ความเป็นมาก่อนที่พระยาเทพหัสดินจะถูกจับกุมตัวประมาณหนึ่งเดือนนั้น มีเรื่องที่พระยาเทพหัสดินถูกรัฐบาลสงสัยว่าทำการต่อต้านรัฐบาล พระยาเทพฯได้ร้องต่อสภาฯเกี่ยวพันกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ถูกนำมาถกกันในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2477 โดยพระยาเทพฯได้ลุกขึ้นเสนอกระทู้ถามด่วน ดังนี้
“1. รัฐบาลรู้หรือไม่ว่าในเวลา 06.30 น.วันนี้ รองอธิบดีตำรวจได้สั่งให้นายพันตำรวจเอก พระพิจารพลกิจไปค้นบ้านเรือนข้าพเจ้า กับทั้งได้ให้มีตำรวจควบคุมตัวข้าพเจ้าตลอดเวลาไปในที่ต่างๆ 2. การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้กระทำแก่ข้าพเจ้าดังนี้ รัฐบาลมีหลักฐานอะไรเป็นมั่นคงแล้วหรือว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ได้กระทำผิด 3. เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ค้นบ้านข้าพเจ้าแล้ว ไม่ได้หลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด(น่าจะเป็น “ได้” ผู้เขียน) ปรักปรำข้าพเจ้า รัฐบาลจะมีทางอะไรบ้างหรือไม่ ที่จะแก้ร้ายให้กลายเป็นดี และล้างมลทินความเสียหายของข้าพเจ้าที่ต้องถูกกระทำเช่นนั้น พร้อมกับกระทู้ถามของข้าพเจ้านี้ ข้าพเจ้าขอเสนอหนังสือร้องทุกข์ต่อท่านผู้เป็นประธานในสภาฯ …
เมื่อประธานสภาฯ อนุญาตให้ถามและดำเนินการต่อไม่ได้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรี มหาดไทยเป็นผู้ตอบ ว่า
“ในข้อนี้ทางรัฐบาลได้ทราบ…แต่การที่ได้ไปค้นบ้านพระยาเทพฯนี้ เนื่องมาจากเหตุที่ว่าในคราวที่ได้จากพวกก่อการที่จะคิดล้างล้มรัฐบาล
มีนายไถงเป็นต้น นายไถง และพยานหลายปากได้ให้การซัดทอดมาถึงพระยาเทพฯ ว่าได้เป็นหัวหน้าในการคิดล้มล้างรัฐบาลเวลานี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ใช้ความระมัดระวังที่สุด เพราะเหตุว่าท่านเป็นรองประธานสภาฯ การที่จะทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้หลักฐานนั้นเรายังไม่ทำเป็นอันขาด แต่เมื่อมีการสืบสวนก้าวหน้าไปอีก ก็ปรากฏว่ามีจำเลยและพยานได้ซัดทอดท่านเพิ่มเติมมาอีก และได้อ้างไปถึงว่าในการที่จะก่อการคราวนี้ได้มีอาวุธยุทธภัณฑ์เช่นว่า มีปืนกลตั้งหลายๆ กระบอก อะไรเช่นนั้น เป็นต้น…ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลจึงไปหาเจ้าคุณเทพฯ ที่บ้าน และในการไปคราวนี้ได้ไปโดยอาการสุภาพที่สุด และถึงท่านเองก็คงปฏิเสธไม่ได้ ไปถึงก็ได้แสดงว่าเดี๋ยวนี้ต้องการจะค้นบ้านท่าน และนอกจากนั้นตำรวจยังได้แสดงความบริสุทธิ์หลายอย่าง เช่น ถอดเสื้อเอาทิ้งไว้ที่รถตำรวจเป็นต้น และได้ควักกระเป๋าเพื่อแสดงไม่มีอะไรเลย และได้กระทำการค้นบ้านท่าน ผลแห่งการค้นก็ได้เอกสารบางอย่าง …ผลแห่งการค้น ได้เอกสารบางอย่าง จะว่าไม่ได้เลยก็ไม่ได้ แปลว่าเอกสารเหล่านี้จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ผู้ประกอบการพิจารณากับสำนวนในทางโรงศาลด้วย”
ต่อมาพระยาเทพฯ ได้อ่านถึงหนังสือที่ท่านมีถึงประธานสภาฯมีความตอนหนึ่งที่สำคัญว่า
“การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้ทำแก่ข้าพเจ้าดังนี้ เป็นการตัดเสรีภาพ และเป็นการดูหมิ่นข้าพเจ้าในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งได้ผิดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 14, 33 และ 34 ด้วย”
แต่นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี อภิปรายว่า
“ในมาตรานี้มีความประสงค์แต่เพียงว่าการประชุมของสภาฯจะต้องดำเนินไปให้สะดวกที่สุดในสมัยประชุม เพื่อความประสงค์นั้นเกรงว่าคณะการเมืองถ้าเกิดมีขึ้น อาจแกล้งหากันโดยป้องกันมิให้สมาชิกมาประชุม แต่สำหรับพฤติการณ์ที่กระทำมานี้ก็เป็นทางที่แสดงชัดๆ แล้ว เห็นว่าไม่มีอะไรกีดขวาง เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวมาตรานี้”
ครั้นเมื่อประธานสภาฯถามขอมติว่าการควบคุมเช่นนี้กระทบถึงความหมายแห่งรัฐธรรมนูญตามมาตราที่อ้างหรือเปล่า ปรากฏว่าสมาชิกเสียงข้างมากรับรองว่าไม่กระทบ ส่วนสมาชิกที่เห็นตรงข้ามไม่มีเลย เรื่องดังกล่าวจึงผ่านไปโดยสมาชิกสภาฯจำนวนมากก็ไม่ได้คล้อยตามฝ่ายพระยาเทพฯ จะมีนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะให้สภาฯพิจารณาซักฟอกพระยาเทพาฯเพื่อจะได้ชัดเจนไปแต่ก็ไม่มีเสียงจากคนอื่นที่สนับสนุน
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี