ต้องยอมรับว่าการศึกสงครามในสมัยโบราณนั้น ถือเป็นการรบที่แสดงถึงความกล้าหาญของทหารทุกฝ่ายทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับแม่ทัพหรือพลทหารก็ตาม เพราะเป็นการเข้ารบปะทะซึ่งหน้าตัวต่อตัว ซึ่งจะต่างจากการศึกสงครามในยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก ที่การรบส่วนใหญ่เป็นการใช้อาวุธพิสัยไกลในการต่อสู้
ขุนศึกหรือผู้นำทัพในประวัติศาสตร์ นอกจากจะเป็นแม่ทัพนายกองแล้ว ผู้ที่สำคัญยิ่งคือองค์พระมหากษัตริย์ที่จะนำทัพออกรบเอง ในการนี้จึงต้องมีทหารคู่พระทัยซึ่งต้องเป็นทหารผู้มีฝีไม้ลายมือเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ที่ติดตามพระองค์โดยตลอดในศึกสงครามแต่ละครั้ง
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของชาติไทย ทรงมีความกล้าหาญและพระปรีชาสามารถในด้านการรบเป็นที่ยอมรับ กันทั่วไป พระองค์ คือพระมหากษัตริย์ผู้กู้อิสรภาพคืนมาให้กับชาติ หลังจากการเสียอิสรภาพครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๑๑๒
นายทหารคู่พระทัยของพระองค์นั้น นอกจากพระราชมนูที่เป็นผู้รู้จักกันทั่วแล้ว นายทหารกล้าอีก 2 พระองค์ คือพระชัยบุรีและพระศรีถมอรัตน์ ผู้เป็นขุนศึกที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่พระองค์ท่านมาโดยตลอด
ศึกสงครามครั้งใหญ่สุดในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรคือศึกยุทธหัตถี ที่เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ โดยศึกครั้งนั้นเกิดจากการที่พระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง ทรงเห็นว่าอาณาจักรอยุธยาภายใต้การปกครองของสมเด็จพระนเรศวรมีความแข็งแกร่งมากขึ้นจนอาจจะเป็นภัยต่ออาณาจักรหงสาวดีจึงได้ยกทัพใหญ่มีกำลังพลมากกว่า ๒๔๐,๐๐๐ นาย โดยให้พระมหาอุปราชามังกะยอชวา หรือมังสามเกียดซึ่งเป็นพระราชโอรสนำทัพมา
ทัพของพม่าเคลื่อนเข้าหากรุงศรีอยุธยาโดยแบ่งเป็น ๔ กองทัพ มาจากทาง ภาคเหนือเป็นทัพของเจ้าเมืองเชียงใหม่ อีก ๒ ทัพ คือ ทัพของพระเจ้าแปรและทัพของเจ้าเมืองตองอู มาทางทิศตะวันตกมุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา ส่วนทัพใหญ่ของกรุงหงสาวดีเคลื่อนเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่จังหวัดสุพรรณบุรี และพักทัพไว้ที่ตำบลหนองสาหร่าย เพื่อรวบรวมความพร้อมก่อนจะให้ทุกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาให้แตกจนได้
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบข่าวการยกทัพของพม่าเข้ามาดังกล่าว จึงได้ปรึกษาหารือกับมุขมนตรีทั้งหลายว่าจะสู้รบกับพม่าอย่างไรดี ซึ่งทรงได้รับคำแนะนำให้ยกทัพออกไปตั้งรับเพื่อต่อสู้กับทัพพม่านอกกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์ทรงเห็นด้วย จึงได้มีการจัดทัพโดยแบ่งออกเป็น ๕ ทัพ เพื่อจะต่อสู้กับทัพพม่า โดยคงกำลังส่วนหนึ่งไว้เพื่อปกป้องกรุงศรีอยุธยา ทัพของสมเด็จพระนเรศวรที่มีกำลังพลประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ นาย ได้เคลื่อนทัพมุ่งหน้าสู่ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี
เช้าวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรพร้อมสมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชาทรงเครื่องพิชัยยุทธ โดยสมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธาร นามว่าเจ้าพระยาไชยานุภาพ ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระคชาธาร นามว่าเจ้าพระยาปราบไตรจักร ช้างทรงทั้งสองเป็นช้างชนะงาและอยู่ในช่วงตกมัน ได้วิ่งฝ่าเข้าไปในกองทัพพม่าโดยมีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุลังคบาทเท่านั้นที่ติดตามไปทัน
สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระคชาธารของพระมหาอุปราชาอยู่ในร่มไม้ จึงทราบทันทีว่าช้างของพระองค์ได้หลงเข้ามาอยู่ในกลางกองทัพพม่าแล้ว แลอยู่ในลักษณะเสียเปรียบ แต่ด้วยปฏิญาณไหวพริบจึงได้ตรัสถามพระมหาอุปราชาด้วยความคุ้นเคยว่า “เจ้าพี่ จะยืนอยู่ในร่มไม้ทำไม เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกันให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปจะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ทำยุทธหัตถีแล้ว”
ด้วยความที่เป็นชายชาตินักรบเช่นกันพระมหาอุปราชาเมื่อได้ยินดังนั้น จึงไสช้างพลายพัทธกอซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพจนเสียท่า พระมหาอุปราชาได้จังหวะนั้น จึงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน แต่พระมาลาหนังที่สวมอยู่ก็ขาดวิ่น หลังจากนั้น เจ้าพระยาไชยานุภาพสะบัดหลุดและได้ล่าง ชนพลายพัทธกอจนเสียหลัก ทำให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระมหาอุปราชาที่พระอังสะขวาขาดลงไปจนสิ้นพระชนม์อยู่บนคอพระคชาธาร
ในขณะเดียวกันสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งได้กระทำยุทธหัตถีกับมังจาปะโรก็สามารถเอาชนะได้เช่นกัน ทำให้พม่ายกทัพกลับกรุงหงสาวดี
หลังเสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธแม่ทัพนายกองอย่างมากที่ไม่สามารถติดตามพระองค์ทัน จนเป็นเหตุให้ติดอยู่ในวงล้อมของพม่า จึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเหล่าแม่ทัพนายกองทั้งหลายนั้น แต่พระพนรัตน์วัดป่าแก้วได้ทูลขอชีวิตของเหล่าทหารทั้งหมดซึ่งรวมทั้งพระศรีถมอรัตน์ซึ่งในที่สุดพระองค์ทรงยอมยกโทษ แต่ก็ให้พระศรีถมอรัตน์ยกทัพไปตีเมืองตะนาวศรีและทวาย เพื่อเป็นการไถ่โทษให้แก่พระองค์ให้จงได้ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ จึงได้แต่งตั้งให้พระศรีถมอรัตน์ขึ้นเป็นพระยาศรีไสยณรงค์
ในปีพ.ศ. ๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปปราบเขมร ซึ่งพระยาศรีไสยณรงค์ที่เคยได้รับการไว้วางพระทัยเป็นอย่างยิ่งไม่ได้ติดตามไปช่วยรบด้วย จนเกิดความน้อยใจและคิดก่อการกบฏ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกทัพกลับมาแล้ว ทราบเรื่องดังกล่าวจึงออกหมายเรียกตัวพระยาศรีไสยณรงค์เข้ากรุงศรีอยุธยา แต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้พระองค์พิโรธเป็นยิ่งนัก ได้ให้สมเด็จพระเอกาทศรถไปเจรจาเกลี้ยกล่อมและพร้อมที่จะอภัยโทษหากพระยาศรีไสยณรงค์ยอมกลับเข้ามารับราชการ แต่ก็ยังไม่สำเร็จอยู่ดี
ในที่สุดสมเด็จพระเอกาทศรถจึงจับตัวพระยาศรีไสยณรงค์ และลงโทษด้วยการเฆี่ยน๓๐ ครั้ง ความทราบถึงสมเด็จพระนเรศวรเห็นว่าโทษดังกล่าวยังไม่พอเพียง จึงทรงให้ลงอาญาประหารชีวิตโดยตัดหัวเสียบประจาน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง อีกต่อไป
เมื่อบ้านเมืองปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งหลาย หากกระทำการใดๆ ที่ไม่เหมาะสมและไม่ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง ก็จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งก็เป็นตัวแทนจากประชาชนซึ่งถือเป็นเจ้าของประเทศเช่นกัน ดังเช่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ถึงแม้จะมีข้อมูลจำนวนมากที่อาจแสดงถึงความไม่เหมาะสมของนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดเมื่อมีการลงคะแนน พรรคของฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีคะแนนเสียงมากกว่า ก็ลงมติว่ายังสามารถจะไว้วางใจนายกผู้นี้ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
พรรคการเมืองฝ่ายค้านยังติดใจในการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี และคาดว่าจะดำเนินการฟ้องร้องต่อองค์กรอิสระที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่นายกอาจจะปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบรวมทั้งอาจจะไม่ซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในเรื่องการเสียภาษีและอื่นๆ อันอาจจะนำไปสู่การถอดถอนนายกฯได้หากพบว่ามีความผิดจริง
นอกจากนี้หลังจากที่สภามีมติไว้วางใจนายกฯด้วยคะแนนเสียงข้างมากแล้ว ในวันถัดมาคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบในร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดศูนย์บันเทิงครบวงจรซึ่งจะมีกาสิโนแฝงอยู่ด้วย อันเป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างช่องทางทุจริตให้กับผู้เกี่ยวข้อง และสร้างความเสียหายแก่สังคมด้วย จึงเริ่มออกมาชุมนุมเรียกร้องและต่อต้านการให้สร้างศูนย์บันเทิงร่วมกับกาสิโนดังกล่าว ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้การชุมนุมนั้นลุกลามใหญ่โตก็เป็นได้
การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลนั้น หากไม่ได้รับความไว้วางใจเมื่อใด ไม่ว่าจากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้บริหารประเทศ หรือจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนเข้าไปบริหารบ้านเมือง ซึ่งความจริงแล้วประชาชนคือเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเมื่อไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกต่อไป และไม่สามารถจะใช้สภาเป็นที่พึ่งได้การจะกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐบาล ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปก็ต้องถือว่าเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ถือเป็นเสียงสำคัญที่สุด ซึ่งย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐบาลได้
หรือว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมานี้ ซึ่งแน่นอนว่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่ตั้งอยู่ในทำเนียบ ที่แม้จะมีความแข็งแรง ก็ย่อมจะสั่นสะเทือนไปด้วยจึงอาจจะเป็นลางสังหรณ์ว่านายกฯท่านนี้น่าจะได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้อยู่อีกไม่นานนัก
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี