เอฟเฟกต์จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้มีตึกถล่ม มีผู้เสียชีวิต มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญหาย รวมทั้งตึกอาคารในหลายพื้นที่มีรอยแตกร้าว สร้างความกังวลให้กับผู้อยู่อาศัย และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะยืนยันว่า อาฟเตอร์ช็อกจาก“แนวรอยเลื่อนสะกาย” เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา จะไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย และกรุงเทพฯมหานคร แต่ทุกภาคส่วนก็ควรต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
อย่างน้อยเมื่อช่วงสายวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ ศูนย์ราชการอาคาร A ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ก็ยังต้องมีการอพยพคนออกจากอาคารโดยด่วน เนื่องจากได้ยินเสียงดังสนั่น และเห็นรอยแยกของตึก ซึ่งอาคารแห่งนี้เป็นที่ตั้งหน่วยงานราชการสำคัญหลายหน่วยงาน อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลแขวงดอนเมือง ศาลล้มละลายกลาง กรมคุมประพฤติ และหน่วยงานราชการอื่นๆ
นอกจากนั้น ก็ยังมีหลายตึกสำนักงานใน กทม.เกิดการสั่นไหวของตึก มีเสียงลั่น และมีเศษปูนตกลงมา อาทิ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), กระทรวงแรงงาน, ตึกประกันสังคมดินแดง และศาลอาญา ถนนรัชดา เป็นต้น จนทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนออกจากตึกโดยด่วน สร้างความกังวล และไม่มั่นใจในความปลอดภัย
แต่ที่สำคัญทั้ง “มาดามแพทองโพย” และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เหตุแผ่นดินไหวที่ล่าสุดยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 17 ราย, บาดเจ็บ 33 ราย และสูญหาย 78 คน ได้คลี่คลายกลับคืนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า บุคคลทั้งสองนี้ใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานว่า เหตุการณ์ได้คลี่คลายกลับคืนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่แม้กระทั่งก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ว่า จะมีภัยพิบัติเกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มาดามแพทองโพย”ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย เพราะด้อยสติปัญญา ยังเพิ่งจะร้อง“อ๋อ!” จากการชี้แจงของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการประชุมเพื่อ“ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว และกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือ” เมื่อวันที่ 29 มีนาคมหลังเกิดแผ่นดินไหวได้หนึ่งวันว่า “เป็นความรู้ใหม่ของดิฉันเหมือนกัน ต้องบอกให้ประชาชนรับรู้ว่า แผ่นดินไหวไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือทำนายล่วงหน้าได้ว่า อีก 2 วันจะเกิดเหตุแผ่นดินไหว”
หรือแม้แต่ตัวอย่างในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ยังเกิดเหตุแผ่นดินไหวซ้ำทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ ขนาดความรุนแรง 5.1 แมกนิจูด ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยในเมืองมัณฑะเลย์ต่างวิ่งหนีด้วยความแตกตื่น ขณะกำลังปฏิบัติภารกิจค้นหาร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคาร จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม
โดยยอดผู้เสียชีวิตในประเทศเมียนมาจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ก็ยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมเมื่อวานนี้ มีมากกว่า 1,700 ศพ บาดเจ็บกว่า 3,400 คน และยังมีผู้สูญหายอีกไม่น้อยกว่า 300 คน
ส่วนความช่วยเหลือจากนานาชาติที่มีต่อประเทศเมียนมานั้น ได้มีการทยอยความช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะทีมกู้ภัย ซึ่งจีนส่งเข้าไปช่วยเหลือ 82 คน, ฮ่องกง 51 คน, มาเลเซีย 50 คน และนอกจากนั้นก็ยังมี ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ไอร์แลนด์, เกาหลีใต้, รัสเซีย, นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ที่ส่งทีมกู้ภัยเข้าร่วมปฏิบัติการโดยไม่ได้ระบุจำนวนคน
ทางด้านอินเดียได้ส่งเที่ยวบินบรรทุกทีมกู้ภัยและอุปกรณ์ฉุกเฉิน ขณะที่สหราชอาณาจักรประกาศจะมอบเงินช่วยเหลือ 10 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 450 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
สำหรับบ้านเรา เข้าลักษณะ“ผนงรจตกม” คือ “ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด” ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น คือกรุงเทพมหานครเมืองหลวง ที่เรามี“มาดามแพทองโพย”เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงเทพฯกว่า 1.38 ล้านเสียงให้เข้ามาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ไม่เคยมีผลงานอะไรเลยนอกจาก“ราคาคุย” เช่นเดียวกับ“แพทองธาร ชินวัตร”ที่มีสภาพไม่ต่างจาก“เด็กฝึกงาน”ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เฉพาะ“มาดามแพทองโพย”นั้น ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า“โง่ซ้ำซาก” ฟังจากการให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ศูนย์ Thailand Investment and Expat Services Center (TIESC) ชั้น 7 อาคาร One Bangkok ซึ่งผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีในช่วงเช้าวันที่ถูกสัมภาษณ์ เกิดเหตุความสับสนมีประชาชนอพยพลงจากตึกและอาคารสูง ว่าได้รับรายงานแล้วหรือไม่ “มาดามแพทองโพย”ตอบแบบถามวัวตอบกระบือว่า
“ขอแจ้งให้ชัดเจนก่อนว่า ตอนนี้อาฟเตอร์ช็อกที่อยู่ที่เมียนมา ไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย และกรุงเทพฯ กรมอุตุนิยมวิทยายืนยันแล้ว ไม่มีผลกระทบ อย่างที่บอกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาว่า คนรับผิดชอบตึกทุกตึก ควรตรวจสอบว่าตึกแต่ละตึกนั้น ลิฟต์เสียหรือไม่ การกะเทาะของกระเบื้องและอะไรก็ตาม กระทบต่อการใช้ตึกหรือไม่ ซึ่งแต่ละตึกต้องเช็คเรื่องนี้ให้ดี และหากการเช็คนี้มีข้อสงสัยใดๆ ให้ติดต่อไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”
และอีกสองย่อหน้าจากนี้ ที่ฟังแล้วสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ผนงรจตกม” ทั้ง“มาดามแพทองโพย” และ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”
มาดามแพทองโพย : “แต่ละตึก, ผู้ที่รับผิดชอบต้องออกมาคอนเฟิร์มว่า แต่ละตึกสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละตึกต้องช่วยกันรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งมีหลายตึกที่ออกมาคอนเฟิร์มแล้วว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติ และลิฟท์ปกติดี”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : “เจ้าของอาคารต้องตรวจสอบก่อนเบื้องต้น ไม่ใช่รอให้ราชการตรวจ หากมีรอยร้าวหรือเกิดความเสียหาย เจ้าของอาคารต้องเป็นผู้สั่งให้ปิดก่อน จากนั้นจึงค่อยเป็นส่วนของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปประเมินและตรวจสอบ..หากตึกไหนมีรอยร้าว มีความเสียหาย ต้องสั่งหยุดโดยเจ้าของอาคารก่อนอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าตึกทุกตึก ทุกอาคารมีความมั่นใจในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ไม่ใช่ให้ กทม.ไปตรวจทุกงาน แต่หากมีปัญหาจริงๆ กทม.จะค่อยเข้าไปดู”
ตึกสูงใน กทม.ในขนะนี้จากตัวเลขของ กทม.มีอยู่ทั้งหมด 12,000 แห่ง ถามว่ามีใครเชื่อบ้างว่า ผู้เป็นเจ้าของอาคารจะมีสำนึกของความรับผิดชอบกันทั้งหมด ?!
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี