คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก หากจะกล่าวว่าถ้าขาดเสียซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาติไทยอาจจะไม่มีอยู่แล้ว การกู้เอกราชของชาติกลับคืนจากพม่าเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ หลังจากที่ชาติต้องเสียอิสรภาพไปเพียง ๗ เดือนนั้น ต้องนับว่าเป็นเพราะความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่งที่ได้มองเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่า กำลังทัพของพม่าที่ยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น มากเกินกว่าที่ทัพไทยจะต่อสู้ได้ ประกอบกับการขาดแคลนเสบียงอาหาร ซึ่งจะทำให้ไทยต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงทำให้พระองค์ ตัดสินพระทัยนำพลพรรคประมาณ ๕๐๐ นายหนีออกจากค่ายโพธิ์สามต้น เพื่อไปรวบรวมกำลังในการที่จะกลับมากอบกู้อิสรภาพของชาติ
ถึงแม้ว่าพระองค์จะกระทำการได้สำเร็จ แต่ก็ชัดเจนว่ากรุงศรีอยุธยาได้ถูกพม่าเผาทำลายจนย่อยยับเกินกว่าการที่จะบูรณะให้กลับมาเป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่ได้อีกต่อไป จึงได้ตัดสินพระทัยที่จะจัดตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงของชาติ
เชื่อกันว่าเหตุผลที่ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเลือกกรุงธนบุรีนั้น เนื่องจาก เมืองนี้ที่ต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นราชธานีใหม่ที่ชื่อว่ากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรนั้น ซึ่งชื่อเดิมคือเมืองบางกอกเป็นเมืองที่เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ และมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองนี้เต็มไปด้วยเรือกสวนไร่นา เป็นเมืองเกษตรกรรม และอาชีพหลักของราษฎรคือการทำสวนผลไม้ หมู่บ้านส่วนใหญ่ จะปลูกอยู่ริมน้ำเป็นกระท่อมไม้ไผ่ยกสูงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยส่วนที่เป็นสวนนั้นจะอยู่ตามแนวลำคลอง ในลักษณะของการยกร่อง ซึ่งเป็นลักษณะการทำสวนแบบชาวจีนส่วนผืนแผ่นดินที่ลึกไปจากเรือกสวนก็จะเป็นไร่เป็นนาที่มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ถือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ให้ผลผลิตได้ดีทั้งข้าว หมากและผลไม้ต่างๆ
ถึงแม้พระองค์จะกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้ก็จริง แต่ในช่วงเวลานั้น ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก เนื่องจากเกิดทุพภิกขภัย ขาดแคลนอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นเสมอหลังจากการที่พ่ายแพ้ในศึกสงคราม ราษฎรพากันอพยพหลบหนี ทิ้งไร่ทิ้งนากันหมด ในขณะเดียวกันพระองค์ยังต้องติดพันกับการรบที่เกิดจาก ภาวะศึกสงครามยังไม่สงบอย่างแท้จริง มีทั้งศึกจากภายนอกและศึกภายใน จากความพยายามตั้งตนเป็นใหญ่ของผู้นำชุมนุมต่างๆ เช่น ชุมนุมพระเจ้าฝางและชุมนุมเจ้าเมืองพิษณุโลกซึ่งอยู่ทางเหนือ ส่วนทางใต้ก็มีชุมนุมของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีชุมนุมของเจ้าพิมาย ที่ต่างก็ช่วงชิงอำนาจเพื่อตั้งตัวขึ้นมาเป็นใหญ่เสียก่อน ทำให้ต้องใช้สรรพกำลังและสูญเสียเลือดเนื้อไปไม่น้อย
จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่พระองค์จะต้องแก้ปัญหาปากท้องทั้งของราษฎรและกองทัพ ด้วยการชักจูงราษฎรที่หลบหนีไปให้อพยพกลับสู่กรุงธนบุรี เพื่อมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติ กลับมาช่วยกันทำนาทำสวน รวมทั้งนายทหารแม้แต่ระดับเจ้าพระยา เช่น เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ซึ่งต่างก็เป็นแม่ทัพสำคัญ ก็ต้องออกมาช่วยคุมพื้นที่ทำนา
การแก้ปัญหาอีกทางหนึ่งของพระองค์คือทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อรับซื้อข้าวสารจากเรือสำเภาของชาวต่างชาติในราคาสูงเพื่อนำมาแจกจ่าย ให้แก่ราษฎรที่อพยพหนีไป เพื่อจูงใจให้กลับเข้ามาช่วยกันสร้างชาติ
เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการกู้ชาตินั้นก็คือพระองค์ได้ทรงเริ่มเปิดให้มีการติดต่อค้าขายกับชาติทั้งตะวันออกและตะวันตก โดยทางด้านตะวันออกนั้นได้ทรงโปรดเกล้าให้ส่งเรือสำเภาไปค้าขายถึงเมืองจีนตลอดจนอินเดียตอนใต้ พระองค์ต้องส่งพระราชสาส์นไปเมืองจีนถึง ๔ ครั้งเพื่อให้จีนรับรองสถานะความเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสยามประเทศ
ในการส่งพระราชสาส์นไปเมืองจีนนั้น พระองค์ได้ส่งไปถวายพระเจ้าเฉียนหลง จักรพรรดิจีน เพื่อให้รับรองสถานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยส่งไปกับเรือสินค้าของพ่อค้าจีนชื่อหยังจิ้งจง เนื้อความในพระราชสาส์นอธิบายการขึ้นครองราชย์ พร้อมทั้งขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตซื้อเหล็กและปืนใหญ่ เพื่อมาไว้ทำสงครามกับพม่า ซึ่งถึงแม้ในตอนแรกจะได้รับการปฏิเสธก็มิได้ละความพยายาม ยังคงแสดงถึงความตั้งใจในการที่จะเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนอีกถึง ๓ ครั้ง จนเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๑จึงได้รับการตอบรับด้วยไมตรีจากพระจักรพรรดิจีน พร้อมกับยอมให้กรุงธนบุรีทำการค้ากับจีนได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา
ข้าว จึงถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่มีความสำคัญยิ่ง โดยประชาชนของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ต่างก็มีข้าวเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิต เมื่อมีการขาดแคลน จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้ข้าวมาสำหรับการเลี้ยงดูประชาชนคนในชาติทั้งหลาย
เมื่อย้อนอดีตกลับมาสู่ยุคปัจจุบันก็จะพบว่า ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีการผลิตข้าวได้เป็นจำนวนมาก และยังเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ที่เรียกกันว่าข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับว่า นอกจากคุณภาพที่ดีแล้ว ยังให้รสชาติที่ดีที่สุดด้วย
ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีประเทศต่างๆ รอบบ้านเราส่งเสริมการทำนาปลูกข้าวมากยิ่งขึ้น แต่คุณภาพของข้าวจากประเทศต่างๆ นั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ข้าวของไทยได้รับการยอมรับในตลาดค้าข้าวสากลเป็นอย่างมาก จนทำให้ไทยได้เคยเป็นประเทศที่มีการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันต้องเสียตำแหน่งนี้ให้กับประเทศอินเดีย ในขณะที่ประเทศเวียดนามก็มีการส่งข้าวออกเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มแซงตลาดข้าวไทยไปแล้ว ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ส่งข้าวออกมากเป็นอันดับ ๓ ไปเรียบร้อย การแข่งขันของตลาดค้าข้าวระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่มีความรุนแรงพอสมควร เพื่อแย่งจำนวนข้าวส่งออก อันจะสร้างรายได้ กลับคืนมาให้ประเทศได้อย่างมากมาย
จากการที่อินเดียมีปริมาณการผลิตมหาศาล จึงทำให้อินเดียสามารถส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกด้วยราคาที่ต่ำกว่าของชาติอื่นๆ ทำให้ข้าวของไทยไม่สามารถจะขายแข่งในระดับนานาชาติได้ ประกอบกับประเทศที่ไทยเคยส่งออกข้าวไปขายได้มาก เช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ลดปริมาณการสต๊อกข้าวของประเทศลง ทำให้ความต้องการข้าวของไทยลดน้อยตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าวของไทยที่ผลิตได้ยังคงเหลือค้างอยู่ในสต๊อกมากพอสมควร เมื่อความต้องการของต่างชาติลดน้อยลง ประกอบกับการที่ข้าวไทยสู้ราคาจากข้าวอินเดียและเวียดนามไม่ได้ ทำให้ตลาดส่งออกข้าวของไทยอาจจะต้องถดถอยลงไปเรื่อยๆ อันเป็นผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างที่สุด
แต่ผู้ที่เสียหายโดยแท้จริงคือชาวนาทั้งหลาย ที่มีอาชีพทำนาหาเลี้ยงจากการขาย ผลผลิตที่ผลิตได้คือข้าว เมื่อความต้องการข้าวในตลาดต่างชาติลดน้อยลง ก็ย่อมส่งผลกระทบโดยตรง เนื่องจากพ่อค้าไม่อาจจะรับซื้อข้าวในราคาที่ทำให้ชาวนามีกำไรเพียงพอต่อการประกอบอาชีพนี้ และสถานการณ์ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งทำให้ชาวนาเหล่านั้นต้องยกขบวนออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้
ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดนี้ ได้มีการศึกษาและเตรียมตัวในการรับภาระเรื่องราคาข้าวตกต่ำซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับชาวนา มานานมากน้อยเพียงใดแล้ว เพราะหากได้เตรียมตัวที่ดีพอ รวมทั้งมีการวิเคราะห์สถานการณ์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวมาโดยตลอด ก็น่าจะสามารถวางแผน ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำจนทำให้ชาวนาส่วนหนึ่งต้องเดินขบวนมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบ
เป็นเรื่องแปลกที่ดูเหมือนจะเป็นปกติวิสัยแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่มีนายกฯมาจากตระกูลที่ผูกขาด บ้านเมืองจะเกิดปัญหาเรื่องข้าวทุกครั้งไปซึ่งควรจะนำเอาความผิดพลาดจากการบริหารในอดีตมาเป็นบทเรียนในการที่จะทำให้เรื่องข้าวไม่เป็นประเด็นปัญหาต่อชาวนาซึ่งถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติอีกต่อไป
การจัดให้มีการจำนำข้าวในสมัยนายกฯหญิงคนแรก ได้ก่อให้เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นโกงกินอย่างมากมาย ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในคดีถูกศาลพิพากษาจำคุก รวมไปถึงอดีตนายกฯด้วย
มาถึงยุคนี้ก็มีการรื้อฟื้นเอาเรื่องข้าวที่ยังเป็นประเด็นปัญหาในอดีตเมื่อ ๑๐ ปีก่อนออกมาขายซึ่งนักวิชาการหลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นข้าวที่มีคุณภาพสำหรับให้ผู้คนบริโภคอีกแล้ว แต่ก็ทำได้อยู่เพียงครั้งเดียวแล้วก็หายเงียบไป ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
การแก้ปัญหาเรื่องข้าวราคาตกต่ำให้ชาวนาในครั้งนี้ โดยรัฐเข้าพยุงราคาข้าว ที่ต้องใช้เงินมากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และทำให้เงินทองของชาติต้องร่อยหรอมากขึ้นไปอีก ไม่น่าแปลกใจว่าทำไม GDPของประเทศไทยในปี ๒๕๖๗ จึงเหลือแค่ ๒.๕% ซึ่งเป็นอันดับเกือบสุดท้ายของประเทศในภูมิภาคนี้ แพ้แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าเราไม่ว่าจะเป็นลาวหรือเขมรด้วยซ้ำไปจึงเป็นเรื่องที่น่าขายหน้ายิ่งนัก
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี