โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ ความสูงกว่า 30 ชั้น มูลค่าสองพันกว่าล้านบาท ถล่มลงมาหลังแผ่นดินไหว
เป็นอาคารหลังเดียวที่ถล่มลงมา
เป็นอาคารที่ผู้รับเหมาก่อสร้างงานโครงสร้างหลักเสร็จแล้ว เหลือแค่การตกแต่ง โดยประกาศแจ้งข่าวไว้ก่อนหน้านี้ด้วย
เกิดข้อสงสัยว่า อาคารถล่มลงมาเพราะแผ่นดินไหว เหตุสุดวิสัย หรือเพราะมีการทุจริตโกงกินอย่างใดด้วย หรือไม่?
1. เหตุการณ์ครั้งนี้ก่อเกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล คนตายหลายสิบคน
จะต้องมีการตรวจสอบค้นหาความจริงทุกด้าน
ทั้งด้านการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย และการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง
หากโครงการนี้ตกแต่งเสร็จ ส่งมอบเรียบร้อย มีการเข้าไปใช้งานเต็มที่ แล้วเกิดแผ่นดินไหวขึ้นภายหลัง เกิดพังถล่มเช่นนี้ ความสูญเสียและเสียหายจะมากกว่านี้หลายร้อยเท่าตัว
2. โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงาน สตง.แห่งใหม่นี้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2563
โครงการเสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563
ต่อมา ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท
สัญญาเลขที่ 021/2564 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 จ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี - ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จํากัด) ก่อสร้างอาคารที่ทําการ สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้าง ประกอบ จํานวนเงิน 2,136,000,000 บาท
จากนั้น ได้ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดยกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์จำกัด บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัทเคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงาน ด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท
สัญญาเลขที่ 024/2564 ลงวันที่ 16 มกราคม 2564 จ้างกิจการร่วมค้า (Joint Venture) PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จํากัด, บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จํากัด และ บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จํากัด) ควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทําการ สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จํานวนเงิน 74,653,000 บาท
มีรายงานว่า โครงการนี้ ใช้เทคนิคการก่อสร้างอาคารแบบสมัยใหม่ ก่อสร้างอาคารสูงแบบพื้นไร้คาน อาศัยเสาค้ำพื้น
3. ในระหว่างการก่อสร้าง พบว่า สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขยายระยะ เวลาก่อสร้างจํานวน 155 วัน ทําให้ครบกําหนดสัญญาในวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
ครั้งที่ 1 เนื่องจากงานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมในพื้นที่ การหยุดงานก่อสร้างตามประกาศของทางราชการอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีงานพิธีวางศิลาฤกษ์ รวมเป็น ระยะเวลา 58 วัน
ครั้งที่ 2 เนื่องจากการแก้ไขแบบก่อสร้าง กรณี Load Factor, Core Wall และการสัญจรของรถบรรทุกในชั้นใต้ดิน รวมเป็นระยะเวลา 97 วัน
ทําให้ระยะเวลาก่อสร้างขยายจาก 1,080 วัน เป็น 1,235 วัน
ล่าสุด ครม. เมื่อเดือน ก.พ. 2568 ได้อนุมัติวงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้าง พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ซึ่งจํานวนเงินที่จะต้องใช้ในการจ้างควบคุมงานเนื่องจากการขยายระยะเวลาก่อสร้าง มีวงเงินเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติดังกล่าว
4. ข้อพิรุธ
นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยว่า จากการที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลงนามใน “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ที่พังถล่มเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พบว่า การก่อสร้างหย่อนประสิทธิภาพ เห็นได้จากการก่อสร้างล่าช้าผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วงๆ ซึ่งได้ทักท้วงมาโดยตลอด
“..โดยปกติ โครงการจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เริ่มเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา(TOR) เพื่อป้องกันการล็อกสเปก การฮั้วประมูล และการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง ให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายอย่างเปิดเผยโปร่งใส
แต่โครงการนี้ กลับไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่ต้น ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมในขั้นตอนดังกล่าว
ทั้งนี้ ทาง สตง.เป็นผู้ติดต่อขอให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการนี้เอง เนื่องจาก สตง.มีภารกิจตรวจสอบผู้อื่น เพื่อเป็นแบบอย่างการเปิดเผยโปร่งใส จึงต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้ามาร่วมให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรคอร์รัปชันฯ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังจาก สตง. คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรวมทั้ง TOR ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้รับเหมาโครงการนี้มีการหยุดงานเป็นช่วงๆ ในช่วงแรก และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนมกราคม 2568 สตง.แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง..”
นายมานะ ระบุว่า ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีขอบข่ายหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารสัญญาก่อสร้างว่าถูกต้องตรงตามแบบก่อสร้างตามสัญญาหรือไม่ หากมีการแก้แบบ เพิ่มลดงานหรือวัสดุก่อสร้าง สตง. และผู้ควบคุมงานจะต้องแจ้งให้ผู้สังเกตการณ์ทราบ ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทางวิศวกรรมระหว่างการก่อสร้าง เช่น การแก้แบบ เพิ่มลดงาน เปลี่ยนวัสดุก่อสร้าง หรือดึงงานล่าช้าเป็นความรับผิดชอบของ สตง.และบริษัทผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ได้รับว่าจ้างเป็นผู้กำกับควบคุมผู้รับเหมาให้ก่อสร้างตามสัญญา
ทั้งนี้ “โครงการข้อตกลงคุณธรรม(Integrity Pact)” เป็นมาตรการสากล ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ นำแนวคิดมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยนำเสนอให้รัฐบาลไทยนำมาใช้ตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการเมกะโปรเจกท์ ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีผู้ทรงคุณวุฒิอาสาปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อิสระจำนวน 252 คน ร่วมสังเกตการณ์ 178 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ประหยัดงบประมาณประเทศได้ 77,548 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 ของงบประมาณรวม
5. สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม และ วสท. ตรวจสอบคุณสมบัติที่สำคัญของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการไปยังทีมสุดซอย พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปเก็บหลักฐาน ที่จุดเกิดเหตุบริเวณตึก สตง.ถล่ม ซึ่งหากพบว่าทางผู้ก่อสร้างมีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะใช้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเอาผิดถึงที่สุด และขยายผลไปยังโรงงานผลิตเหล็กด้วย
ตามแบบแปลนโครงสร้างตึกของ สตง. ที่กำลังก่อสร้าง มีความสูง 30 ชั้น ต้องดูว่าใช้เหล็กแบบใด
“คาดว่าต้องใช้เหล็กเส้นข้ออ้อย (ที่เป็นเส้นกลมมีบั้ง) คาดว่าขนาด DB16 DB20 DB25 เป็นหลักในการเสริมแรงโครงสร้างคอนกรีต โดยเฉพาะในส่วนของ เสา คานพื้น และฐานราก เพื่อรองรับน้ำหนักและแรงอัด แรงดึง และแรงเฉือน และหากมีการใช้เหล็กเส้นข้ออ้อยที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามหลักทางวิศวกรรม จะทำให้โครงสร้างเปราะและแตกหักง่าย เพราะส่วนประกอบของเหล็กที่มีสัดส่วนคาร์บอนหรือสัดส่วนโบรอน(ธาตุชุบแข็งเหล็ก) มากเกินไป ก็จะทำให้เหล็กมีความแข็งแต่เปราะ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือแรงกระแทกที่รุนแรง จะทำให้เหล็กหักเป็นท่อนๆ แทนที่จะโค้งงอและดูดซับแรง ส่งผลให้โครงสร้างตึกถล่มลงมาได้” – โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กระทรวอุตสาหกรรมได้เดินหน้าตรวจสอบการผลิต นำเข้า จำหน่ายเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตและจำหน่ายที่เป็นบริษัทร่วมจดทะเบียนและบริษัทต่างชาติ ไปแล้วรวม 7 ราย ล่าสุดได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กทุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพราะไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และยังตรวจเจอสินค้า เหล็กเส้นข้ออ้อย SD 40 และSD 50 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ตาม มอก. 24-2559 ทดสอบโดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยด้วย จึงมีการสั่งลงโทษตามกฎหมาย เพื่อตัดต้นตอความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอันตรายต่อประชาชน
6. มหาดไทยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ทางการไทยจะเร่งพิสูจน์ให้ได้ว่า เหตุใดอาคารจึงถล่ม เพราะอาคารนี้เพิ่งก่อสร้างและได้รับการออกแบบที่ต้องรองรับและทนต่อการเกิดแผ่นดินไหวแล้ว
กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริง และรายงานมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 7 วัน เพื่อตอบข้อสงสัยของประชาชนและสังคมให้เป็นที่กระจ่าง
“เนื่องจากอาคาร สตง.หลังใหม่ที่พังถล่มนี้ เป็นอาคารของทางราชการ จึงไม่ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานท้องถิ่น คือ กรุงเทพมหานครในการก่อสร้าง ดังนั้น การสอบสวนจึงจะ
ดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ
1) ผู้ออกแบบ
2) ผู้ควบคุมงาน
และ 3) ผู้รับเหมาก่อสร้าง
หากผลการสอบสวนออกมาว่า ผู้ก่อสร้างได้ทำตามแบบและขั้นตอนทุกอย่าง ความผิดของผู้รับเหมาก็จะลดน้อยลงไป
แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่า มีการทำที่นอกเหนือจากแบบ และมีการใช้วัสดุที่ไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ ก็จะต้องได้รับผลตามที่กฎหมายกำหนด
กระทรวงมหาดไทย และทางการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม” นายอนุทินกล่าว
7. เบื้องต้น ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบตามสัญญา
ตามเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) พบเงื่อนไขข้อ 16 ระบุชัดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยตลอดอายุสัญญา
มีรายงานว่า มีการทำประกันภัย Contractor All Risk (CAR) มูลค่าทั้งสิ้น 2,241 ล้านบาท โดยมีบริษัทประกันวินาศภัย 4 แห่งร่วมรับประกันตามสัดส่วน ได้แก่ ท. 40% ก. 25% อ.25% และ ว.10% (ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยเหล่านี้ก็อาจทำประกันภัยต่อ (Reinsurance) ไปยังผู้รับประกันภัยต่อได้)
นอกจากนี้ เมื่อตึกถล่มก่อนจะส่งมอบงานงวดสุดท้าย หากเหตุไม่ได้เกิดจากฝ่าย สตง. ฝ่ายผู้รับเหมาก็จะต้องรับผิดชอบก่อสร้างตามสัญญา
ผู้รับเหมาต้องซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง
รวมถึงการรับผิดชอบต่อผู้เสียหายอื่นๆ ซึ่งต้องมีการทำประกันภัยไว้ด้วย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้ว่าจ้าง ตอนนี้ คือ ผู้เสียหาย
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบเรื่องนี้ ควรต้องย้อนไปถึงจุดเริ่มของโครงการ การกำหนดทีโออาร์ การประมูล ฯลฯ
การได้ผู้รับเหมารายนี้มาอย่างไร? ถูกต้องครบถ้วนตามขั้นตอนทั้งหมดหรือไม่?
ประเด็นนี้ สำนักงาน สตง. จะเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบ
ล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งต่อสาธารณชนว่า
“สตง. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้น และจะได้ชี้แจงให้ทุกท่านทราบโดยเร็วต่อไป”
....จบ...
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี