สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวผลการขับเคลื่อนงานด้านสนับสนุนระบบบริการสุขภาพผ่านกลไกเครือข่าย ยุว อสม. และเครือข่ายอาสาสร้างสุขภาพ (Gen H) นำร่อง 4 จังหวัดต้นแบบ ได้แก่ จ.เชียงราย จ.อุบลราชธานี จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร ร่วมแก้ปัญหาสุขภาพในกลุ่มเด็ก และเยาวชน เมื่อวันที่20 ก.พ. 2568 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ กรุงเทพฯ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชน ถูกคุกคามด้วยปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ทั่วประเทศ 61,688 คน พบว่า25% สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของเด็กและเยาวชนทั้งหมด
ข้อมูลด้านรายจ่ายครัวเรือนไทยจากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2566 ซึ่งสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยมีค่าใช้จ่าย
ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปโภค-บริโภคถึง 87% รายจ่ายสูงสุด คือ อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ คิดเป็น 35.5% และใช้เงิน 21.5% ของรายได้ไปกับบุหรี่ ทำให้เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายที่จำเป็นน้อยลง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติอื่นๆ
ข้อมูลจากศูนย์อุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรม ความปลอดภัยทางถนน (Thai RSC) พบว่าไทยมีผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุทางถนน ปี 2567 จำนวน 118,660 คน เป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี 37.68% โดยพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ 78.08% สำหรับแนวโน้มการพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเด็กนักเรียน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคปี 2566 พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) รายใหม่ 9,100 คน กว่า 50% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี 4,287 คน สาเหตุเกิดจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
“จากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ได้แก่ ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคต่อมน้ำเหลือง ในช่วงปี 2561-2566 พบกลุ่มอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส ที่พบอัตราป่วย 27.9 คน/ประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 91.2 คน/ประชากรแสนคน ในปี 2566” นพ.พงศ์เทพ ระบุ
นพ.พงศ์เทพกล่าวต่อว่า สสส. ขับเคลื่อนลดปัญหาภัยสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า จึงร่วมกับ ยท. หนุนเสริมโครงการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) และเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพ เพื่อจัดการปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยมีเป้าหมายหนุนเสริมการทำงานร่วมกับกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
ผลักดันระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจัดตั้งเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข (ยุว อสม.) หรือเครือข่ายอาสาสร้างสุขภาพ (Gen H) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกันระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนายุวอาสาสมัครสาธารณสุข ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าสามารถเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาเห็นชอบและบังคับใช้ได้ภายในช่วงสิ้นปี 2568
นพ.ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันมี อสม. รวมกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ทำหน้าที่สำคัญคือให้คำปรึกษาปัญหาการรักษาพยาบาล เป็นผู้นำด้านการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตและเปลี่ยนแปลง (Change Agents) พฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในการร่วมมือระหว่าง อสม. กับแพทย์ สถานพยาบาล และชุมชน จึงมีแนวคิดที่ดีให้คนรุ่นใหม่มีบทบาทเป็นอาสาสร้างสุขภาพ และเป็นยุว อสม. เพื่อทำหน้าที่ตามหลักคิด 3H
ซึ่งประกอบด้วย 1.เป็นผู้สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ (Health Communicator) 2.เป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาด้านสุขภาพอย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจ (Health Creator) 3.เป็นผู้นำทางความคิดเพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง (Health Influencer) โดยปี 2566 ที่ผ่านมามีนักเรียน นักศึกษา มาร่วมเป็นอาสาสมัครแล้วกว่า 20,010 คน
และตั้งเป้าภายใน 3 ปีงบประมาณจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 76,000 คน
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ปี 2567 ที่ผ่านมาสสส. ยท. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผลักดันให้4 จังหวัดต้นแบบ จัดตั้งเครือข่ายยุว อสม. และอาสาสร้างสุขภาพในสถานศึกษาหรือชุมชน เกิดแกนนำอาสาสร้างสุขภาพ 400 คน โดยมีผลงานขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม
ได้แก่ จ.เชียงราย พัฒนาศักยภาพเด็กนักเรียนให้รู้จักช่องทางรับบริการสุขภาวะทางเพศในพื้นที่ของตนเอง
การรับบริการถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) รวมถึงพัฒนาความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้กับแกนนำนักเรียนทุกอำเภอ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ดำเนินการพัฒนาศักยภาพแกนนำนักเรียนรวม 25 โรงเรียน ร่วมเฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา เพื่อนำส่งข้อมูลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย
รวมถึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินสุขภาพเบื้องต้น เรียนรู้เรื่องค่าดัชนีมวลกาย (BMI) และช่องทางการรับบริการสุขภาพ เช่น คลินิกเลิกบุหรี่ คลินิกให้คำปรึกษาสุขภาพจิต กรุงเทพมหานคร ในเขตดินแดง ซึ่งพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าสูงที่สุด ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) 40 หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชน ร่วมเฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี