ชื่อบทความวันนี้มาจากประเด็นที่คุณสุทธิชัย หยุ่นโพสต์ตั้งไว้ในโซเชียลมีเดีย (X) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อให้สาธารณชนไปขบคิดกันต่อ ภายหลังคุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเรื่องการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note หรือ PN) ในการกู้ยืมเงินจากคนในครอบครัวและเครือญาติกว่า ๔.๔ พันล้านบาท โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนและไม่กำหนดดอกเบี้ยว่า....ส่อมีพฤติกรรมนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่...
ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์ ตราชูธรรมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษี อธิบายความหมายของการวางแผนภาษี (Tax Planning) การหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) และการหนีภาษี (Tax Evasion) ไว้ดังนี้...
การวางแผนภาษี หมายถึงการกำหนดวิธีปฏิบัติไว้ล่วงหน้าหรือการเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนและประหยัด การทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยที่สุดโดยใช้วิธีการที่ไม่ผิดกฎหมายหรือโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือเป็นการวางแผนภาษีด้วย นอกจากนี้การวางแผนภาษีอาการยังหมายถึงการจัดการธุรกิจหรือการงานส่วนตัวเพื่อช่วยทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดด้วย
การหลีกเลี่ยงภาษี หมายถึงการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ไม่ผิดกฎหมาย (Legal Means) เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง การใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย (Loophole) ความคลุมเครือ หรือจุดบกพร่องของกฎหมาย เพื่อทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงก็ถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกัน หรือการทำให้ขาดองค์ประกอบของการเสียภาษีก็ถือเป็นการเลี่ยงภาษีเช่นเดียวกัน
การหนีภาษี หมายถึงการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย (Illegal Means) หรือฉ้อฉล (Fraud) เพื่อที่จะต้องไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง
จากคำจำกัดความดังกล่าวจะเห็นได้ว่าแม้การวางแผนภาษีและการหนีภาษีจะมีวัตถุประสงค์เดียวกันก็คือการไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง แต่การวางแผนภาษีก็ต่างจากการหนีภาษี เพราะการวางแผนภาษีเป็นการทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยที่สุด โดยใช้วิธีการที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่การหนีภาษีถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง และมีโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
เช่นเดียวกัน...การวางแผนภาษีก็ต่างกับการหลีกเลี่ยงภาษี เพราะการวางแผนภาษีมีวัตถุประสงค์เรื่องความถูกต้องเป็นอันดับแรก ส่วนการประหยัดภาษีเป็นวัตถุประสงค์อันดับรองลงมา ในขณะที่การหลีกเลี่ยงภาษีมีวัตถุประสงค์เรื่องการทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดเป็นอันดับแรก ส่วนแรกของความถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญรองลงมา ดังนั้นการหลีกเลี่ยงภาษีจึงอาจมีการบิดเบือนหรืออำพรางความจริง
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหลายท่านก็มีมุมมองที่หลากหลายระหว่างการวางแผนภาษีกับการหลีกเลี่ยงภาษี เช่น บางท่านเห็นว่า การวางแผนภาษี หมายถึง การทำธุรกรรมจริง (Real Transactions) เพื่อที่จะบรรเทาภาระภาษี ในขณะที่การหลีกเลี่ยงภาษี หมายถึง การทำธุรกรรมที่ไม่เป็นความจริง (Artificial Transactions) เพื่อที่จะลดภาระภาษีโดยไม่ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐศาสตร์
ผู้เชี่ยวขาญบางท่านเห็นว่า การวางแผนภาษีเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นการกระทำที่เป็นสีเทา ขณะที่บางท่านเห็นว่ามีความแตกต่างกันน้อยมากระหว่างการวางแผนภาษีกับการหลีกเลี่ยงภาษี นักกฎหมายภาษีกลุ่มนี้มองการหลีกเลี่ยงภาษีที่ยอมรับได้ย่อมถือว่าเป็นการวางแผนภาษีเช่นเดียวกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ก็คือการวางแผนภาษีที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้การหลีกเลี่ยงภาษีจะเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็อาจขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายเพราะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ทางภาษีไปเป็นจำนวนมาก และยังขัดกับมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ปกครองที่ดีอีกด้วย
กรณีการใช้ตั๋ว PN ของคุณแพทองธารในการซื้อขายหุ้นแก่บุคคลในครอบครัวและเครือญาติก็เช่นกัน ถึงแม้จะมีคำอธิบายว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือมีพฤติกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลในครอบครัวเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี แต่นั้นไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ประชาชนตั้งคำถามกับนายกรัฐมนตรี
เพราะเหนือกว่าเรื่องของความถูกต้องทางกฎหมายแล้ว ยังมีเรื่องความชอบธรรม ที่ไม่ได้หมายความเพียงแค่คะแนนเสียงในสภา ๓๑๙ ต่อ ๑๖๒ เท่านั้น หรือเพียงแค่ผลโพลบางสำนักที่เป็นบวกกับรัฐบาล แต่ความชอบธรรมที่ว่านี้อยู่เหนือกว่าคณิตศาสตร์ทางการเมือง หรือข้อมูลเชิงประจักษ์ เช่น ผลโพล (ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีความถูกต้องแม่นยำ เป็นกลางขนาดไหน)อันได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความบริสุทธิ์ใจ ความยุติธรรม การมีหิริโอตตัปปะ หรือความละอายใจเกรงกลัวต่อการทำบาปทุจริต ประพฤติชั่ว.......เพราะถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้นายกรัฐมนตรีก็ย่อมจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน
ดังนั้น เมื่อเป็นเรื่องของความชอบธรรมแล้ว ทั้งฝ่ายค้านและสื่อมวลชนก็มีหน้าที่ต้องกลับไปขุดคุ้ยข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบและศึกษาให้อย่างถ่องแท้เพื่อพิสูจน์ว่ากรณีการใช้ตั๋ว PN ของคุณแพทองธาร นั้นมันถูกหรือผิด อย่างไร เป็นการวางแผนภาษี หลีกเลี่ยงภาษี หรือหนีภาษี หรือไม่จนแน่ใจว่าได้เรื่องจริงมาแล้ว ก็นำมาเขียนมาเล่าอย่างที่คนทั่วไปพึงเข้าใจได้ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่า...การใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ของคุณแพทองธาร ชินวัตร ในการกู้ยืมเงินจากคนในครอบครัวและเครือญาติกว่า ๔.๔ พันล้านบาท โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนและไม่กำหนดดอกเบี้ยมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด....
สุดท้าย เมื่อพูดถึงเรื่องของการเสียภาษีแล้ว ผมขอฝากสำเนาลายพระหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ ที่ได้พระราชทานจิตสำนึกและสิทธิความเสมอภาคในหน้าที่หรือในภาระที่จะต้องเสียภาษีอากรอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีพระราชอำนาจในพระราชทรัพย์ที่เป็นเงินแผ่นดินอย่างเด็ดขาด แต่ก็มิได้ใช้อำนาจนั้นเพื่อพระองค์เองแต่อย่างใด แต่ได้ใช้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ ดังสำเนาลายพระหัตถเลขาที่ขออัญเชิญมาเต็มองค์ ดังนี้
ที่ ๓/๔๙
วันที่ ๑๕ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๓๑
ถึง เจ้าพระยายมราช
ด้วยแต่ก่อนๆ มาการเก็บภาษีที่ดินและโรงร้านกรมพระคลังข้างที่ยังไม่ได้เคยเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานสรรพากรเลย บัดนี้ฉันมาไต่ตรองดู
เห็นว่าทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัวก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดฉันมาเอาเปรียบแก่คนทั่วไป ซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของๆ ผู้อื่นจะไปเก็บเอากับเขา ของๆ ตัวเองจะเกียจกันเอาไว้เพราะคนธรรมดาทั่วไปใครที่มีทรัพย์สมบัติเป็นที่ดินหรือโรงร้าน เมื่อถึงคราวที่เจ้าพนักงานจะเก็บภาษี เขาก็ต้องเสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานตามส่วนมากและน้อยของทรัพย์สมบัติที่เขามีอยู่, ตัวฉันเอง ถ้านอกจากในทางราชการแล้ว ฉันก็ถืออยู่ว่า ฉันเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทรัพย์สมบัติของฉันที่มีอยู่ก็นับว่าเป็นส่วนมาก ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของตนที่ได้มาจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้าง ฉันมีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติและบ้านเมืองอย่างคนสามัญด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เจ้าพระยายมราชเก็บภาษีอากรในที่ดินและโรงร้าน ซึ่งนับว่าเป็นสมบัติของส่วนตัวฉันเองอย่างเช่นที่ได้เคยเก็บมาจากคนอื่นๆ ทั่วไปนั้น
สยามินทร์
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี