ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปรักษาพระเนตรอยู่ที่ประเทศอังกฤษ นั้น ได้มีข่าวเรื่องความเห็นไม่ตรงกันมาก ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลของพระยาพหลฯและสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีล่าสุดที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยับยั้งกฎหมาย 3 ฉบับที่กล่าวกันว่าเป็นกฎหมายชุดเดียวกันเกี่ยวกับกฎหมายอาญาที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม และพระองค์ทรงส่งคืนสภาฯ โดยมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย คือให้สภาฯไปทบทวนนั่นเอง พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจึงได้นำกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ เข้าสภาฯ และสภาฯได้มีมติยืนตามร่างกฎหมายเดิมจากนั้นนายกรัฐมนตรีก็ได้ส่งร่างกฎหมายที่ผ่านสภาฯกลับไปถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย กฎหมายทั้ง3 ฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และไม่ได้ส่งคืนมายังรัฐบาลภายในกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้นับว่าเป็นความขัดแย้งค่อนข้างมาก และเรื่องก็ยังค้างอยู่ จนมีข่าวเข้ามาถึงเมืองไทยว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะสละราชสมบัติ จนทางรัฐบาลรีบส่งคณะบุคคลที่มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหน้าคณะ และมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีในรัฐบาล กับนายดิเรก ชัยนาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนของรัฐบาลเดินทางไปเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่อังกฤษ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2477 เพื่อทราบถึงข้อขัดแย้งที่ต้องการให้มีการแก้ไข เพื่อจะได้ประสานงานกับทางรัฐบาลสยาม
ข่าวเรื่องความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลและสภาฯเงียบไประยะหนึ่ง ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสมัยสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จมาเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง แต่ครั้งนี้พระองค์ประทับอยู่ที่ต่างประเทศจึงมิได้เสด็จมา แต่ได้ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ แจ้งกับทางรัฐบาล ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ทำพิธีเปิดประชุมสภาโดยพระราชทานกระแสพระราชดำรัสให้นายกรัฐมนตรีไปอ่านในที่ประชุม
จนเวลาล่วงเลยมาอีก 3 เดือนหลังจากที่รัฐบาลส่งเจ้าพระยาศรีฯและคณะไปประเทศอังกฤษ ทางรัฐบาลจึงได้ขอนำเรื่องพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการพิจารณาพระราชบันทึกของพระองค์ ตามที่พระองค์ประสงค์ ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2477 ในการประชุมลับวันนั้น สภาฯได้พิจารณาความในบันทึก แยกเป็นประเด็นต่างๆ 10 ประเด็น โดยทางรัฐบาลได้เป็นผู้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ ว่ารัฐบาลได้ทำอะไรบ้าง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องนี้เป็นการประชุมที่ยาวนานมาก เพราะเริ่มเปิดประชุมตั้งแต่เวลา 15.37 น. ไปปิดประชุมเมื่อเวลา 23.55 น. ทั้งนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันมาก โดยรัฐบาลก็จัดคนชี้แจงเรื่องราวตามประเด็นต่างๆ ต่อจากนั้นแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร หลวงวรนิติปรีชา ผู้เป็นนักกฎหมายได้เสนอให้ผ่านระเบียบวาระไปโดยมีสมาชิกสภาฯทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 รับรองญัตติของหลวงวรนิติปรีชา คือสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบให้ผ่านระเบียบวาระไปโดยไม่มีการคัดค้าน
หลังการประชุมครั้งนี้แล้ว ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯ ได้กราบบังคมทูลผลการประชุมของสภาฯในการพิจารณาพระราชบันทึก เพื่อให้พระองค์
ทรงทราบ
อีกหนึ่งเดือนต่อมา ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ผ่าน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ถึงรัฐบาลมีความสำคัญว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี