ภายหลังการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่แล้ว รัฐบาลก็นำเรื่องเข้าไปขอความไว้วางใจกับสภาฯ ในการประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2478 ปรากฏว่านายเนย สุจิมา ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปราย โดยมีเป้าหมายไปที่หลวงสินธุสงครามชัย ที่เดิมเป็นรัฐมนตรีลอย ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการแทนพระสารสาสน์ประพันธ์ ซึ่งย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการนายเนย อภิปรายว่า “นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ข้าพเจ้ามีความข้องใจอยู่ว่า นายนาวาเอกหลวงสินธุสงครามชัย ผู้นี้ได้เคย รับการศึกษาและอบรมมาในกระทรวงธรรมการบ้างหรือหาไม่…ขอให้ทางรัฐบาลแถลงก่อนว่า นโยบายนั้น จะควรไว้วางใจได้หรือไม่”
นายกฯตอบ “ไม่เคยอยู่กระทรวงธรรมการ” ส่วนที่แถลงนโยบาย นายกฯ อธิบายต่อไป ว่า “คณะรัฐมนตรีไม่ได้เปลี่ยนใหม่เป็นแต่ว่าซ่อม เพราะฉะนั้นต้องถือนโยบายเดิม” นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนฯเมืองอุบล ก็ว่านโยบายจะเหมือนคนเดิมหรือไม่ ทำให้นายกฯ พระยาพหลฯไม่ยอม กล่าวตอบว่า “…ข้าพเจ้านึกว่าท่านจู้จี้ข้าพเจ้ามากเกินไปที่ทำเช่นนี้ ควรให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าก็ควรให้ หรือไม่อย่างนั้นก็ เก็กออกไป นี่อย่างนี้
พอแล้ว” (คำว่า “เก็ก” นี้ไม่แน่ใจว่าบันทึกไว้ผิดหรือไม่)พระบริรักษ์ราชอักษร ผู้แทนฯจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “ขอท่านประธานฯ ได้โปรดแนะนำรัฐมนตรีหน้าใหม่ ซึ่งสมาชิกบางคนรวมทั้งข้าพเจ้าด้วยไม่เคยรู้จักเลย เพื่อความไว้วางใจ”
ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ผู้แทนฯจากเมืองหนองคาย อภิปรายว่า “ที่สมาชิกจะให้รัฐบาลแถลงนโยบายนั้นเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะว่านโยบายนั้นเป็นนโยบายส่วนรวมของคณะรัฐบาล ไม่ใช่เป็นของรัฐมนตรีเป็นคนไป… กระทรวงธรรมการนั้นอาภัพมาก อาภัพมาหลายปีแล้ว เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ครูมาคุมครู เราได้อะไรมาคุมครูก็ไม่ทราบ ตั้งแต่ราชาธิปไตยแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ได้ครูมาคุมครูแล้ว… เราเอาคนที่ไม่ใช่บัณฑิตมาคุมบัณฑิต” เริ่มต้นเหมือนเข้าข้างรัฐบาล แต่ลงท้ายดูเหมือนติงว่าไม่เอาครูมาดูแลครูนั่นเอง
นายกรัฐมนตรี ฟังสมาชิกอภิปรายมาหลายคนแล้ว จึงกล่าวชี้แจงว่า “ตามที่สมาชิกชี้แจงมาเมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านยังเข้าใจผิดในเรื่องการเมืองอีกมาก ด้วยเหตุไร คือการที่รัฐมนตรีว่าการหาใช่เอาเอ็กซ์เปิต ในทางวิชาความรู้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่เรียกว่าเจ้าหน้าที่เทคนิคไม่ ในเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ประจำเขามี เขาทำอยู่ ผู้ใดที่ไปเรียนแร่มาก็ต้องไปทำหน้าที่ในเรื่องแร่ ผู้ใดที่ไปเรียนในทางเกษตรมาก็ต้องไปทำหน้าที่ในทางเกษตร เช่นการทำนา อะไรต่างๆ เหล่านั้นเป็นวิชาเทคนิค จะเอาเจ้าหน้าที่การเมืองให้รู้อย่างนั้นอย่างนี้ไปทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเอ็กซ์เปิตนั้น ท่านจะไปหาจนตลอดชีวิตก็หาไม่ได้ … เมื่อท่านเชื่อถือข้าพเจ้า ให้ข้าพเจ้าเป็นนายกฯ ท่านก็ต้องเชื่อถือในเรื่องที่ข้าพเจ้าจะเลือกใช้คน…” ส่วนคุณสมบัติของหลวงสินธุฯ นั้น หลวงประดิษฐ์ฯ ได้ช่วยนายกรัฐมนตรีอธิบายต่อมาว่า
“ความจริงหลวงสินธุเป็นทั้งนักเรียนที่ดีและทั้งเป็นครูด้วย หลวงสินธุได้สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายเรือที่นี่ แล้วได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเดนมาร์ค …กลับเข้ามาในสยามแล้ว หลวงสินธุได้เป็นครูมาตลอดทีเดียว ได้เป็นครูโรงเรียนนายเรือ ได้เป็นครูโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ”
ในวันนั้น การประชุมค่อนข้างยืดยาวนานไปสักพักได้มีผู้เสนอปิดอภิปราย แต่นายทองอินทร์เสนอให้อภิปรายต่อ จนต้องลงมติ ซึ่งนายทองอินทร์เป็นฝ่ายชนะ จึงอภิปรายกันต่อมาอีกนาน เมื่อถึงเวลาจะลงมติ นายทองอินทร์เสนอลงคะแนนลับ เพราะว่าจะได้ไม่ต้องกลัวรัฐบาล ข้อเสนอของท่านชนะ จึงต้องลงคะแนนลับ แต่เมื่อออกเสียงลงคะแนนปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลชนะได้รับความไว้วางใจ โดยมีผู้ออกเสียงให้ถึง 80 เสียงในขณะผู้ที่ไม่ไว้วางใจมีเพียง 24 เสียงเท่านั้นเอง
คำถามที่ว่ารัฐมนตรีที่มาดูแลกระทรวงจะต้องเป็นผู้รู้ตรงด้านนั้นได้มีการถามมา 90 ปีแล้ว
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี