ไม่มีใครโต้แย้งว่าแพทองธาร ชินวัตร ร่ำรวย แต่มีคำถามว่า เธอร่ำรวยด้วยการหาเงินโดยตนเองหรือเปล่า สำหรับคนที่ติดตามเรื่องราวของแพทองธารอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ต้องรู้ดีว่าเธอได้รับเงินทอง และทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลจากทักษิณ ชินวัตร
เพราะฉะนั้น จึงไม่ประหลาดใจที่แพทองธารอ้างกลางสภาว่า เธอได้รับที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์จากพ่อ ตั้งแต่เธออายุ 11 ปี แล้วเธอยังอ้างกลางสภาด้วยว่าเธอจ่ายภาษีเงินได้มากกว่าคนหลายคนที่อภิปรายซักฟอกเธอ ซึ่งคำกล่าวของแพทองธารในเรื่อง ฉันจ่ายภาษีมากกว่าใครๆ นั้น ก็มาจากปากคำของทักษิณ เพราะทักษิณเคยกล่าวเรื่องนี้มาก่อนแล้ว
นับแต่วันนี้เป็นต้นไป แพทองธารจะต้องเผชิญกับปัญหาที่เธอและคนในครอบครัวของเธอร่วมกันสร้างไว้ คือคดีหลบเลี่ยงการเสียภาษีซื้อขายหุ้น โดยเธอใช้กลอุบายจ่ายเงินค่าซื้อขายหุ้นกับบุคคลในครอบครัวชินวัตร ด้วยการเลี่ยงไปใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ Promissory Note ทำให้ถูกวิพากษ์ว่าอาจจงใจเลี่ยงการเสียภาษีรับให้ และอาจเข้าข่ายทำนิติกรรมอำพราง
ขอทวนความจำให้กับผู้อ่านที่อาจไม่แน่ใจกับเรื่องตั๋ว PN 9 ฉบับ มูลค่า 4,400 ล้านบาท ที่แพทองธารใช้ซื้อขายหุ้น 7 บริษัทให้กับพจมาน ดามาพงศ์ พานทองแท้ ชินวัตร พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ บรรณพจน์ และบุษบาดามาพงศ์
เพราะฉะนั้น จึงพบว่าแพทองธารเป็นหนี้คนในครอบครัวชินวัตร แต่กลับไม่มีสัญญาเงินกู้ โดยเลี่ยงว่าออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แล้วแต่ประเด็นสำคัญคือการออกตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้คิดดอกเบี้ย แต่อ้างว่าสามารถชำระเงินได้เมื่อถูกทวงถาม นี่คือข้อพิรุธที่ทำให้เห็นว่าซื้อขายหุ้นด้วยกลวิธีสุดพิสดาร เพราะไม่กำหนดวันจ่ายเงินให้ชัดเจน จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ และยังถูกมองว่าเป็นการซื้อขายหุ้นโดยจงใจหลีกเลี่ยงภาษีรับให้ ทำให้ประเทศชาติเสียรายได้จากภาษีที่สมควรจะได้รับ และยังถูกมองอีกว่าการจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นด้วยตั๋ว PN ไม่ใช่การจ่ายเงินอย่างแท้จริง ซึ่งเท่ากับเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
นับเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์มากที่อธิบดี กรมสรรพากร ปิ่นสาย สุรัสวดี ให้เหตุผลเรื่องการออกตั๋ว PN โดยแพทองธารว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ ก็ใช้วิธีนี้ แต่ต้องบอกว่าคำอ้างของปิ่นสายไม่ตรงกับความเป็นจริงในทุกกรณี เพราะกรมสรรพากรมักจะสอดส่องดูว่าบริษัทห้างร้านใดบ้างที่ใช้การออกตั๋ว PN ในการทำสัญญาซื้อขาย
คนในแวดวงธุรกิจตั้งประเด็นคำถามว่า แพทองธารได้ซื้อขายหุ้นกับญาติพี่น้องของตน แล้วออกตั๋ว PN ให้คนที่ตนเองซื้อขาย ทั้งนี้การอ้างว่าจ่ายเงินค่าซื้อขายหุ้นด้วยตั๋ว PN น่าจะเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง เพราะสร้างหนี้ปลอม และสร้างธุรกรรมปลอม จึงเข้าข่ายมีความผิด เพราะไม่ชำระภาษีให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป
หากการกระทำดังกล่าวของแพทองธารไม่ผิดกฎหมาย ต่อไปก็จะมีผู้ใช้กลอุบายนี้เพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี และอาจใช้เพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้เงินกับเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่อ้างว่าออกตั๋ว PN ให้เจ้าของเงินด้วยการออกตั๋ว PN ที่ไม่กำหนดเวลาชำระเงินคืน แถมยังไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ย ขอย้ำว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะส่อไปในทางทุจริตและทำผิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ซึ่งคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการระดับสูง ต้องไม่มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางฉ้อฉลเช่นนี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี