“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” เป็นตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญมาก เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่ใหญ่เหนือ“วุฒิสภา” ด้วย เพราะควบเก้าอี้ “ประธานรัฐสภา” ในเวลาที่มีการประชุมร่วมระหว่าง “สภาผู้แทนราษฎร”กับ “วุฒิสภา”
คน-ผู้จะมาดำรงตำแหน่งนี้ จึงต้องมีทั้งสติปัญญา ความกล้าหาญ ความเป็นอิสระ และความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์
“นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” คือประธานท่านปัจจุบัน
ท่านมานั่งเก้าอี้นี้ได้ ในสถานการณ์ความไม่ลงตัวระหว่าง “พรรคก้าวไกล” กับ “พรรคเพื่อไทย” ที่กำลังหาทางจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน อันหมายถึงในสถานการณ์ปัจจุบัน ท่านไม่ยึดโยงกับเสียงข้างมากในรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ท่านอาจต้องโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อความอยู่รอด จนเกิดการบรรจุวาระเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ “ควรรู้อยู่แล้ว” ว่า จะเกิดอะไรตามมา นั่นคือ สภาล่ม เพราะการจะแก้รัฐธรรมนูญด้วยเล่ห์เพทุบายในรูปใดก็ตาม ที่ส่งผลให้ “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ที่มาจากการสถาปนาของประชาชนผ่านการลงประชามติ ถูกยกเลิก เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. จะต้อง “ทำประชามติ” เสียก่อน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว ท่านยังบรรจุเป็นวาระพิจารณาของ “รัฐสภา” จนเกิดความวุ่นวายและสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปไม่น้อย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุม 2 วัน ที่ไม่ได้อะไรเลย
ยังไม่นับกรณี คลิปที่ท่านพบกับประธาน ป.ป.ช. ที่อาจมีความผิดทางจริยธรรม
และล่าสุด กรณีบรรจุวาระพิจารณาเรื่อง สส.ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ที่ถูกหมายจับ คดีข่มขืนนักท่องเที่ยวไต้หวัน
1) วันที่ 20 ก.พ.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพานรองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยลุกขึ้นหารือว่า ประธานยังไม่ได้แจ้งวาระด่วนต่อที่ประชุมในเรื่องสำคัญเนื่องจากประชาชนให้ความสนใจอย่างยิ่งเพราะข่าวสื่อสารออกไปแล้วว่า วันนี้ (20 ก.พ.)ที่ประชุมสภาฯจะมีการพูดเรื่องการขออนุญาตสภาฯเพื่อนำตัว สส.ที่ถูกตำรวจแจ้งขอนำตัวไปดำเนินคดี ซึ่งได้บรรจุเป็นวาระด่วน เรื่องนี้สภาฯจะเอาอย่างไร เพื่อสังคมจะได้รับทราบว่าเมื่อ สส.ถูกกล่าวหาในคดีอาญา โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่รุนแรง กระทบต่อภาพลักษณ์ของสมาชิกสภาฯ และการท่องเที่ยว สภาฯ อันทรงเกียรตินี้จะปกป้องหรือจะส่งตัว ซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้ทำหนังสือแจ้งมาว่าได้มีการไปมอบตัวแล้ว อย่างนี้เราจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน
“นอกจากนี้ผมได้ทราบว่า สส.สตรีก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการสอบจริยธรรม เพื่อให้สส.คนดังกล่าวลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาฯ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง นานๆ จะเกิดสักครั้งไม่ควรที่จะปล่อยเรื่องนี้ไปโดยไม่ได้พูดจา แม้จะอยู่ในระเบียบวาระหากปล่อยให้มีการพิจารณาในสัปดาห์ต่อไปเรื่องก็จะเย็น สังคมก็จะตั้งข้อกล่าวหากับสภาฯของเรา จึงเห็นว่าสมควรที่จะหารือเรื่องนี้ก่อนหรือไม่” นายอดิศร กล่าว
นายพิเชษฐ์ชี้แจงว่า เรื่องนี้ไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระแล้ว
นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า เนื่องจากระเบียบวาระมีการออกเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจาก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งเอกสารมายังสภาว่า ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตส่งตัวสส.แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงได้นำออกจากระเบียบวาระที่จะพิจารณา แต่สำหรับสมาชิกในหนังสือเชิญยังมีระเบียบวาระดังกล่าวอยู่ จึงขอชี้แจงต่อที่ประชุมว่าระเบียบวาระดังกล่าวไม่ได้มีการพิจารณาแล้ว เนื่องจากทางตำรวจไม่ได้มีการขอส่งตัว
ด้านนายพิเชษฐ์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า ไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.เชียงใหม่แล้ว ทาง
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งมาว่าเราไม่ต้องพิจารณาเรื่องขอตัวอีก
ทำให้นายอดิศร อภิปรายอีกว่า ในหนังสือของสภ.เชียงใหม่ ลงวันที่ 18 ก.พ. 2568 ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นสส.ได้ไปมอบตัวแล้ว ตนคิดว่ากระบวนการยุติธรรมเดินต่อไป แต่อำนาจในการพิจารณาการจับกุมคุมขัง ซึ่งเป็นหลักการของสภาฯ ก็ต้องยืนยัน และเรื่องนี้จะส่งผลต่อคณะกรรมการสอบจริยธรรมที่หลายฝ่ายต้องการให้สส.ท่านนี้ได้แสดงสปิริตถึงขั้นลาออกจากสส.
“ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และสังคมให้ความสนใจว่า พวกเราจะอุ้มในสิ่งดังกล่าวหรือจะส่งตัวในอนาคต เพราะพนักงานสอบสวน ขั้นตำรวจ อัยการและศาล จะต้องมาขอตัวเช่นนี้อีกต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมาย และสังคมยังจับตามองว่า เป็นสส.มีอภิสิทธิ์มากกว่าประชาชนคนธรรมดาหรือไม่ จึงอยากให้หารือเรื่องนี้และฟังคำตอบที่ชัดเจนว่า ท่านจะเอาเรื่องด่วนนี้ออกจากวาระการประชุมในวันนี้หรือไม่ หรือสัปดาห์ต่อไป ตราบใดที่ยังปรากฏในระเบียบวาระนี้ สมาชิกฯควรมีสิทธิ์พูดได้เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของสมาชิกฯไม่ให้ด่างพร้อยไม่ว่าในทางใดต่อไป” นายอดิศรกล่าวยืนยัน
2) ผม (ผู้เขียน) ขอบอกเลยว่า ถ้าเรามีประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ “เอาไหน” เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะท่านจะ “ใส่ใจ” และให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “ฝ่ายกฎหมาย” ของ “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” ศึกษาทันที ที่มีข่าวว่า สส.ไชยามพวาน ไปพบตำรวจที่ สภ.เมืองเชียงใหม่
3) ก่อนอื่น มาตั้งหลักกันก่อนว่า การที่ สส.คนหนึ่งถูกศาลออกหมายจับข้อหา “ข่มขืนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ” ท่านประธานสภาฯ ท่านตระหนักถึง “ความร้ายแรง” ของมันหรือไม่ ประเทศเรามีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวมาเที่ยวแล้วถูกข่มขืน ไปแจ้งความกับตำรวจ ตำรวจพบว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็น สส. ขณะนี้อยู่ระหว่างสมัยประชุม รัฐธรรมนูญให้ “ความคุ้มกัน” เอาไว้ ว่า ต่อให้มีหมายศาลก็ทำการ “จับกุมคุมขัง” สส. มิได้ ต้องให้สภาอนุญาต ดังนั้น ต่อให้ สส. คนนั้นไปมอบตัวแล้วด้วยตัวเอง ตำรวจแจ้งกลับมาแล้วว่าได้ตัวแล้ว สอบปากคำแล้ว ก็ต้องกลับมาที่ “บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ” ว่า สิ่งที่ สส. คนดังกล่าว กับตำรวจทำกันไปนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือ “ขัดรัฐธรรมนูญ” ประธานสภาฯ ต้องหัดเอะใจ สนใจ และดำเนินการ สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายหาคำตอบทันที เพื่อจะได้ดำเนินการประชุมในวันที่ 20 ก.พ.ได้อย่างถูกต้องและไม่ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”
4) เรื่องนี้เป็นเรื่อง “ความคุ้มกัน” ไม่ใช่เรื่อง “เอกสิทธิ์” เป็นความคุ้มกัน (immunity) ที่รัฐธรรมนูญกําหนดให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เพื่อไม่ให้สมาชิกถูกขัดขวางต่อการไปประชุมสภา ความคุ้มกันไม่ได้เป็นเหตุให้การกระทําของสมาชิกไม่เป็นความผิด หากแต่เป็นการคุ้มครองจากการจับ คุมขัง สอบสวน ตลอดจนการพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมเท่านั้น
5) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความคุ้มกันของสมาชิก รัฐสภาไว้ ดังนี้ “มาตรา 125 ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทําการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับ อนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทําความผิด”
6) เอกสารชื่อ “เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” โดยสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อธิบายเอาไว้ว่า
“...ความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ (วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์อุวรรณโณ, 2520, น. 110, อ้างถึงใน ภูวเดช วงศ์เคี่ยม,2555, น. 574) 1.ความคุ้มกันที่รัฐธรรมนูญให้แก่สมาชิกรัฐสภานั้น เป็นความคุ้มกันขณะปฏิบัติหน้าที่ คือ ระหว่างสมัยประชุมสภา 2.ในระหว่างสมัยประชุม จะจับกุมคุมขัง หรือดําเนินคดีอาญาใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ หน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาผู้นั้นมิได้ 3.ความคุ้มกันนี้ รัฐสภาเท่านั้นที่เป็นผู้อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดําเนินคดี หรือจะถอนคําอนุญาตที่ให้แล้วก็ได้ โดยสมาชิกรัฐสภาไม่มีสิทธิที่จะสละความคุ้มกันนี้ได้ตามลําพัง...”
และระบุด้วยว่า “...อย่างไรก็ดี การให้ความคุ้มกันสมาชิกรัฐสภาจากการจับ คุมขัง หรือหมายเรียกไปสอบสวนคดีอาญานี้ ไม่เด็ดขาดเสมอไป สมาชิกรัฐสภาอาจถูกดําเนินคดีอาญาในสมัยประชุมได้ ถ้าหากอยู่ในข่ายต่อไปนี้ 1.ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หากสภาที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดอาญาเป็นสมาชิกอยู่ ให้ความยินยอมแล้ว ก็สามารถดําเนินการ ทางอาญาต่อสมาชิกนั้นได้ แม้จะอยู่ในระหว่างสมัยประชุมก็ตาม เพราะถือว่าสภาได้ลงมติยินยอมให้กระทําการใดๆ แก่สมาชิกได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักธรรมเนียมปฏิบัติของสภาไทย สมาชิกรัฐสภาส่วนมาก หรือทั้งหมด มักลงมติไม่ยินยอมให้มีการสอบสวนในระหว่างสมัยประชุม เว้นแต่ปรากฏว่าสมาชิกผู้นั้น ขอสละความคุ้มกัน ในการจับกุม คุมขังหรือเรียกตัวสอบสวน ซึ่งการสละสิทธิ์ดังกล่าวเป็นเพียงเหตุผลประกอบการลงมติของสภาเท่านั้น ไม่ผูกพันการตัดสินใจของสภา...”
และบอกอีกว่า
“...การสละและเพิกถอนความคุ้มกัน : ความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภา เกิดขึ้นโดยการกําหนดขององค์กรอื่น สมาชิกรัฐสภาไม่ได้เป็นเจ้าของมิได้เป็นสิทธิเด็ดขาดดังเช่นเอกสิทธิ์ กล่าวคือ ในทางปฏิบัติหากปรากฏว่าในสมัยประชุมมีการจับกุม คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกรัฐสภาไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา หรือการดําเนินการพิจารณาคดีต่อศาลกรณีดังกล่าวจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อสภาได้อนุญาต จะต้องให้ที่ประชุมสภาเป็นองค์กรตัดสินใจในปัญหานั้นหรือในกรณีที่เป็นการจับกุมขณะกระทําความผิด ประธานรัฐสภาก็เป็นผู้มีอํานาจสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับได้
จะเห็นได้ว่าผู้เป็นสมาชิกรัฐสภาที่กระทําผิดอาญาไม่มีอํานาจในการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ต้องให้สภาหรือ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจให้ ดังนั้น การสละความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาจึงมิอาจทําได้รวมไปถึงการเพิกถอน ความคุ้มกันก็เป็นอํานาจของรัฐสภาว่าจะมีมติอย่างไร ซึ่งสมาชิกรัฐสภาไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้”
สรุป : ผมจึงคิดว่า สส.ไชยามพวาน ทำผิดขั้นตอน, ตำรวจทำผิดรัฐธรรมนูญ และประธานสภาไม่เอาไหน ตำรวจผิด 157 การสอบปากคำไชยามพวานเป็นโมฆะ
ประธานสภาต้องเร่งทำ “หลักการ” ให้กระจ่าง เพราะเรื่องนี้ชัดเจนว่า สส.ไชยามพวาน ไม่มีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง เป็นสิทธิขาดของ “สภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้น ซึ่งสภาควรประชุมกัน อภิปราย และมีมติ พร้อมทั้งบันทึกการพิจารณาของที่ประชุมนั้นไว้ทุกๆ ถ้อยคำเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง
ไม่ใช่ตกหลุมพรางของ สส.คนหนึ่ง ที่รีบไปพบตำรวจ แล้วสภาก็ไม่พิจารณาการส่งตัวหรือไม่ส่งตัว สส. ให้ตำรวจควบคุมตัวไปดำเนินคดีตามหมายจับของศาลแบบนี้
ทำหน้าที่และยืนยัน “ความเอาไหน” เสียทีเถิดท่านประธาน!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี