ในการดำเนินการปกครองตามรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของใหม่ในสยาม จึงปรากฏว่าช่วงแรกที่นำมาปฏิบัตินั้นจึงทำตามรัฐธรรมนูญบ้างไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบ้าง ที่ผิดไปจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่เรารู้กันในวันนี้ก็คือญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น จะมีการลงมติในวันเดียวกันกับวันที่ยังมีการอภิปรายอยู่ไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มาตรา 41 บัญญัติว่า
“สภาย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะลงมติความไว้ใจในรัฐมนตรีรายตัวหรือทั้งคณะ
ญัตติความไว้ใจนั้น ท่านมิให้ลงมติในวันเดียวกันกับที่ปรึกษา”
รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนขนาดนี้ ปรากฏว่าในการประชุมสภาฯ เมื่อครั้งที่ นายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา แถลงนโยบายครั้งแรกของรัฐบาล น่าจะมีความพลั้งเผลอเกิดขึ้น เพราะหลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายซักถามและรัฐบาลได้ตอบกันเรียบร้อยไปแล้ว ประธานสภาก็ได้ขอมติทันทีในวันนั้นเอง และรัฐบาลก็ได้รับความไว้วางใจ นี่เป็นความพลั้งครั้งที่หนึ่ง
ต่อมาเมื่อพระยาพหลฯ ขึ้นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในเดือนมิถุนายน 2476 เจ้าคุณพหลก็ต้องนำคณะรัฐมนตรีของท่านเข้าแถลงนโยบายของรัฐบาล และขอความไว้วางใจ ซึ่งก็ได้มีการปฏิบัติเช่นเดียวกันคืออภิปรายจบก็ลงมติในวันเดียวกันนั่นเอง โดยไม่มีผู้ใดทักท้วงหรือสอบถามแต่ประการใด แต่เชื่อว่าการลงมติในวันเดียวกันกับที่มีการอภิปรายไม่ว่าวางใจจบลงนั้น ได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน จนเวลาล่วงเลยมาประมาณ 3 ปี จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478 ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายเนย สุจิมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ถามขึ้นกลางสภาฯ ในโอกาสที่รัฐบาลของนายกฯ พระยาพหลพลพยุหเสนา ท่านได้ปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งในครั้งนั้นมีการปรับรัฐมนตรีจำนวน 5 ท่าน ดังนั้นนายกฯจึงนำเรื่องเข้าขอรับความไว้วางใจกับสภาฯ ที่จริงเรื่องหลักคือนายเนย สุจิมา ต้องการถามว่ารัฐมนตรีที่เป็นทหารและไม่ได้เป็นครูที่รัฐบาลสับเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงธรรมการ มาดูการศึกษาของชาตินั้นเคยได้รับการศึกษาอบรมในกระทรวงธรรมการมาบ้างหรือไม่แต่ก่อนที่จะถามประเด็นหลัก นายเนยยังแสดงความสงสัยว่าการลงมติไว้วางใจจะลงได้ในวันเดียวกันนี้ได้หรือ ซึ่งวันนั้นท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นนักกฎหมายสำคัญคือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ท่านแจ้งว่า ทางรัฐบาลอ้างว่าทำได้โดยอ้างมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ และตีความว่าสามารถให้ความไว้วางใจได้ในวันเดียวกัน เมื่อมีการอ้างมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นที่จะต้องเปิดรัฐธรรมนูญอ่านดูมาตรา 50 ว่ามีเนื้อความอย่างไร ก็พบว่า
“มาตรา 50 ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไว้ใจของสภาผู้แทนราษฎร
รัฐมนตรีผู้ได้รับแต่งตั้งให้บัญชาการกระทรวงทบวงการ ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อสภาผู้แทนราษฎรในทางรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีทุกคนจะได้รับแต่งตั้งให้บัญชาการกระทรวงทบวงหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปของรัฐบาล”
เมื่อดูแล้ว จะเห็นว่ามาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดเรื่องการลงมติไว้วางใจแต่อย่างใด บอกเพียงแต่ว่าคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไว้ใจของสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นที่ว่ารัฐบาลอ้างว่าทำได้โดยอ้างมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ จึงดูแปลกเข้าไปอีก แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญแต่ผู้เดียว ดังที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ ว่า
“ท่านว่าสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
ดังนั้นจะไปบอกว่าที่ทำมาผิดพลาดก็อาจจะไม่ได้ เพราะมีคนอ้างว่ารัฐบาลอ้างว่าทำได้ตามมาตรา 50 ไม่ใช่มาตรา 41 อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าบันทึกเอาไว้ให้ปรากฏเพื่อจะได้ทราบเรื่องราวในอดีตที่น่าสนเท่ห์
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี