ติดตามข่าว พลเอกมิน อ่อง หล่าย มีกำหนดเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมประชุมความร่วมมือแห่งอ่าวเบง กอล ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก สส.คลั่งการโฆษณาชวนเชื่ออเมริกาซึ่งพอเข้าใจได้ว่า สส.พวกนั้นต้องการอะไร
แต่ที่ติดใจคือ แบนเนอร์ ของสื่อใหญ่มีใจความว่า “เตือนไทย อย่าตกเป็นเครื่องมือ มิน อ่อง หล่าย” ทำให้สงสัยว่า ผู้นำประเทศเมียนมา มาร่วมประชุมร่วมกับ
อินเดีย บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา และประเทศไทย ไทยเป็นเครื่องมือเมียนมาไปได้อย่างไร
การริเริ่มความร่วมมืออ่าวเบงกอลก่อตั้งปี 2540 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ที่มีเป้าหมายแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ในขณะที่ประเทศต่างๆ
รวมประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อผู้นำประเทศเพื่อนบ้านเช่น พลเอกมิน อ่อง หล่าย ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยเดินทางเยือนต่างประเทศบ่อยนักนอกจากไปเยือนจีนกับรัสเซีย การที่พลเอกมิน อ่อง หล่าย มาเยือนประเทศไทยเราจึงมีแต่ได้กับได้
สิ่งแรกที่ได้คือความร่วมมือทางด้านความมั่นคง การค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันสิ่งที่ได้ต่อมา ไทย-เมียนมา ได้ทวิภาคีทหารกับทหาร ถึงความร่วมมืออย่างจริงจังในการขจัดแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติที่มีศูนย์กลางอยู่บนชายแดนร่วมกันที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าศูนย์บัญชาการใหญ่ก็อยู่ตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยงเช่นกัน
สามคือ ได้แสดงให้ว่ากองทัพไทยกับกองทัพเมียนมายังมีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นเห็นได้จากที่ ทหารไทยส่งกำลังพลไปช่วยกู้ภัยแผ่นดินไหวในเมียนมา
“พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนและความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือ จึงได้สั่งการให้ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังเพื่อเข้าปฏิบัติภารกิจให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ”
ดังนั้น เมื่อพลเอกมิน อ่อง หล่าย มาเยือนผู้นำกองทัพไทยกับเมียนมาได้ทวิภาคีกัน ซึ่งได้ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน ที่มีข้อครหาว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ที่เรียกว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ National Unity Government=NUG และ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defense Force=PDF) เคลื่อนไหวในดินแดนประเทศไทยโดยการสนับสนุนของพรรคการเมืองหนึ่งจริงหรือไม่
การทำความเข้าใจกันระหว่างนายทหารชั้นผู้ใหญ่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ในภาวะที่นักการเมืองบางพรรคในประเทศไทยรับใช้ตะวันตกออกหน้า ถึงกับนำเรื่องการเลือกตั้งเมียนมาที่จะมีขึ้นในปลายปี 2025 มาหารือกันในสภาว่า ประเทศไทยไม่ควรรับรองการเลือกตั้ง
ประเด็นเลือกตั้งเมียนมาสหรัฐและตะวันตกขัดขวางออกหน้า เนื่องจากว่าจีน ซึ่งมีชายแดนติดกับเมียนมาและมีผลประโยชน์มหาศาลรอบด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง การค้า จีนได้เปรียบอเมริกา จึงสนับสนุนเต็มที่ให้เมียนมาจัดเลือกตั้งปี 2025 เพื่อต่อไปตะวันตกไม่อาจกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลทหาร
จีนสนับสนุนด้านปัจจัย เครื่องมือทันสมัยตลอดถึงกำลังคน ทำให้เตรียมเลือกตั้งในเมียนมาก้าวหน้าเกินกว่าวอชิงตันจะจินตนาการได้ ดังนั้นเมื่อมีรายงานข่าวว่ามิน อ่อง หล่าย จะมาประเทศไทย เสียงต่อต้านโวย จึงมีขึ้นทั้งจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อเมริกันยุยงให้รบกับทหารเมียนมา และสื่อใหญ่ตลอดถึงนักการเมืองที่คลั่งอเมริกาไม่ลืมหูลืมตา
กลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานบอกกับแนวหน้า ว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยมิน อ่อง หล่าย โดยไม่เห็นหัวฝ่ายต่อต้าน ด้านกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบอกกับแนวหน้าว่า ฝ่ายต่อต้านประชุมกันในวันที่ 30 มี.ค. “ว่าจะตอบโต้อย่างไร เราเชื่อว่า มินอ่อง หล่าย มาประเทศไทยเพื่อรณรงค์ให้นานาชาติรับรองการเลือกตั้งที่น่าละอาย”
เป็นที่น่าสนใจว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมากับนักการเมืองไทยบางพรรคสื่อบางคนในประเทศไทยมีความเห็นเหมือนกับสมาชิกอาเซียนที่อยู่ไกลออกไปใช้คำว่า #เลือกตั้งน่าละอายในเมียนมา โดยที่ ไม่มองว่าในอาเซียนมีการปกครองหลากหลาย มีทั้งคอมมิวนิวส์ และประชาธิปไตยอำนาจนิยม
นักการเมืองไทยบางคนถึงกับพล่ามว่า การส่งอุยกูร์กลับบ้าน และเชิญ พลเอกมิน อ่อง หล่าย มาเยือนประเทศไทย ทำให้ยุโรป อเมริกาลงโทษทางการค้ากับไทยหากนักการเมืองไทยติดตามข่าวต่างประเทศจะพบว่า สหรัฐเตรียมลงโทษทางการค้ากับไทยมานานแล้ว ล่าสุดที่ปรึกษาการค้า ทรัมป์ แถลงว่า วันที่ 2 เมษายน ปธน.ทรัมป์จะลงนามฝ่ายบริหารขึ้นภาษีการค้ากับประเทศที่ได้ดุลการค้าอเมริกา 25%
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายขึ้นภาษีนำเข้าอเมริกา เนื่องจากว่าไทยอยู่ในอันดับสิบของประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการส่งอุยกูร์ กลับบ้าน หรือ พลเอกมิน อ่อง หล่าย มาประเทศไทย ส่วนทรัมป์ จะขึ้นภาษีสินค้าจากไทยชนิดใดบ้างต้องคอยดูกันต่อไป
การที่นักการเมืองไทยรับลูกสหรัฐมาขยายความว่า เมียนมาไม่ควรมีเลือกตั้ง จนกว่ารัฐบาลเมียนมาจะปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน เป็นการตามก้นอเมริกาโดยไม่มองความจริงว่า ใครฝ่ายไหนที่ไม่ปฏิบัติตามฉันทามติอาเซียน ฉันทามติข้อที่ 1 เขียนว่า “ให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายในประเทศเมียนมายุติความรุนแรงทันที”
หลังจากร่วมลงมติในกรุงจาการ์ตา วันที่ 24 เมษายน 2564 พลเอกมิน อ่อง หล่าย เดินกลับมาถึงเมียนมาประกาศหยุดยิงทั่วประเทศทันที จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม
วันที่ 5 พฤษภาคม 10 วันจาก มิน อ่อง หล่าย สั่งให้หยุดยิงทั่วประเทศ นางออง ซาน ซู จี ก็ประกาศปฏิวัติประชาชนทั่วประเทศ นางปลุกระดมให้ประชาชนทุกตำบลหมู่บ้าน หยิบฉวยอาวุธเท่าหาได้ขึ้นมาทำสงครามกับรัฐบาลทหาร
ไม่กี่วันหลังจากนั้นพรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซู จี โดยการสนับสนุนของซีไอเอก็ตั้งรัฐบาลเงาหรือ NUG กับกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า PDF ขึ้นมาทำสงครามกับรัฐบาลทหารเมียนมา ตั้งแต่มี NUG และ PDF ข่าวทั้งหมด 100% ที่ออกมาจากเมียนมาล้วนเป็นโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกันที่ทำให้ประชาคมโลกมอง มิน อ่อง หล่ายเป็นผู้ร้ายที่ไม่ควรมีใครคบค้าสมาคม
อย่างไรก็ตาม ทหารไทยซึ่งได้รับการปลูกฝังให้ปกป้องอธิปไตยของชาติ ตลอดถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชนจนชีวิตจะหาไม่ กองทัพไทยยังรักษาความสัมพันธ์กับกองทัพเมียนมา การไปมาหาสู่ การประสานร่วมมือทางด้านความมั่นคงมีตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลจากการยึดอำนาจ
แต่ความสัมพันธ์ดำเนินไปเงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่าง ทหารรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร แต่ทหารไม่อาจรายงานให้นักการเมืองรู้ทุกเรื่องได้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ไว้ใจนักการเมือง และมั่นใจว่าเมื่อรายงานเรื่องสำคัญไปแล้วนายกฯ Gen Y จะ get หรือไม่
อาจารย์ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่า การเยือนไทยครั้งนี้พลเอกมิน อ่อง หล่าย น่าจะพบกับฝ่ายทหารมากกว่ารัฐบาล “น่าจะเป็นการประชุมคณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee : HLC) ไทย–เมียนมา ครั้งที่ 9 ที่เราจะจัดครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 19-21 มกราคม 2566 ที่รัฐยะไข่นั้น พลเอกมิน อ่อง หล่าย จัดและผบ.สส.ของเราไปเป็นหัวหน้าคณะ”
ที่นักการเมืองบางคนพูดว่า ไทยควรส่งมิน อ่อง หล่าย ให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ เป็นการพูดพล่อยๆไม่ได้ศึกษาความจริงว่า ยังอยู่ในขั้นตอนอัยการขอให้ศาลพิจารณาจะออกหมายจับได้หรือไม่ เนื่องจากว่าข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้กล่าวหารัฐเมียนมาในปี 2017 สมัยนางออง ซาน ซู จี เป็นผู้นำรัฐบาล
นางออง ซาน ซู จี ขึ้นต่อสู้คดีในห้องพิจารณาคดีของศาล ICC ในกรุงเฮก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 นับเป็นการขึ้นพิจารณาคดีครั้งแรก ตามข้อกล่าวหาที่อัยการจากประเทศแกมเบียได้ยื่นฟ้องเมียนมาว่าได้กระทำการอันเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจา
การขึ้นศาลของนางซู จี ถูกกระแสกดดันจากโลกตะวันตก แต่ภายในเมียนมา การตัดสินใจนำคณะเดินทางมาสู้คดีในศาลโลกด้วยตัวเองครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากประชาชนเมียนมา ที่มองว่าชาวโรฮีนจาเป็นผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในเมียนมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะตัดสินเป็นคุณต่อเมียนมาเนื่องจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ใช่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ง่ายนักในทางกฎหมาย โดยที่ผ่านมามีเพียงคดีเดียวคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่บอสเนียเมื่อปี 2538 ที่ศาลตัดสินว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
การมองความขัดแย้งในเมียนมาด้วยสติปัญญาจะพบว่า นางออง ซาน ซู จี มีผู้สนับล้นหลามทั่วประเทศเมียนมาเลือกตั้งเมื่อไรก็ชนะและได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเมื่อนั้น แต่นางเชื่อคำยุยงของตะวันตกให้เอาชนะเบ็ดเสร็จขาดโดยการใช้กำลังโค่นล้มทหารซึ่งไม่มีวันเป็นไปได้
ซู จี ได้บทเรียนตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง 2556 ว่า จะเอาอำนาจบริหาร 100% ให้รัฐบาลเลือกตั้งนั้น ไม่มีวันทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2008 ของเมียนมาเขียนไว้ให้อำนาจจากเลือกตั้ง 75% ให้อำนาจกองทัพโดย ตำแหน่ง 25% และรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วยว่า แก้รัฐธรรมนูญได้ต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 75%
ด้วยความต้องการอำนาจ 100% หลังชนะเลือกตั้ง นางออง ซาน ซู จี เสนอตำแหน่งประธานาธิบดีให้พลเอกฉ่วย มานน์ แลกกับการสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญให้มีเสียงสนับสนุนเกิน 75% ปรากฏว่าไม่ข้ามวันพลเอกฉ่วย มานน์ ถูกปลดจากทุกตำแหน่งในกองทัพ
ปลายปี 2563 พรรคเอ็นแอลดี ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย มีรายงานว่า ออง ซาน ซู จี ทาบทามทหารเพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญได้อีก นั้นคือที่มาของการยึดอำนาจ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนั้น นักการเมืองไทยนักวิชาการตลอดถึงสื่อใหญ่ต้องเข้าใจบริบทสังคม การเมืองและความมั่นคงของเมียนมา ก่อนหลับหูหลับตาวิจารณ์
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี