28 มี.ค. 2568 – ที่กรมสรรพากร นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เดินหน้ายุทธการโรยเกลือหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยื่นร้องกรมสรรพากรให้ตรวจสอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี กรณีการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน(ตั๋ว P/N) ในการซื้อหุ้น เข้าข่ายทำนิติกรรมอำพราง หลบเลี่ยงหรือหลีกเลี่ยงภาษีที่ผิดกฎหมาย เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีการรับให้
1) นายวิโรจน์ ระบุว่า จะต้องมีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ และเป็นลายลักษณ์อักษร การกระทำในลักษณะแบบนี้ เข้าข่ายนิติกรรมอำพราง เจตนาที่แท้จริงคือ การรับให้หุ้นจากบุคคลในครอบครัว แต่กลับใช้เครื่องมือทางการเงิน เพื่อทำนิติกรรมอำพรางเปลี่ยนเจตนาการรับให้ เป็นการหลีกเลี่ยงภาษี 5% ใช่หรือไม่ เนื่องจากนางสาวแพทองธาร ไม่ใช่บุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้นำประเทศ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นฝ่ายบริหาร เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต่อสาธารณะ แม้นายปิ่นสายสุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร จะออกมาชี้แจงว่า สามารถทำได้ แต่เป็นการชี้แจงในลักษณะที่เชื่อว่า เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายจริงๆ แต่ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นนิติกรรมอำพราง
2) ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรชี้แจงในลักษณะว่าหากมีการชำระเงินตามตั๋ว P/N ผู้ขายที่เป็นบุคคลในครอบครัว หากมีกำไรจากการขายหุ้นก็ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ประเด็นข้อสงสัยต่อสาธารณะคือ นี่ไม่ใช่การซื้อขายจริงๆ ใช่หรือไม่เป็นเพียงการทำธุรกรรมซื้อขายทิพย์ เพื่อปิดบังเจตนาที่แท้จริงที่เป็นการรับให้หุ้นจากครอบครัว
3) นายวิโรจน์ กล่าวว่า การวินิจฉัยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นทางการ จึงมีความสำคัญมาก เพราะประชาชนทั่วไปมีความสงสัย หากประชาชนทำตามนายกรัฐมนตรี กรมสรรพากรจะอนุญาตให้ทำใช่หรือไม่จะไม่มีการเลือกปฏิบัติใช่หรือไม่ หากนายกรัฐมนตรีทำได้ ประชาชนทั่วไปก็จะต้องทำได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเรื่องโอนหุ้นอย่างเดียว แต่หมายถึงทรัพย์สินอื่นใดด้วย
4) ส่วนวิธีพิสูจน์ในการซื้อขายหุ้น จะต้องดูพฤติกรรมและเจตนา คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรสามารถตรวจสอบ และสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตนเองจึงทำหนังสือ เพื่อขอให้อธิบดีกรมสรรพากรดำเนินการตามมาตรา 13 สัตต (3) ของประมวลรัษฎากร ขอให้วินิจฉัยกรณีของนายกรัฐมนตรี ออกมาอย่างเป็นทางการ และลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของประชาชนทั่วไป
5) นายวิโรจน์ ยกตัวอย่าง พ่อค้าแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ขายแกง มีเจ้าหน้าที่ไปหา เพื่อขอให้จ่ายภาษีอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ ที่มีรายได้จากการรีวิวสินค้า และส่วนแบ่งจากโฆษณา ก็ถูกเร่งรัดการจัดเก็บภาษี ขณะที่กรณีพ่อค้าแม่ขายที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งหากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม
การให้ความเห็นของอธิบดีกรมสรรพากร ท่านเองอาจจะปักใจเชื่อโดยส่วนตัวว่าเป็นการซื้อขายกันจริงๆโดยไม่ได้ฉุกคิด แต่ขอชวนให้ท่านฉุกคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากนายกรัฐมนตรีทำได้ ประชาชนคนอื่นอาจจะทำบ้าง นายวิโรจน์ ย้ำว่า ตนเองไม่ได้มีปัญหาความเข้มงวดของกรมสรรพากร แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเสมอภาค ไม่ใช่ว่าพ่อค้าแม่ค้าอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ตามติด แต่กลับนายกรัฐมนตรี ปล่อยปละละเลย
6) นายวิโรจน์ชี้ว่า อะไรก็ตาม ที่เป็นช่องว่างทางกฎหมาย มีหลักคิดอยู่ 2 เรื่อง
เรื่องแรก คนที่ทำ-หากรู้สึกว่าเราทำถูกกฎหมายก็พร้อมเปิดเผยและแสดงตัวต่อสาธารณะ แต่การมีพฤติกรรมหลบๆ ซ่อนๆ เพราะตนเองมีความระแวงว่าอาจจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ก็สู้ได้ เพราะสามารถตีความตามตัวบทกฎหมาย และลายลักษณ์อักษรให้ทนายโต้ ก็มีแนวโน้มว่าจะชนะ
เรื่องที่สอง อะไรก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะยิ่งทำได้ยิ่งดี กรณีนายกรัฐมนตรี หากทำได้ถูกต้อง แล้วทุกคนทั้งประเทศที่มีความมั่งมีทำบ้าง สาธารณะและรัฐจะได้ประโยชน์ สุดท้ายจะเป็นผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการจัดเก็บรายได้
7) ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุยื่นบัญชีทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว แต่การยื่นบัญชีทรัพย์สิน
ไม่ได้หมายความว่า การชำระภาษีถูกต้องครบถ้วน ตนเองทำใจเป็นกลาง อยากได้คำวินิจฉัยจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร หากตีความว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะประชาชนทำได้ ประชาชนคนอื่นก็ทำได้ แต่หากมองว่า มีความเสียหายในการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน หมายความว่า ต่อจากนี้ไปภาษีรับให้ไม่สามารถจัดเก็บได้เลยใช่หรือไม่
8) สำหรับกรณีบุคคลในครอบครัวของนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้มีเรื่องค่าอากร หากเป็นสัญญาเงินกู้ และการเป็นหนี้ระดับร้อยล้านพันล้าน จะมีค่าอากรที่เสียจำนวน 9 ฉบับ รวมเป็นเงิน 90,000 บาท หากมีการใช้ตั๋ว P/N ค่าอากรจะตกอยู่ที่ฉบับละ 3 บาทรวม 9 ฉบับ 27 บาท ซึ่งการเลือกใช้ตั๋ว P/N ก็เพื่อประหยัดค่าอากร ไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการบริหารภาษี แบบดุดันไม่เกรงใจใคร
9) นายวิโรจน์ อธิบายว่า การใช้ตั๋ว P/N เป็นเครื่องมือทางการเงินไม่ได้ผิดอะไร การให้เครดิตระยะสั้น สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือ ตกลงแล้วกรณีนี้ เจตนาที่แท้จริงเป็นการซื้อขายจริงหรือไม่ หรือเป็นการซื้อขายทิพย์ ซื้อขายเป็นรูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่ โดยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เรื่องนี้ดูแค่ปลายทางไม่ได้ ต้องดูถึงพฤติการณ์ อาจจะต้องย้อนดูถึงการยักย้ายถ่ายเทหุ้นของนายกรัฐมนตรีกับคนอื่นๆ ด้วย จะได้ดูว่าพฤติการณ์ ในลักษณะนี้น่าจะเป็นการซื้อขายกันจริงๆ หรือที่ผ่านมา มีการยักถ่ายเทหุ้นกันบ่อยครั้ง
10) นายวิโรจน์ ระบุว่า นายกรัฐมนตรี อยู่ในวิสัยที่รู้ว่านี่คือช่องว่างทางกฎหมาย คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี พบช่องว่างทางกฎหมาย ในฐานะที่ถืออำนาจรัฐ สามารถมีข้อสั่งการต่อระบบราชการได้ควรเปิดช่องว่างหามาตรการแก้ไข หรือจะหาประโยชน์จากช่องว่างนั้นเสียเอง หากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรมีคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางว่า สามารถทำได้รับรองว่าถูกต้องดื้อๆ ในปีภาษีถัดไปจะพบกับความเสียหายแน่นอน ภาษีการรับให้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อมีคำวินิจฉัยเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งอธิบดีกรมสรรพากร และคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร จะต้องมีความรับผิดทางกฎหมาย เพราะสุดท้ายภาษีรับให้จัดเก็บไม่ได้เลย
“ประชาชนจะโอนหุ้น โอนที่ดินให้ลูก บอกว่าใช้วิธีตั๋ว P/N หรือใช้เครื่องมือการอื่นใดที่ไม่มีกำหนดชำระและอัตราดอกเบี้ย สุดท้ายประเทศจัดเก็บภาษีไม่ได้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะต้องมีการเอาผิดกับอธิบดีกรมสรรพากร และคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ปรากฏชื่อวินิจฉัย” นายวิโรจน์ ระบุ
11) นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยให้ นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเพราะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม
ตามรธน.มาตรา 160 (4) (5) โพสต์เฟซบุ๊กว่า...
หลังเสร็จการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว สส.พรรคฝ่ายค้านควรเข้าชื่อ สส. 1 ใน 10 หรือไม่น้อยกว่า 50 คนเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
ด้วยเหตุที่ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 16 0(4) ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจและตรวจสอบพบการกระทำของแพทองธาร ชินวัตร ที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่อาจทำให้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.การทำตั๋วสัญญาการใช้เงิน (Promissory Note) ในการกู้ยืมเงินจากคนในครอบครัววงเงิน 4,434 ล้านบาท โดยไม่มีการกำหนดเวลาชำระคืนและไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่
2.ตั๋วสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.2559 นานถึง 9 ปี แต่ไม่มีการชำระเงินและดอกเบี้ย ไม่ระบุในสัญญาว่าจะชำระเมื่อใด อีกทั้งผู้ขายหุ้นส่วนใหญ่ ไม่ใช่พ่อแม่ แต่เป็นพี่สาว 2,388 ล้านบาท พี่ชาย 335 ล้านบาท,ลุง 1,315 ล้านบาท ป้าสะใภ้ 258 ล้านบาท ขณะที่มารดาเป็นผู้ให้หุ้นเพียง 136 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเชื่อได้ว่า บุคคลที่เป็นเครือญาติเหล่านั้น รีบร้อนขายหุ้น ให้ผู้รับที่ไม่พร้อมจะจ่ายเงิน และผ่านมานานถึง 9 ปี ยังไม่มีการชำระหนี้ใดๆ อีก เมื่อผู้ซื้อเป็นนายกรัฐมนตรี ยื่นบัญชีทรัพย์สินมีมากกว่า 13,000 ล้านบาทแสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวได้อาจเข้าข่าย การทำนิติกรรมอำพราง หรือหลบเลี่ยงการชำระภาษี และอาจแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ถือเป็นกรณีที่เป็นรัฐมนตรีมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริต และประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
3.การถือหุ้น เป็นกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัทอัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ทคลับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-4 กันยายน 2568 ซึ่งมีปัญหาเป็นที่ธรณีสงฆ์เนื่องจากเป็นที่ดินตามพินัยกรรมมรดกของนางเนื่อมชำนาญชาติศักดา ที่มอบให้วัดธรรมิการามเพื่อใช้หาประโยชน์ทำนุบำรุงศาสนา เป็นที่ธรณีสงฆ์ตามคำพิพากษาและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นที่ยุติแล้ว การครอบครองและบริหารที่ดินดังกล่าวหาประโยชน์ กำไร จึงเป็นการหาประโยชน์มิควรได้ จากที่ดินธรณีสงฆ์อันเป็นที่ดินของรัฐดังกล่าว
เช่นเดียวกันกับที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงและตัดสิทธิทางการเมืองอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกรณีครอบครองที่ดินป่าสงวนเขาใหญ่ และคดีให้ สส. พ้นจากตำแหน่ง ตัดสิทธิ์การเมืองกรณีครอบครองที่ดินป่าสงวน ราชบุรี ถือเป็นบรรทัดฐาน ที่ศาลฎีกาเคยวางเรื่องการประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองไว้แล้ว
4.พิจารณาดูให้ชัดเจนใน ประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564 ข้อ 6 (2) ข้าราชการการเมืองต้องยึดมั่นในกฎหมายและไม่ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
นายกรัฐมนตรีเป็นข้าราชการการเมืองที่ต้องปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม ขณะนี้เข้าข่ายต้องสงสัยว่ามีความผิดจริยธรรมข้าราชการการเมืองด้วยการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายอันเป็นการผิดตามประมวลจริยธรรมข้าราชการการเมือง ข้อ 6 (2) หรือไม่
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พรรคฝ่ายค้านจะได้พิสูจน์ตัวเองในการทำหน้าที่อย่างแท้จริงสมศักดิ์ศรีด้วยการ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า เรื่องการทำสัญญาตั๋วใช้เงิน P/N 4.4 พันล้านบาท ที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่า อาจเป็นนิติกรรมอำพรางหรืออาจเลี่ยงภาษี และการถือครองที่ธรณีสงฆ์ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่ธรณีสงฆ์ของนายกรัฐมนตรี อาจถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายไม่สุจริตเป็นที่ประจักษ์และประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงจะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เว้นแต่ฝ่ายค้านไม่เอาจริง แค่ปาหี่ไป วันๆ
สรุป : งานนี้ จึงเป็นการ “ไม่ไว้วางใจ” ฝ่ายค้านว่าเป็นแค่มวยชกโชว์ หรือจะเป็นมวยชกจริง ที่สามารถ “น็อก” แพทองธารได้ด้วยข้อกฎหมายที่ชัดแสนชัด แต่ฝ่ายค้าน...ไม่ทำ!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี