เป็นเวลา 3 วันต่อเนื่อง (20-22 ก.พ. 2568) ที่ทางการจีนได้ดำเนินการรับตัวคนจีนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ค้ามนุษย์ หลังควบคุมตัวได้จากเมืองชเวโก๊กโก่ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา
โดยมีรถบัสรับชาวจีน จากจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียน หมู่ที่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เดินทางไปส่งที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด
ชาวจีนเหล่านี้ ต้องเข้ากระบวนการตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไทย
จากนั้น เจ้าหน้าที่จีนคุมตัวแต่ละคนขึ้นเครื่องบิน China Southerm Airlines เครื่องบินพาณิชย์เช่าเหมาลำ บินตรงมาจากประเทศจีน เดินทางกลับไปที่ประเทศจีน
รวมยอดทั้ง 3 วัน (20-22 ก.พ.) มีการส่งกลับบุคคลสัญชาติจีน จำนวนทั้งสิ้น 621 คน
1.สื่อจีน โดยสำนักข่าวซินหัว China Xinhua News รายงานหลังการส่งตัววันแรก (20 ก.พ.) ระบุว่า
“กัวเจียคุน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า จะมีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยในคดีฉ้อโกงกลับจีนอีกหลายชุด
หลังจากที่กลุ่มผู้ต้องสงสัยชาวจีนชุดแรก จำนวน200 คน ได้ถูกส่งตัวกลับจีนแล้วเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.) ที่ผ่านมา
กัวกล่าวถ้อยคำข้างต้นระหว่างการแถลงข่าว หลังถูกขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายระหว่างจีน เมียนมา และไทย
รายงานระบุว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัย 200 รายถูกส่งตัวมายังอำเภอแม่สอดของไทย ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมืองเมียวดีของเมียนมา ในวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.) ก่อนโดยสารเที่ยวบินเช่าเหมาลำหลายเที่ยวกลับไปยังจีนภายใต้การคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจจีน
กัวระบุว่าจีน ไทย และเมียนมาได้ออกปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้เมื่อไม่นานนี้ เพื่อปราบการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงตามแนวชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ซึ่งนำสู่การทลายแหล่งฉ้อโกงหลายแห่งและจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก
กัวกล่าวว่าเราชื่นชมมาตรการที่เข้มแข็งของไทยและเมียนมาในการปราบแก๊งฉ้อโกง รวมถึงปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองจากจีนและประเทศอื่นๆ พร้อมชี้ว่าการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมไม่ได้ทำประโยชน์ให้ฝ่ายใด และนำสู่บทลงโทษตามกฎหมายในท้ายที่สุด
จีนมุ่งมั่นทำงานร่วมกับนานาประเทศเพื่อปราบปรามการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงข้ามพรมแดน พร้อมปกป้องชีวิต สิทธิตามกฎหมาย และผลประโยชน์ของพลเมืองจีนดังจะเห็นได้จากการเข้าช่วยเหลือพลเมืองจีนจากศูนย์ฉ้อโกง ไปจนถึงปฏิบัติการร่วมที่รวดเร็วและเฉียบขาดกับไทยและเมียนมา
กัวเสริมว่ากระทรวงการต่างประเทศจีนและคณะผู้แทนทางการทูตในต่างประเทศจะเดินหน้าให้ความคุ้มครองและความช่วยเหลือด้านกงสุลต่อไป และจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พลเมืองจีนปลอดภัย”
สำนักข่าวซินหัวยังได้เผยแพร่ภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนนำตัวชาวจีนผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงจากเมียนมา กลับไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติหนานจิงลู่โข่ว ในนครหนานจิง มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2025
2.จีนยืนยันดำเนินคดีเด็ดขาด เอาจริง
ขณะเดียวกัน สื่อจีน โดยสำนักข่าวซินหัว ก็รายงานข่าวความคืบหน้า การดำเนินคดีกับสมาชิกแก๊ง “ฉ้อโกงโทรคมนาคม” ในเมียนมาตอนเหนือ (จับกุมมาได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว) ที่กำลังขึ้นศาลในจีน
ระบุว่า
“ศาลท้องถิ่นเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ได้ดำเนินการพิจารณาคดีความกับจำเลยทั้งหมด 23 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของกลุ่มฉ้อโกงทางโทรคมนาคมขนาดใหญ่หลายกลุ่มในภาคเหนือของเมียนมา ระหว่างวันที่ 14-19 ก.พ. 2568 โดยมีการพิจารณาหลายข้อหา รวมถึงอาชญากรรมที่ทำให้พลเมืองจีนเสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ 6 ราย
จำเลยส่วนหนึ่ง ได้แก่ เมียง มยิ่น ชอน พยิ่น และมะ ทิริ เมียง หัวหน้าแก๊งอาชญากรรมที่นำโดยครอบครัวของพวกเขา รวมถึงสมาชิกหลักของแก๊งและสมาชิกแก๊งอื่นๆ ที่เป็น “ผู้สนับสนุน” การก่ออาชญากรรม โดยพวกเขาถูกตั้งข้อหาทางอาญา 11 กระทง เช่น ฉ้อโกง เจตนาฆ่า เจตนาทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดกฎหมาย เปิดกาสิโน ค้ายาเสพติดและประเวณี
คณะอัยการกล่าวว่าจำเลยเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของครอบครัวในพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมา จัดตั้งแหล่งซ่องสุมแก๊งอาชญากรรมหลายแก๊ง ให้การคุ้มกันด้วยอาวุธแก่ปฏิบัติการของ “ผู้สนับสนุน” และสมรู้ร่วมคิดในการก่ออาชญากรรมต่างๆ เช่น แผนการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมที่มีเป้าหมายเป็นประชาชนในจีน
คำฟ้องร้องระบุว่าอาชญากรรมการพนันและการฉ้อโกงเกี่ยวพันกับเงินทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 5 หมื่นล้านบาท)และส่งผลให้พลเมืองจีนเสียชีวิต 14 ราย และบาดเจ็บ6 ราย
เหตุการณ์ที่เป็นกรณีสำคัญเกิดขึ้นวันที่ 20 ต.ค. 2023 แก๊งอาชญากรรมร่วมมือกับ “ผู้สนับสนุน” จัดการคุ้มกันด้วยอาวุธระหว่างโยกย้ายคนที่ทำงานให้แก๊งของพวกเขาเพื่อหลีกหนีการปราบปราม โดยบางคนพยายามหลบหนีแต่ถูกทีมคุ้มกันยิงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย
คณะอัยการได้แสดงหลักฐานให้จำเลยแต่ละรายและทนายความของพวกเขาตรวจสอบระหว่างการพิจารณาคดีความ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้อธิบายโต้แย้งตามลำดับและจำเลยให้การครั้งสุดท้าย ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ปรึกษาทางการเมือง นักข่าว สมาชิกครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชนรวมมากกว่า 100 คน
อนึ่ง ศาลจะประกาศผลการพิจารณาคดีความครั้งนี้..
...การพิจารณาคดีความครั้งนี้ มีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากรรมอีกหลายพันราย เนื่องจากพวกเขามีความเชื่อมโยงกับคดีฉ้อโกงทางโทรคมนาคมมากกว่า 10,000 คดี โดยการจัดการคดีความเหล่านี้สะท้อนความมุ่งมั่นของจีนในการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายของชาติและพลเมือง
แหล่งข่าวอัยการระบุว่า อาชญากรรมบางส่วนเกิดขึ้นภายในพรมแดนจีน มุ่งเป้าที่พลเมืองจีนเป็นพิเศษ และสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ร่วมของประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้จีนมีอำนาจการพิจารณาคดีความภายใต้กฎหมายอาญาและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ..”
โดยสำนักข่าวซินหัวยังได้นำเสนอภาพบรรยากาศการพิจารณาคดีความ จากศาลประชาชนชั้นกลางเมืองเวินโจวของมณฑลเจ้อเจียงด้วย
3.ส่วนใหญ่เจตนาทำงานเป็นโจรคอลเซ็นเตอร์
ก่อนหน้านี้ ไทยรับตัวผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาแล้ว 260 คน และยังมีอีกประมาณ 7,000 คนที่กำลังรออยู่
ล่าสุด มีรายงานว่า การคัดแยกผู้ถูกส่งตัวกลับจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์กว่า 260 รายนั้น พบความจริงที่น่าตกใจ เมื่อปรากฏว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่เหยื่อ
แต่เป็นผู้ร่วมขบวนการที่พยายามสวมบทบาทผู้เคราะห์ร้าย เพื่อเลี่ยงการถูกดำเนินคดี !!!
พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รองผบช.สอท. เปิดเผยถึงกรณีการคัดแยกเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 260 คนแรก ระบุว่า ได้เข้าสู่กระบวนการกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism - NRM) มีการคัดกรองโดยสหวิชาชีพ โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานเข้าไป และบอกว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไปเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จึงอยากให้ทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า กลุ่มคนที่กลับมา ยินยอมที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปทำหน้าที่หลอกลวงคนทั่วโลก เมื่อถูกส่งกลับมาอาจจะต้องถูกดำเนินคดี ทำให้เกือบทั้งหมดจะร้องไห้ ปั้นเรื่องขึ้นมาว่าตัวเองเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์
“...ยกตัวอย่าง มีชาวแอฟริกา เข้าไปเป็นสแกมเมอร์นานกว่า 1 ปี โดยให้ข่าวว่า ถูกมอมยาสลบ วางยาสลบจากสุวรรณภูมิ แต่ไปโผล่ที่เมียนมา เขามาโดยที่ไม่มีเงินติดตัว เลยเข้ามาเป็นสแกมเมอร์ หากมีการตั้งเรื่องกันดีๆ และเข้าใจตรงกันว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นสแกมเมอร์ที่หลอกลวงคนทั้งโลกก็จะไม่หลงทาง ตอนนี้เราเริ่มหลงทาง หลงเชื่อกันแล้วว่ากลุ่มคนพวกนี้ถูกหลอกไป จริงๆ แล้วมีอยู่เพียงไม่กี่คนที่ถูกหลอก
โดยอาจจะมีคนชาวญี่ปุ่น อยู่ 2-3 คน และคนจีนอีก 2-3 คน ที่โดนหลอก ยอมรับว่ามีจริง แต่ที่กลับมาทั้งหมดแล้วบอกว่าตัวเองเป็นเหยื่อ พบว่าไม่ใช่ เป็นคำให้การของพวกหลอกลวง
มิจฉาชีพมีทักษะในการหลอกลวงเงินจากกระเป๋าของคนไปได้ แสดงว่ามีทักษะในการหลอกลวงสูง เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยก็หลอกต่ออีก หากยังไปหลงเชื่อ และมีบางคนที่หิวแสง และออกมาพูดแบบนี้ อยากให้ช่วยเซฟประเทศไทย มาช่วยกันดูแลประเทศไทยและปกป้องคนดีจากคนเลว อย่าไปเชื่อคนเลวแล้วมาทำร้ายคนดี”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการขยายผล รอง ผบช.ไซเบอร์ กล่าวว่า ได้มีการขยายผลทั้งหมด เช่น การเดินทางมาประเทศไทยได้ประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดทั้งระบบว่าเดินทางเข้ามาอย่างไร โดยพบว่ามีชาวญี่ปุ่น 4 คน เดินทางเข้ามาและบอกว่าถูกค้ามนุษย์ แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่ามีการไปนอนแช่ออนเซ็น และนอนนวดอยู่ที่แม่สอด เพื่อเตรียมข้ามไปฝั่งตรงข้าม เมื่อกลับมาก็อ้างว่าถูกหลอกไป ซึ่งตามข้อเท็จจริงพบว่าไม่ใช่ โดยมีการตีตั๋วเดินทางมา และนั่งรถเป็นทอดๆ จนไปถึงแม่สอด หากจะบอกว่าเป็นการค้ามนุษย์ จริงๆ มองว่าไม่ใช่ ทั้งนี้ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีทุกราย
พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ ยืนยันว่า ขณะนี้เข้าสู่กระบวน NRM ในการคัดแยกเหยื่อ ซึ่งจะต้องให้มีการคัดแยกให้ได้จริงๆ หากจะไปเชื่อสแกมเมอร์ว่า ถูกเป็นเหยื่อ เรารับไม่ได้จริงๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ มีข้อมูลทั้งหมดแล้วว่า คนที่เป็นเหยื่อจริงๆ มี 4-5 ราย ยอมรับว่ามีเหยื่ออยู่จริง แต่น้อยมาก และได้ช่วยเหลือมาสำเร็จ ส่วนภาพรวมที่จะส่งมา เชื่อว่าเป็นพวกสแกมเมอร์ ที่สมัครใจไปทำงานจริงๆ
4.ความจริงล่าสุดนี้ ตอกย้ำในสิ่งที่ได้เตือนและเสนอแนะไว้ก่อนหน้า
ขอย้ำอีกครั้งว่า คนเหล่านี้ ได้ไปทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงต้มตุ๋น “เหยื่อตัวจริง” สูญเสียเงินทองทรัพย์สินมหาศาล บางคนฆ่าตัวตาย
บางคน อาจถูกบังคับจริงๆ ก็น่าเห็นใจ แต่บางคน ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการหลอกลวงต้มตุ๋นเหยื่อ เรียกว่า สมัครใจเป็นโจร
เหยื่อตัวจริง คือ ประชาชนคนไทยในประเทศที่ถูกต้มตุ๋นหลอกลวง บางคนหมดตัว บางคนล้มป่วย บางคนฆ่าตัวตาย ฯลฯ
อย่าปล่อยให้โจรแฝงตัวเป็นเหยื่อ ลอยนวลเข้าประเทศอย่างสบาย ฟอกตัว เปลี่ยนสถานที่ก่ออาชญากรรมครั้งใหม่ต่อไปอีกหาเหยื่อรายใหม่อีก เพราะโจรพวกนี้ ไม่มีทางเลิกเป็นโจร
ขอเรียกร้องให้ภาครัฐต้องตรวจสอบทุกคนที่ได้กลับมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะตรวจสอบบัญชีทางการเงินของเจ้าตัว ตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าตัวและครอบครัว ว่าระหว่างที่อ้างตกเป็นเหยื่อมีสถานะอย่างไร มีเงินไหลเข้าออกผิดปกติหรือไม่ หรือทรัพย์สิน เงินทอง บ้าน รถ ของมีค่า ฯลฯ เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่? มีการใช้หนี้สินอะไรไปบ้างหรือไม่? ที่บ้านเอาเงินมาจากไหน? ยึดทรัพย์ให้หมด ฯลฯ
รายใดไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เหมือนไปขุดทอง ละเว้นไม่ได้ ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
...จบ...
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี