การปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
และเป็นภัยคุกคามร้ายแรงใกล้ตัวของประชาชน
รัฐบาลจะต้องเอาใจใส่ เอาจริงเอาจัง ดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ขุดรากถอนโคน ล้างบางทั้งขบวนการให้ได้
มิฉะนั้น คนร้ายก็จะสร้างรังโจรแห่งใหม่ ก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ปล้นเงินคนไทยต่อไป
1.รังโจรคอลเซ็นเตอร์ อยู่ในชายแดนประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งในฝั่งเมียนมาและกัมพูชา
การทลายรังโจร จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ
ต้องยอมรับว่า จีนเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นชาติมหาอำนาจ
และไทยก็ควรใช้ประโยชน์จากจีนในการล้างบางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามที่มีต่อคนไทย ปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยเราเองด้วย
2.ขณะนี้ การปราบปรามโจรคอลเซ็นเตอร์กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ ขั้นต้นเท่านั้น
เพราะขบวนการโจรคอลเซ็นเตอร์ จะต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐนายทุนใหญ่ ผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จึงสามารถขยายอาณาจักรได้ราวกับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ผ่านมา โกงเงินไปจากคนไทยวันละนับร้อยล้านบาท รวมแล้วนับแสนล้านบาท
แต่ปัจจุบัน ยังไม่พบการดำเนินคดีระดับหัวแถว หรือเจ้าหน้าที่รัฐ
ยังไม่ปรากฏผลการติดตามยึดทรัพย์สินผู้เกี่ยวข้องระดับตัวใหญ่ๆ
และบุคคลผู้ต้องสงสัยที่ถูกส่งตัวมาจากรังโจร ต่างอ้างว่าตนเป็นเหยื่อ ถูกหลอกลวง ถูกบังคับให้ไปทำงานกับคอลเซ็นเตอร์นั้น ก็จะต้องถูกคัดกรองอย่างเข้มข้น เด็ดขาด ว่าเป็นเหยื่อ หรือแท้จริงเป็นลูกสมุนโจร ทำงานหลอกลวงต้มตุ๋นเหยื่อคนไทย หาเงินให้โจร โดยได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์แค่ไหน อย่างไรกันแน่
3.ล่าสุด ทางการไทยได้รับตัว 119 คนไทย จากปอยเปต นำเข้าสู่ศูนย์คัดกรองตามกลไก เพื่อคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์และผู้กระทำผิด เพื่อให้การเยียวยาและดำเนินคดีตามกฎหมาย
ศูนย์คัดกรองตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ จังหวัดสระแก้ว หรือ NRM เปิดค่ายสุรสิงหนาท เป็นศูนย์เฉพาะกิจโดย พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตรจเรตำรวจแห่งชาติ ดูแลรับผิดชอบ
คนไทยทั้งหมดที่ถูกส่งกลับจากกัมพูชา ทยอยเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนศูนย์คัดกรองฯ เริ่มจากการซักประวัติ ตรวจสุขภาพร่างกาย และจิตใจ โดยทีมแพทย์และจิตแพทย์ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการสอบสวน
โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ประเมินสถานะของบุคคลนั้น ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์, ถูกหลอกลวงไปทำงานโดยผิดกฎหมาย หรือเดินทางไปทำงานโดยสมัครใจ ซึ่งในระหว่างกระบวนการคัดกรอง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด หากพบว่าเข้าข่ายลักษณะใด ก็จะแยกประเภทดำเนินการตามขั้นตอน
คนที่ต้องคุ้มครองและฟื้นฟูเนื่องจากตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรการของรัฐ ส่วนผู้ที่สืบสวนสอบสวนแล้วกระทำผิดก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนไทยกลุ่มดังกล่าว ต่างได้รับการดูแลในเรื่องของอาหารและน้ำ รวมถึงที่พักที่ทางจังหวัดเตรียมไว้ให้ ระหว่างที่กระบวนการคัดกรองไม่แล้วเสร็จ และไม่มีญาติของคนไทยมารอรับตัว
4.สมัครใจเป็นโจร?
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าว อ้างอิงจากสำนักข่าวขแมร์ไทม์ระบุว่า กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามอาชญากรรมของกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา ได้ยืนยันรายงานที่ระบุว่าเมื่อวันที่ 22-23 ก.พ.2568 ทีมปฏิบัติการของกองบัญชาการฯได้บุกตรวจค้นสถานที่รังแก๊งคอลเซ็นเตอร์2 แห่งในปอยเปต
“..การบุกจับดังกล่าว เกิดขึ้นในหมู่บ้านสามัคคีมีชัยเมืองปอยเปต จ.บ้านใต้มีชัย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสืบสวนสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน
การดำเนินการปราบปรามสถานที่ 2 แห่งข้างต้น ดำเนินการภายใต้คำสั่งเข้มงวดของ ดร.ซอร์ ซกคา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รวมถึงคำแนะนำโดยตรงจาก พล.อ.ซอร์ เต็ต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
โฆษกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชายืนยันว่า ในการบุกตรวจค้น เจ้าหน้าที่พบชาวต่างชาติ 230 คน (ผู้หญิง 68 คน) ในจำนวนดังกล่าว เป็นคนไทย 123 คน (ผู้หญิง 59 คน)
ชาวต่างชาติเหล่านี้หลบซ่อนตัวและทำธุรกรรมออนไลน์ผิดกฎหมายกับผู้บงการชาวจีน โดยใช้ชีวิตอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ปกติ และยอมรับการทำงานผิดกฎหมายด้วยความสมัครใจ..”
5. กรณีคล้ายกับบุคคลที่กลับมาจากรังโจรคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียวดีก่อนหน้านี้
พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เคยแย้มข้อมูลว่า คนที่เป็นเหยื่อจริงๆ มีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นพวกที่สมัครใจไปทำงาน
ประเด็นนี้ คือ หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการปราบปรามโจรคอลเซ็นเตอร์ ว่าจะเอาจริง หรือตัดตอนขบวนการใหญ่ ซึ่งอาจสาวไปถึงตัวการใหญ่ นายทุนใหญ่ รวมถึงข้าราชการกังฉินที่คอยรับเงินและคุ้มครองขบวนการมหาโจรนี้มาก่อนหน้า
ย้ำว่า คนเหล่านี้ ได้ไปทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงต้มตุ๋น “เหยื่อตัวจริง” คือ คนไทยที่สูญเสียเงินทองทรัพย์สินมหาศาล บางคนฆ่าตัวตาย
บางคน อาจถูกบังคับจริงๆ ก็น่าเห็นใจ
แต่บางคน ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการหลอกลวงต้มตุ๋นเหยื่อ ถือว่าสมัครใจเป็นโจร
หากปล่อยให้โจรแฝงตัวเป็นเหยื่อ ลอยนวลเข้าประเทศอย่างสบาย ฟอกตัว ก็จะเปลี่ยนสถานที่ก่ออาชญากรรมครั้งใหม่ต่อไปอีก หาเหยื่อรายใหม่อีก เพราะโจรพวกนี้ ไม่มีทางเลิกเป็นโจร
และที่สำคัญ ตัวการใหญ่ ข้าราชการที่หากินกับเงินบาปเหล่านี้ ก็จะลอยนวลไปด้วย
เพราะฉะนั้น ขอเรียกร้องให้ภาครัฐต้องตรวจสอบทุกคนที่ได้กลับมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
โดยเฉพาะตรวจสอบบัญชีทางการเงินของเจ้าตัว ตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าตัวและครอบครัว
ระหว่างที่อ้างตกเป็นเหยื่ออยู่ต่างประเทศนั้น มีสถานะอย่างไร มีเงินไหลเข้าออกผิดปกติหรือไม่ หรือทรัพย์สิน เงินทอง บ้าน รถ ของมีค่าฯลฯ เพื่อขึ้นผิดปกติหรือไม่? มีการใช้หนี้สินอะไรบ้าง? ที่บ้านเอาเงินมาจากไหน? ถ้าผิดปกติ ชี้แจงไม่ได้ ก็ต้องยึดทรัพย์ให้หมด ฯลฯ
รวมทั้งสอบสวนขยายผล หาหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงตัวการ ข้อต่อ ผู้สนับสนุน เจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมขบวนการต่อไปด้วย จะต้องดำเนินการเอาจริง แบบขุดรากถอนโคน จึงจะสำเร็จ
6.รัฐบาลยืนยันเอาจริง แต่ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์
นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ตอบกระทู้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของรัฐบาล โดยประเด็นผู้มีอิทธิพลเบื้องหลัง นายกฯ ให้คำมั่นกับสภาฯ ว่าจะจัดการเรื่องนี้จริงจัง และขอให้มั่นใจ ไม่ว่าใคร ถ้าทำผิดเรื่องดังกล่าว ทำให้คนไทยเดือดร้อน จะจัดการอย่างเด็ดขาด
นายกฯ ย้ำว่า “ดิฉัน เป็น นายกฯของคนไทย ต้องดูแลคนไทยก่อน นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เรื่อง คอลเซ็นเตอร์และยาเสพติด ไม่จบ ไม่เลิก แน่นอน”
7.เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรี 3 ฝ่าย ระหว่างไทย - เมียนมา - จีน เพื่อประสานงานการปราบปรามการหลอกลวงทางโทรคมนาคม (ขบวนการคอลเซ็นเตอร์)
โดยฝ่ายเมียนมา มีนายอ่อง จ่อ จ่อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเมียนมา และฝ่ายจีน มีนายหลิว จงอี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะจีน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน
ที่ประชุมเห็นพ้องถึงการดำเนินมาตรการไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ปฏิบัติการต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การตัดไฟ ตัดอินเตอร์เนต และการส่งน้ำมัน บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาที่รัฐบาลไทยดำเนินการ จนนำไปสู่การปล่อยตัวชาวต่างชาติ 260 คน ในเมืองเมียวดี เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือชาวต่างชาติที่ได้รับการปล่อยตัว และถกส่งกลับมาตุภูมิ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ต้องกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ตามกลไกความร่วมมือ 3 ฝ่าย และมีส่วนร่วมในการดูแลกลุ่มคนที่รอการส่งกลับ เพื่อให้กระบวนการส่งกลับของคนทุกชาติที่รออยู่เป็นไปด้วยความเป็นระบบและรวดเร็ว
โดย รมว.ตปท.เผยว่า ตัวเลข ณ วันนี้ มีคนติดค้างอยู่ราว 7,000 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คนจีน 5,000 คน ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย เนื่องจากมีกระบวนการรับตัวที่เป็นระบบอยู่แล้ว
8.สุดท้าย เหตุใด รัฐบาลจะต้องปราบปรามแบบขุดรากถอนโคน?
สื่อจีน China Faceได้นำเสนอบทวิเคราะห์ เหตุใดจีนต้องปราบปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์อย่างต่อเนื่อง ? บางตอน ระบุว่า
“...ปัจจุบัน ประเด็นควรทำอย่างไร จึงจะประกันให้การร่วมมือกันปราบปรามประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกฝ่ายจับตา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักว่า ผลสำเร็จที่ได้รับในวันนี้เป็นเพียงก้าวเล็กๆก้าวแรกเท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลมากจาก “ชัยชนะ”ในที่สุด
ดังที่ทราบกันดีว่า อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ที่แพร่หลายนับวันกลายเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยระดับโลกมากยิ่งขึ้น เพราะควบคู่ไปกับการพัฒนาก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเตอร์เนต ก็มีการพัฒนาวิธีการหลอกหลวงและมีความหลากหลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันตัวอย่างเช่น จากการหลอกลวงทางโทรศัพท์แบบดั้งเดิมไปจนถึงการฟิชชิ่งในโลกออนไลน์ แพลตฟอร์มการลงทุนปลอม และการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการหรือศาล ฯลฯ ในทุกวันนี้
นอกจากนี้ อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ยังได้พัฒนาเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมข้ามชาติ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การสนับสนุนทางเทคโนโลยี ไปจนถึงการโยกย้ายเงิน ต่างก็มีการแบ่งงานในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน ทั้งยังมีความมิดชิดในระดับสูงด้วย ซึ่งได้เพิ่มความยากลําบากในการปราบปราม
สิ่งที่น่ากังวลยังมีอีกหลายประการ เช่น เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมายของรัฐบางคน เช่น ตำรวจ ได้ทำตัวเป็น“ร่มคุ้มกัน”ให้กับอาชญากรรมการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
หัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ในเมียวดีและที่อื่นๆ จำนวนหนึ่ง ไม่เพียงแต่ยังคงลอยนวลหลบหนีการจับกุมได้เท่านั้น หากยังมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะย้ายฐานการหลอกลวงไปที่อื่นด้วยวิธี“ดาวกระจาย”เพื่อกลับมาทำผิดซ้ำอีกด้วย สถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาที่ซับซ้อนก็ทำให้การร่วมกันปราบปรามมีความยากลำบาก
ดังนั้น การปราบปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ จึงไม่สามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น จำเป็นต้องมีความพยายามและความร่วมมือจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคีให้มีกลไกความร่วมมือในระยะยาว การร่วมมือด้านเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาชญากรใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ในการหลอกลวง นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นทาง เช่น การพัฒนายกระดับเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงาน เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรม” – สื่อจีนรายงาน
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี