“จริงๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด มันมีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นหลายเรื่อง เรื่องแรกคือต้องบอกว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการแข่งขันมันเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้มันสะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ก็คือด้วยเหตุผลของเทคโนโลยีหรือผลของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ปัจจุบันต้องบอกว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีการกระจุกตัวของอำนาจทางเศรษฐกิจและการผูกขาดในรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลามีปัญหาว่าเทคโนโลยีวิ่งเร็วกว่ากฎหมายไม่รู้กี่เท่าตัว”
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในวงเสวนา “พิรงรอง Effect : สะเทือนอุตสาหกรรมสื่อ?” ซึ่งจัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายอีกหลายองค์กร เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา และแม้ชื่องานเสวนาครั้งนี้จะอิงตามคดีดังที่เป็นข่าวใหญ่โตเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2568 แต่อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ อยากชวนให้ผู้ฟังมองเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้ และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นทั่วโลก ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นอุปสรรคของภาครัฐอย่างมากในการทำหน้าที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชน คือ กฎหมายเอกชนมีหลักว่าหากไม่ห้ามย่อมสามารถทำได้ ในขณะที่กฎหมายมหาชนซึ่งต้องการคุ้มครองสิทธิ์ของคนที่ได้รับผลกระทบจากอำนาจรัฐ จึงมีหลักว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐจะทำอะไรเรื่องนั้นก็ต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ทำให้จะพยายามเขียนกฎหมายอย่างไรก็ตามไม่ทัน หรือแม้จะมีกฎหมายออกมาแล้วแต่การทำความเข้าใจก็ยังเป็นเรื่องยาก
แต่เมื่ออำนาจไปกระจุกตัวอยู่กับผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือองค์กรกำกับดูแลมีปัญหาว่าใครกำกับใครกันแน่ และไม่ใช่เฉพาะในแวดวงสื่อ เมื่อมองไปยังแวดวงพลังงาน โทรคมนาคม สาธารณูปโภค การขนส่ง การเงิน ฯลฯ ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน นอกจากนั้น การทำงานขององค์กรอิสระต่างๆ หากมีอะไรบิดเบี้ยวในกระบวนการ เช่น การสรรหา แม้จะมีกฎหมายที่ดีแต่ก็ไม่สามารถทำให้องค์กรเหล่านี้ทำงานได้
หรือแม้กระทั่งการมาพูดถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือการแข่งขันที่เป็นธรรมก็ยังมีความสลับซับซ้อน อาทิ หากไปถามทุนภายในประเทศ ก็อาจได้รับเสียงสะท้อนว่า ในขณะที่มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการภายในประเทศ แต่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศไม่ได้ถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกันแบบนี้ผู้ประกอบการในประเทศจะไม่เสียเปรียบหรือ?
หรือการที่แพลตฟอร์มต่างๆ ไปใส่โฆษณาในเนื้อหาของช่องโทรทัศน์ปกติ (Free TV) ที่นำไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มของตนเอง ก็อาจมีเสียงโต้แย้งจากผู้บริโภคที่บอกว่าแม้จะไม่ได้ชอบโฆษณาเหล่านั้น แต่การที่สามารถเข้าถึง Free TV ผ่านแพลตฟอร์มก็เป็นประโยชน์กับตัวเขา หรือแม้แต่คนที่ได้รับผลกระทบในการแข่งขัน คือผู้ประกอบการ Free TV ก็ไม่แน่ใจว่าจะร้องเรียนหรือไม่? เพราะด้านหนึ่งก็ได้ยอดผู้ชม (Eyeball) เพิ่มขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมากระทบกับรายได้ในด้านอื่นของผู้ประกอบการหรือไม่?
“แม้กระทั่งตอนนี้ เอาว่าธุรกิจทั่วไปทั้งหมดนะ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสื่อแล้ว ปัญหาใหญ่ที่สุดของผู้ประกอบการในประเทศไทยวันนี้ก่อน เจอของราคาถูกที่เข้ามาในแพลตฟอร์มต่างๆ ถูกกฎหมาย-ผิดกฎหมาย ถามว่าจริงๆ ถ้าดูแลเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรมก็ต้องไปสกัด แต่หลายประเทศพอเริ่มสกัดเกิดอะไรขึ้น? ผู้บริโภคโวยว่า..อ้าว! กำลังได้ซื้อของถูกอยู่แล้วทำไมอยู่ดีๆ มาทำตรงนี้? โดยที่ผู้บริโภคเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดถึงว่าจริงๆ ถ้ามองยาวออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าวิธีการแข่งขันที่ใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจว่า “ฆ่าคู่แข่งก่อน” ครองตลาดแล้วค่อยว่ากัน” อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ กล่าว
ส่วนคำถามที่ว่า “ในเมื่อปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก..นั่นหมายความว่า “สิ้นหวังแล้ว ใช่หรือไม่?” อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ให้มุมมองว่า ตนไม่มีเจตนาทำให้ใครสิ้นหวัง และท้ายที่สุดยังเชื่อว่าจะมีวิวัฒนาการ แต่ปัญหาช่องว่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มาจากการที่กรอบความคิดตามไม่ทันความเป็นจริง และ ณ วันนี้ สิ่งที่ตนกลัวคือการกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะผู้นำทางเทคโนโลยีแต่ละค่ายมีมุมมองแตกต่างกัน
กล่าวคือ “สหรัฐอเมริกา” มีปรัชญาที่แทบจะเรียกว่าไม่ควบคุมอะไรเลยเพราะเชื่อว่าการควบคุมทำให้การพัฒนานวัตกรรมและการแข่งขันไม่เกิดขึ้น ขณะที่ “ยุโรป” จะตรงกันข้ามคือควบคุมทุกอย่างแล้วก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ส่วน “จีน” จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้กับสังคมของตนเองแบบควบคุมได้ แต่ก็ไม่สามารถส่งออกไปแล้วใช้รูปแบบเดียวกันได้ รวมถึงอาจมีคนที่ไม่อยากนำเข้ารูปแบบนั้นก็ได้
ดังนั้น “หากไม่อยากสิ้นหวังก็ต้องสร้างความตื่นตัวให้เห็นความสำคัญของการแข่งขันที่เป็นธรรม” รวมถึงความสำคัญของผู้บริโภคและผู้แทนของประชาชนที่จะต้องดูแลผู้บริโภค ต้องผนึกกำลังกันสร้างแรงกดดันต่อสู้กับผู้ที่มีอิทธิพล และตนก็มองว่าอย่าไปกล่าวโทษหรือมีอคติกับทุน เพราะเขาก็อยู่ในโลกการแข่งขันเช่นกัน ซึ่งตนเชื่อว่าทุนขนาดใหญ่ทุกค่ายก็จะอ้างว่าจำเป็นต้องใหญ่เพราะไม่เช่นนั้นก็สู้ต่างชาติไม่ได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายกำกับดูแล นอกจากนั้น แม้จะมีอิทธิพลอื่นพยายามครอบงำ แต่หากสังคมเป็นประชาธิปไตย เสียงจากประชาชนในวงกว้างก็ยังมีผลที่ทำให้ผู้มีอำนาจต้องตอบสนอง
ขณะที่ รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในวงการสื่อบันเทิง กล่าวคือ “ในขณะที่การทำละครซีรี่ส์ออกอากาศทางช่องโทรทัศน์ปกติ (Free TV) มีข้อห้ามต่างๆ มากมาย แต่การทำละครซีรี่ส์เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (OTT หรือ Streaming) ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเดียวกัน” ทำให้เกิดเสียงสะท้อนจากคนทำละครซีรี่ส์ป้อนให้ช่อง Free TV ว่าที่พวกตนถูกมองว่าเนื้อหาไม่ไปถึงไหนก็เพราะถูกควบคุม แต่หากให้อิสระแบบที่ป้อนให้แพลตฟอร์ม OTT ก็สามารถทำแบบนั้นได้เหมือนกัน!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี