หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด และได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จนทำให้ตึกที่ทำการใหม่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังทลายถล่มลงมาอย่างที่เป็นข่าวกัน
ผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าวกระทบชิ่งถึง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งกำลังสร้างอาคารที่ทำการถาวร เป็นตึกสูง 16 ชั้น มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท กลายเป็นข่าวดังขึ้นมาทันที เนื่องจากมีหุ้นส่วนหนึ่งของบริษัทที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างตึก สตง. เป็นหุ้นส่วนผู้รับเหมาก่อสร้างตึก สทนช. ด้วย คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
เรื่องนี้ร้อนถึง นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (อาคาร สทนช.) ได้เชิญสื่อมวลชนส่วนหนึ่ง ไปร่วมตรวจสอบความแข็งแกร่งของอาคาร หรือตึก สทนช. ทันที และผมก็ได้รับเชิญไปด้วย
เมื่อตรวจสอบเสร็จตอบได้เลยว่า “เป็นความเหมือนที่แตกต่าง”ความเหมือนคือ มีหุ้นส่วนหนึ่งที่ก่อสร้างเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างคือ ตึก สทนช. มีความมั่นคง แข็งแรงไม่แตกร้าวแม้แต่นิดเดียว ท่านรองฯ ไพฑูรย์บอกว่า ตึก สทนช. ได้ออกแบบก่อสร้างโดยมหาวิทยาลัยมหิดล โดยออกแบบให้ทนต่อแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทยถึง 3 เท่า ระหว่างการก่อสร้างได้ตรวจสอบทั้งเหล็ก อิฐ หิน ปูน ทราย และวัสดุอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้ทั้งหมด ขณะนี้การก่อสร้างมีความก้าวหน้าไปถึง 99% ภายในเดือนกันยายน 2568 นี้เสร็จสมบูรณ์แน่นอน พร้อมที่จะใช้เป็นกองบัญชาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ
“อาคารที่ทำการ สทนช. ปลอดภัย 100%” ท่านรองเลขาฯ สทนช. การันตี
ในโอกาสเดียวกันในฐานะที่ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน เขื่อนและอาคารบังคับน้ำต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญในการใช้เป็นเครื่องมือในการกักเก็บน้ำและการบริหารจัดการน้ำ
ผมจึงได้ถือโอกาสสอบถามถึงความมั่นคง แข็งแรงของเขื่อนและอาคารบังคับน้ำว่า ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างไร และพร้อมรับมือกับฤดูฝน
ที่จะมีน้ำหลากไหลลงสู่เขื่อนต่างๆ หรือไม่?
“สทนช. ได้มีหนังสือไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้มีการสำรวจ ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในข้อที่ 4 คือ การตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัยคันกั้นน้ำทำนบ พนังกั้นน้ำ รวมถึงเขื่อนต่างๆ ด้วย ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ปลอดภัยทั้งหมด มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ในการออกแบบสร้างเขื่อน หรืออาคารชลประทานต่างๆ ให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้นั้นเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของสถาปนิกและวิศวกรที่ออกแบบ เพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะเขื่อนต่างๆ หากพังทลายลงมาจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลแน่นอน
ดังนั้นการออกแบบก่อสร้างเขื่อนต่างๆ จึงต้องออกแบบให้สามารถรับรองแผ่นดินไหวได้ ซึ่งแผ่นดินไหวในครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
โดยปกติแล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบเขื่อนต่างๆ จะมีการประเมิน ตรวจสอบสภาพของเขื่อนอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา และมียังเครื่องมือในการวัดความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนที่ทันสมัยอีกด้วย ซึ่ง สทนช. จะมีการติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตามมาตรการข้อที่ 9 ในมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อีกด้วย” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
ได้ฟังท่านรองฯ ไพฑูรย์กล่าวยืนยันเช่นนี้ประชาชน คนไทย น่าจะสบายใจ และมั่นใจได้ว่า เขื่อนมีความปลอดภัย พร้อมใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำรับมือฤดูฝนในปีนี้ ซึ่งคาดว่่าจะมาเร็วกว่าและมีปริมาณที่มากกว่าปกติ แถมอาจจะมีพายุโซนร้อนพัดผ่านอีก 1-2 ลูกด้วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี