แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำอาคารก่อสร้างสำนักงาน สตง. ความสูง 30 ชั้น มูลค่ากว่าสองพันล้านบาท พังถล่มลงมา คาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
ทั้งๆ ที่ การก่อสร้างในส่วนโครงสร้างอาคารดังกล่าว น่าจะเสร็จแล้ว
จึงเกิดคำถามกับมาตรฐานการก่อสร้างในกรณีตึกหลังนี้
แต่ลองคิดดู... ถ้าไม่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ตึกก็คงยังไม่ถล่ม แต่เมื่ออาคารส่งมอบ เปิดใช้งาน มีคนเข้าไปทำงาน ถ้าเกิดแผ่นดินไหวเวลากลางวันที่มีคนทำงานอยู่เต็มตึก 30 ชั้น ความสูญเสียจะมหาศาลขนาดไหน
ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลถึงความปลอดภัยของอาคารสูงทั่วกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ว่าอาคารจะยังไหวหรือไม่?
การตรวจสอบอาคารว่ามีความปลอดภัยแค่ไหน นับเป็นวาระแห่งชาติไปโดยปริยาย
ประชาชนจำนวนมาก กำลังต้องการคำตอบว่า คอนโดฯอาคารชุด ตึกที่ตนเองอยู่อาศัย มีความปลอดภัยหรือไม่?
โดยเฉพาะบางตึกที่มีรอยร้าว มีร่องรอยความเสียหาย จะต้องทำอย่างไร หากอยู่อาศัยต่อปลอดภัยหรือไม่?
1. น่าชื่นชม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดศูนย์วิศวกรอาสา ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม
โดยเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเบื้องต้นด้านโครงสร้างอาคารและความปลอดภัยหลังแผ่นดินไหว สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดขอนแก่น
ชาวบ้านที่พบรอยร้าวหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความมั่นคงของอาคาร สามารถส่งรูปภาพเบื้องต้น มายัง link : https://line.me/ti/p/T8_f5KVtkO
เพื่อให้ทีมวิศวกรอาสา จากคณะฯ ช่วยวิเคราะห์เบื้องต้นพร้อมให้คำแนะนำโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นับเป็นบริการที่ตรงความต้องการ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้อย่างดียิ่ง ขอชื่นชม
2. รัฐบาลควรเปิดพื้นที่ให้บริการความรู้เช่นนี้ ออกไปสู่ประชาชนโดยด่วนที่สุด
ผ่านช่องทางสื่อสารทุกช่องทาง ทุกรูปแบบ และการตรวจสภาพจริงทุกตึก
อย่าลืมว่า แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้ รุนแรงที่สุดเท่าที่กรุงเทพฯ เคยประสบ
3. ตัวอย่างการให้ความรู้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนในวันนี้
คุณ Phattrawut Mungmanee วิศวกร ได้ตอบคำถามข้อสงสัยแบบเข้าใจง่ายๆ ในประเด็นว่า เมื่อตึกร้าว, คอนโดพัง หลังจากเกิดแผ่นดินไหว แบบไหนถึงเรียกว่า #ไม่ควรเข้าตึก อยู่ให้ไกลxประเมินให้ทีว่ามันฉิบหายระดับไหน
“1) #คานแตกจนเห็นเหล็ก = วิ่งสิครับ!! รออะไร
เพราะ : ความสามารถรับน้ำหนักจะ ลดลงทันที, อันตรายเพราะฝืนใช้ต่อไป น้ำหนักจากผนัง พื้น คน → ทำให้คาน ฉีกและทรุด ได้แม้ไม่มีแรงสั่นอีก
2) เช็คเสา ถ้าพังร้าว #เสาพังจนเห็นเหล็กปลอก (Stirrups) =วิ่งอีกทีครับ
เพราะเสาคือ “หัวใจการพยุงอาคาร” → หากเกิดรอยร้าวเฉือนเฉียงแบบ X-shaped หรือ Concrete หลุดล่อน...อาคารอาจจะพังถล่มลงทันที โดยไม่มีอาฟเตอร์ช็อกด้วยซ้ำ ถ้ามีแรงใช้งานเพิ่ม เช่น น้ำฝน, ของหนัก, คนเดิน (มี Load กระทำมันอยู่)
3) #รอยแยกที่จุดต่อ (Joint Failure) เช่น จุดต่อคาน ถนนพระรามสอง มันเคลื่อนไม่ลงล็อก = วิ่งให้ไวกว่าเดิม x3(ยกกำลัง2)
แผ่นดินไหวจะ “กระตุก” ส่วนที่เป็น Connection เช่นเสา-คาน, คาน-พื้น
ถ้าเกิดการฉีกขาดของ Grout หรือรอยต่อพิเศษ (เช่น Post-tension) → จะเกิด Loss of Integrity, โครงสร้างจะ “โยกหลวม”แม้จะยังยืนอยู่ แต่ “สูญเสียความสามารถแบกรับน้ำหนักซ้ำซ้อน” (เหมือนข้อต่อกระดูกเราหลุด)
เช่น รอยต่อของจุดรับน้ำหนักคาน บนพระราม 2 เคลื่อน = วิ่งครับ!!!
4) #พื้นแอ่น (Slab Punching) = หนีไปครับ RUNx4
ไม่ว่าจะอยู่ด้านบน หรือ ด้านล่าง แอ่นปุ๊บ = บายยยย
เพราะแรงจะกระทำแนวดิ่งสะสมที่ “หัวเสา” (เช่น Flat Slab) → เกิดการ “เจาะทะลุของเสา” ขึ้นพื้น (Punching Shear)
แผ่นพื้นจะ “แอ่นลง → แตก → ทะลุลงมาทั้งยวง” ได้ทันที เมื่อมีคนเดินหรือของหนักเพียงเล็กน้อย หัวแตก โดนพื้นทับ เป็นปลาหมึกแถวบนเลยครับ
“อาคารที่เคยผ่านแผ่นดินไหวแรงแล้วไม่พังทันที → ปลอดภัย”
คือมันยังไม่ปลอดภัยครับ และถ้า สังเกตได้ 4 จุดนี้ นอนสวนสาธารณะที่ ผู้ว่าฯชัชชาติ เขาเปิดให้สบายใจกว่าครับ
ยังไม่พอ ต่อให้ไม่เกิด #อาฟเตอร์ชอค โครงสร้างก็อาจเข้าสู่ “ภาวะอ่อนล้าเชิงโครงสร้าง” (Structural Fatigue) โดยไม่รู้ตัว และจะพังแบบ Progressive Collapse (พังลามทั้งระบบ) ได้ง่ายมากหากมีแรงเพิ่มอีกแม้เพียงเล็กน้อย
เช่น ยังมีคนเดินเยอะ ไม่กั้นพื้นที่ ไม่เสริมแรงเหล็ก เสาไม่เสริมคาน ฯลฯ คนยัง ผ่านไปมา เพ่นพล่าน , ฝนดันตก น้ำท่วมขังบนพื้น, จู่ๆ ก็เอารถรถเข็นหนักไปวิ่งบนนั้น, เครื่องปรับอากาศแขวนก็ยังห้อยต่องแต่งอยู่... มันคือ Load ที่กระทำต่อโครงสร้างทั้งนั้น
ให้นึกภาพว่า กระดูกหัก แต่น้ำหนักเท่าเดิม ก็พังใช่ไหมครับ โครงสร้างก็แบบนั้น กล้ามเนื้อคือคอนกรีต , กระดูกคือเหล็กเสริมข้างใน, ระบบไฟฟ้า ประปา คือเส้นประสาท ฯ อะไรฉีกพัง ก็ต้องระวังหมด แต่ถ้ากล้ามเนื้อพังจนเห็นเหล็ก สักวันเหล็กก็จะล้า เหมือนกระดูกหัก ร่างกายก็จะรับน้ำหนักตัวเองไม่ได้ ยังไม่พอ ยังไปเพิ่มน้ำหนักให้มันอีก ก็ยิ่งพังไป แต่กลับกันตรงที่มันคือโครงสร้าง .. ก็ยิ่งต้องระวังครับ
สรุป คือ หากอาคาร ผ่านแผ่นดินไหวแรง 1 ครั้งแล้วเกิดรอยร้าว / แตกร้าวในเสา-คาน-พื้น → ห้ามใช้งานต่อโดยไม่ตรวจสอบ
เพราะมันอาจพังลงมาเองได้แม้ “ไม่มีอาฟเตอร์ช็อกเลย”...”
4. กรณีของจริง ประเมินคร่าวๆ เพื่อให้เกิดความตระหนักด้านความปลอดภัย
คุณ Phattrawut Mungmanee ยกตัวอย่างบางกรณี อาทิ
4.1 เสาโครงสร้างหลักแตกร้าวลึก
แบบนี้ “ระดับความฉิบหาย”: (8/10)
“ระดับความน่าอยู่”(1/10)
“ความยากในการซ่อมแซม” : (8/10)
“โอกาสพังซ้ำ/ถล่ม”: (7/10)
#คำอธิบาย : “เสาโครงสร้างหลักแตกร้าวลึก → เสี่ยงพังเฉียบพลัน”
เคสนี้ดัง : เสาคอนกรีตที่แตกล่อนชั้นนอก ซึ่งเผยให้เห็นเหล็กเสริมบางส่วนด้านในและมี เศษปูนหลุดร่วงกระจายอยู่รอบฐานเสา “วิกฤตเฉพาะจุด” (Localized Critical Failure) : ยังพอซ่อมได้
องค์ประกอบแบกรับน้ำหนักแนวดิ่ง ถ้าอ่อนแรง → มีโอกาสทำให้ “ชั้นบนถล่ม”
วิธีแก้ = หยุดอยู่ใกล้ หยุดใช้พื้นที่ ทำค้ำยันกระจายแรง รักษาเสถียรภาพน้ำหนักโดยรอบให้เหมือนฟังก์ชั่นเสาเดิม ผ่อนน้ำหนักเสาหลัก แล้วทำการเสริมโครงสร้าง (Jacketing หรือ Retrofitting)
ถ้าเจ้าของ ฯลฯ ปะปูนซ่อมแล้วทาสีจบ → วิ่งเลยครับ หนีออกไปครับ 555555 เพราะมันจะทำให้อาคารพังโดยไม่มีใครรู้ตัว
ถ้าเจ้าของยังให้ใช้งานพื้นที่ใต้เสานี้ ไม่ว่าจะเป็นจอดรถ หรือพักคอย ก็ R.I.P นะครับ เจอกันภพหน้า ว่ากันใหม่
4.2 ร้าวลึกบนผนังรับแรง
แบบนี้ “ระดับความฉิบหาย”: (7/10)
“ระดับความน่าอยู่”: (2/10)
“ความยากในการซ่อมแซม”: (7/10)
“โอกาสพังซ้ำ/ถล่ม”: (5/10)
#คำอธิบายสั้นๆ: “ร้าวลึกบนผนังรับแรง อาจกระทบเสถียรภาพตึก”
อันนี้ คือ ตัวอย่าง “ความเสียหายทางโครงสร้าง” ที่ร้ายแรงและเป็นสัญญาณอันตรายสูงมาก ถึงมากมากมากมากมาก = อยู่ให้ไกลเลยครับ น่ากลัวมาก
รอยร้าวขยายกว้างและแตกแบบ “เฉือน (Shear)” ผสม “ดึง (Tensile Crack)” → แปลว่าอาคารเคลื่อนตัวอย่างรุนแรง
ถ้าตรวจสอบแล้ว วิบัติถึงผนังโครงสร้าง (Structural Wall) → ต้องตรวจสอบด่วน เพราะมีผลกับระบบทั้งอาคาร
4.3 โครงสร้างรับพื้นเสียหายโดยตรง
แบบนี้ “ระดับความฉิบหาย”: (9/10)
“ระดับความน่าอยู่”: (0/10)
“ความยากในการซ่อมแซม”: (9/10),
“โอกาสพังซ้ำ/ถล่ม”: (8/10)
#คำอธิบายสั้นๆ “โครงสร้างรับพื้นเสียหายโดยตรง เสี่ยงพังลามชั้นอื่น”
นี่คืออาการ พังจริง ไม่ใช่แค่ร้าว และต้องจัดการในระดับ “วิกฤตโครงสร้าง”
อาคารนี้ ไม่ควรให้ผู้อยู่อาศัยเข้าใช้งานเด็ดขาด จนกว่าจะมีรายงานรับรองความมั่นคงจากวิศวกร
เห็นเหล็กเสริมเปลือย : ร้ายแรง → แสดงว่าความสามารถรับแรงดึงหายไปบางส่วน
พื้นที่เสียหายกว้างขวาง : พังมากกว่า 1 ห้อง → เสี่ยงเชิงระบบ
เสียหายแนวเดียวกับหน้าต่างหลายบาน → เสี่ยงต่อการล้มพังแนวหน้าอาคาร
ไม่มีการเสริมค้ำ→ ต้องปิดพื้นที่ทันที
ในกรณียังจะซ่อม ก็จะบรรลุโสดาช่างปฎิโมก เทพประทาน จากสวรรค์ชั้นรอยเลื่อนที่7
5. จะเห็นว่า อาคารหลังแผ่นดินไหว ที่มีรอยร้าว มากน้อยจุดไหนบ้าง ต่างกันไปนั้น คือ “อาการ”
แต่คนที่จะวินิจฉัยอาการได้ จะต้องมีความรู้
มิใช่ใช้ความรู้สึก
และที่สำคัญ จะต้องตรวจสอบสภาพจริงโดยตรง จะชัวร์ที่สุด
เราคงไม่อยากเห็นว่า หลังจากนี้ หากเกิดพายุฝนลมแรง หรือแผ่นดินไหวอีก แล้วอาคารที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากครั้งนี้ เกิดพังถล่ม เกิดความสูญเสียใหญ่หลวง
ทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการตรวจสอบและเข้าไปแก้ไข-ปรับปรุง-ซ่อมแซม-เสริมโครงสร้างอาคาร ตั้งแต่ตอนนี้
ถ้าไม่ทำ คนต้องรับผิดชอบสูงสุด คือ รัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรง ที่จะต้องให้บริหารจัดการเพื่อให้มีการดำเนินการเหล่านี้
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี