เครื่องยนต์เศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ฟื้นตัว กระชากเศรษฐกิจไทยอยู่ในวันนี้
1. ในภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นโยบายสงครามการค้าของสหรัฐ จีน และชาติอื่นๆ รวมไปถึงภูมิรัฐศาสตร์โลก
ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทย เปราะบาง
2. มองในแง่ร้าย คนชั่วที่คิดทำลายความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยหากทุบทำลายการท่องเที่ยวได้ ก็จะทำลายเศรษฐกิจไทยไปด้วย
เพราะฉะนั้น หากเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเรา แบบที่เคยเกิดกรณีระเบิดพระพรหมเอราวัณเมื่อหลายปีก่อน จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติอย่างร้ายแรง
รัฐบาลจะต้องป้องกัน กวดขันเด็ดขาด และจัดการกับกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ดขาด
นักการเมืองฝ่ายค้าน หรือใครก็ตาม ที่พยายามชักนำ หรือส่งสัญญาณสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ควรต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด
3. ตัวเลขนักท่องเที่ยวล่าสุด ส่งสัญญาณไม่สู้ดี
ตั้งแต่วันที่ 1 - 28 กุมภาพันธ์ 2568 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 3.12 ล้านคน
หดตัวร้อยละ -6.95 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย จีน รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า จีนลดลงไปอยู่อันดับสอง
หมายความว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหายไป
ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรวมในเดือนก.พ. 2568 หดตัวต่ำกว่า ก.พ.2567-6.95%
ถือเป็นสัญญาณไม่ดีเลย
3. แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน ยอดรวมทะลุ 7 ล้านคน
ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 5%
แต่ตัวเลขเฉพาะเดือนล่าสุด คือ เดือนก.พ.2568 ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะนิ่งนอนใจไม่ได้
ต้องจับตาว่าเดือนต่อไป จะกลับคืนสู่แนวโน้มที่ควรจะเป็นหรือไม่?
นักท่องเที่ยวหายไปเพราะปัจจัยอะไร?
การเมืองบริหารประเทศอย่างไร ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ไม่มาเที่ยวไทย หรือไม่?
ขณะนี้ นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ เดินทางไปเมืองเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2025 งานมหกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลก
งานนี้ ททท. นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของไทย160 ราย จาก 5 ภูมิภาคทั่วไทย ไปร่วมงานด้วย
เป็นความพยายามเพิ่มกำลังให้กับเครื่องยนต์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยส่วนหนึ่ง
4. จะเห็นว่า เวลาบริหารจริงไม่ง่าย เหมือนสมัยที่พรรคเพื่อไทยถล่มรัฐบาลลุงตู่
ในอดีต พรรคเพื่อไทยถึงขนาดเคยโพสต์เคลื่อนไหวโจมตีในแฟนเพจของพรรค เกี่ยวกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวยุครัฐบาลลุงตู่
ระบุว่า “รัฐบาลประกาศวันที่ 1 เมษายน 2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาทหรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” กำลังสร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการการท่องเที่ยว เพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้นักท่องเที่ยวโดยไม่จำเป็น ที่อาจสร้างผลกระทบต่อความรู้สึกและผลทางจิตวิทยากับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนอาจทำให้นักท่องเที่ยวหันไปเที่ยวประเทศอื่นแทนได้” จักรพล ตั้งสุทธิธรรม สส.เชียงใหม่ รองเลขาธิการและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เตือนรัฐบาลให้ทบทวนและยกเลิกแนวคิดนี้ เนื่องจากกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศที่แบกรับภาระอย่างหนักมาตลอด 2 ปี ให้มีภาระหนักกว่าเดิม และอาจเป็นการดำเนินการที่สะดุดขาตัวเองอีกครั้ง
“ช่วงเวลานี้ประเทศไทยควรต้องทำการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าที่จะมาคิดเพิ่มภาระให้กับนักท่องเที่ยว รัฐบาลควรคิดที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นมากกว่าทำลายความมั่นใจ ซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจ บั่นทอนชีวิตและความสุขของคนไทยแบบนี้”
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง คงจะขยายตัวไม่ถึง 4% ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เท่าไหร่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อไหร่ และจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนเท่าไร การที่รัฐบาลประกาศจะเก็บเงิน “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาท โดยจะนำเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะได้เงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท พร้อมแบ่งส่วนหนึ่งมาเป็นค่าประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวนั้น อาจจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยวโดยไม่จำเป็นและอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหันไปเที่ยวประเทศอื่นหรือไม่
ปัจจุบัน ราคาต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการท่องเที่ยวประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ เช่น ราคาอาหาร ก๊าซหุงต้ม ราคาน้ำมัน และค่าเดินทาง ทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณของนักท่องเที่ยวลดลงอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ปัญหาเงินเฟ้อก็กำลังเป็นโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจโลก ภาวะเงินเฟ้อของโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคมที่สูงขึ้นถึง 7% ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม โดยสหรัฐอเมริกาอาจจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งภายในปีนี้และอาจส่งให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการของไทยเพิ่มขึ้น จากที่แบกภาระอย่างหนักมา 2 ปี ทั้งหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยที่แทบจะไม่มีรายได้เข้ามาเลยดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงต้องคิดล่วงหน้าว่าจะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดและทำธุรกิจต่อได้ในอนาคต
ดังนั้น แนวคิดการจะเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” น่าเป็นแนวคิดของคนที่หารายได้ไม่ได้และบริหารประเทศไม่เป็น เพราะปัจจุบันก็แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอยู่แล้ว แต่กลับคิดจะหารายได้จากค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ แทนที่จะคิดสร้างเศรษฐกิจไทยให้โตได้อย่างยั่งยืนอย่างไรเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้กลับมาท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย รวมถึงลงทุนในประเทศหรือการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว...”
ข้างต้นนี้ พรรคเพื่อไทยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2565
ปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ คนของพรรคกุมกระทรวงค่อน ครม. รวมทั้งกระทรวงท่องเที่ยว
ถ้าบริหารแล้วทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจการการท่องเที่ยวฯสะดุด จะเป็นตราประทับความอ่อนหัดในการบริหารประเทศอย่างไม่รู้ลืม
5. อย่าให้การเมืองน้ำเน่า ทำลายเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเผชิญกับความไม่แน่นอนแบบนี้
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยขะมักเขม้นจะทำกาสิโนให้คนไทยเข้าไปเล่น
และรัฐบาลเพื่อไทยยังอุตส่าห์ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก MOTO GP เข้าไปอีก
อ้างว่า ต้องทบทวนดูความคุ้มค่า
ล่าสุด กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนายชาคริต ปิตานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองฯ และเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่กำหนดแนวทางการดำเนินงาน กำกับ ควบคุมดูแล การสำรวจข้อมูลภาคสนามเพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก MOTO GP สนามที่ 1 “PT Grand Prix of Thailand 2025” ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2568 ซึ่งหลังจบการแข่งขันในวันสุดท้าย
ได้มีการสรุปผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแข่งขัน ระบุว่า จากการได้รับสิทธิ์จัดการแข่งขัน MOTO GP ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมานั้น (ปี 2563 และปี 2564 ไม่มีการจัดการแข่งขันเนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19) สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศชาติเป็นอย่างมาก
หลังจบจากการจัดการแข่งขันครั้งล่าสุดในรายการ PT Grand Prix of Thailand 2025 นั้น สามารถสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอื่น ๆ 5,043 ล้านบาท
( แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 4,268 ล้านบาท และการลงทุนภาครัฐและเอกชน จำนวน 775 ล้านบาท)
ก่อให้เกิดการจ้างงาน จำนวน 7,772 ตำแหน่ง (เทียบเท่าระยะเวลา 1 ปี)
ภาครัฐได้รับรายได้ ในรูปแบบภาษีกว่า 318 ล้านบาท
มีผู้เข้าร่วมงานตลอดการแข่งขัน (3วัน) จำนวน 224,634 คน
(แบ่งเป็นผู้เข้าร่วมงานชาวไทย จำนวน 172,565 คน และผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติ จำนวน 52,069 คน)
ซึ่งจากการจัดการแข่งขันตลอดระยะเวลา 6 ปีนั้นมีจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 1 ล้าน 2 แสนคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกือบ 25,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานถึง 3 หมื่นคน
ตัวเลขแบบนี้ รัฐบาลยังจะไม่สนับสนุนให้มีการจัดต่ออย่างนั้นหรือ?
ถ้าตัดสินใจเช่นนั้น น่าจะไม่ได้อยู่บนฐานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชาติ
แต่น่าจะเป็นการตัดสินใจบนฐานการต่อสู้ทางทางการเมือง
รัฐบาลไหนคิดและทำเช่นนี้ ไม่สมควรเป้นรัฐบาลอีกต่อไป
6. อย่าลืมว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณอ่อนแรงลง
จีดีพีไตรมาส 4/2567 ขยายตัวเพียง 3.2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ราว 4.0%
ส่งผลให้ทั้งปี 2567 จีดีพีขยายตัวเพียง 2.5% ต่ำกว่าระดับศักยภาพ
เศรษฐกิจไทยปี 2568 เผชิญความเสี่ยงสูง
สำนักวิจัยในต่างประเทศปรับลดประมาณการจีดีพีไทยลงเหลือ 2.6% จากเดิมอยู่ที่ 2.7%
ท่ามกลางความเสี่ยงจากนโยบายการค้า และแรงกดดันต่อภาคการผลิตที่จะยังมีต่อเนื่อง
อุปสงค์ภายในประเทศยังเปราะบาง
สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่นำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การลดต้นทุนผู้ประกอบการ และการยกระดับภาคการผลิตให้แข่งขันได้ในระยะยาว เป็นสิ่งที่ควรเร่งมือทำ
ไม่ใช่การเล่นแง่ ตัดแข้งตัดขากันทางการเมือง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี