป็นจะจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ในการควบคุมและลดผลกระทบโดยตรง หรือการมอบหมายให้องค์กรเอกชนทำหน้าที่ลดผลกระทบแทน
ประเทศสิงคโปร์มีองค์กรควบคุมและลดผลกระทบจากพนันโดยตรง
ข้อดีของประเทศสิงคโปร์ คือ คณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการลดผลกระทบจากพนัน มีที่มาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความหลากหลายและเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพนันโดยตรงเช่น ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและจิตเวช ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านกฎหมาย ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ด้านสังคม ด้านการศึกษา ทำให้มีความสามารถที่จะรับมือกับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากพนันโดยตรง
ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากออสเตรเลียมีนโยบายในการควบคุมหรือกำกับธุรกิจการพนันโดยอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลมลรัฐ ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐบาลกลางมลรัฐสามารถกำหนดนโยบาย กฎหมาย และมาตรการควบคุมการพนันได้ในมลรัฐของตนอย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียมีองค์กร The Australasian Gaming Council (AGC) ที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการพนันทั่วออสเตรเลีย มุ่งสร้างความสมดุลในการส่งเสริมการพนันอย่างรับผิดชอบ
ผู้วิจัยมองว่า จากการพิจารณาการลดผลกระทบปัญหาในหลายประเทศเทียบกับประเทศไทยแล้ว
พบว่า ประเทศไทยมีการอนุญาตให้เล่นการพนันได้ในบางประเภท แต่ยังขาดองค์กรที่ทำหน้าที่เข้ามาลดผลกระทบจากพนันอย่างจริงจังเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีองค์กรลดผลกระทบจากพนันที่เข้ามาทำหน้าที่อย่างชัดเจน จึงเป็นข้อเสียของประเทศไทยที่ไม่สามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากมีการเปิดให้มีการพนันอย่างเสรี ย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน และอาจส่งผลทำให้เกิดนักพนันหน้าใหม่มากขึ้น อีกทั้งนักพนันที่เป็นปัญหา (Problem Gambling) หรือนักพนันที่เป็นโรคติดพนัน (Pathological Gambling) ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม อันจะส่งผลกระทบในอนาคต
ข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการลดผลกระทบจากการพนัน ควรมีองค์กรควบคุมและลดผลกระทบจากพนันโดยตรง เช่นเดียวกับองค์กร NCPG ของประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีเจ้าภาพหลักที่ชัดเจนในการทำหน้าที่ในการลดผลกระทบที่เกิดจากพนัน
สรุป พิจารณามาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคิดว่า สังคมไทยพร้อมหรือยังที่จะให้กาสิโนถูกกฎหมาย
หรือเราควรเริ่มจากการสร้างกลไกลดผลกระทบจากการพนันที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพเสียก่อน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี