เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่
อ้างว่า ที่ผ่านมา ประเทศเหล่านี้เกินดุลการค้ากับสหรัฐ และเอาเปรียบสหรัฐ ด้วยวิธีการตั้งอัตราภาษีนำเข้า สร้างกำแพงกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) รวมถึง
ค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้น สหรัฐก็เลยจะเก็บภาษีตอบโต้เอาคืน (Reciprocal Tariffs)
สำหรับประเทศไทย สหรัฐ ประกาศกำหนดอัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ไว้ที่ร้อยละ 36
นั่นคือ บวกเพิ่มจากภาษีนำเข้าเดิมขึ้นไปอีก
โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
1. แน่นอนว่า นโยบายดังกล่าวของสหรัฐ จะกระทบต่อการส่งออกของไทย และมีผลกระทบทางอ้อมจากกรณีนี้อีกมหาศาล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบต่อการค้าของไทย (ยังไม่ได้รวมผลจากการเจรจา) จะกระทบการส่งออกไทยปี 2568 โดยมีแนวโน้มหดตัวลงมาอยู่ที่ -0.5% จากประมาณการเดิมที่ 2.5%
การลงทุนเอกชนจะมีความล่าช้าออกไป และการบริโภคครัวเรือนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงมากขึ้น
2. อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวและการส่งออก เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยที่ทำงานหนักที่สุดสองภาคส่วนนี้ จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วยเพราะฉะนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงแน่นอน
3. ท่าทีและการดำเนินการของประเทศอื่นๆ อาทิ นายกฯ สิงคโปร์แจ้งประชาชนตรงๆ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร ทั้งๆ ที่ สิงคโปร์โดนต่ำสุด 10% มาเลเซีย ทำการประชุมอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทร (มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน)
เวียดนาม ยกหูโทรศัพท์คุยกับสหรัฐ จนประธานาธิบดีสหรัฐเอ่ยถึงว่ามีท่าทีบวกกัมพูชา ส่งจดหมายพร้อมเจรจา ฯลฯ
แต่ท่าทีของผู้นำรัฐบาลไทย นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นได้
ทั้งแถลงการณ์ที่ออกมา และถ้อยคำให้สัมภาษณ์
นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ต้องห่วง เตรียมมาตรการรับมือแล้ว ยังต่อรองได้จะไม่ให้กระทบเป้า GDP
“...ได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ หลังมีตัวเลขออกมา แต่จริงๆ แล้ว ก็มีการพูดคุยกันมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการตั้งทีมเจรจา จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้
... เรามีมาตรการที่จะดูแลผู้ประกอบการ แต่เรื่องของความเสียหายคิดว่า ยังสามารถเจรจาได้อยู่ เพราะตัวเลข 36% ยังไม่ได้ Activate มีแค่ Activate บางหัวข้อ พอได้ตัวเลขมา ถ้ามีการต่อรองและปรับโครงสร้างภาษี ให้สมเหตุสมผล ยิ่งสมัยนี้เป็นแบบ more for less - less for more ไม่ได้เป็นแบบเติมที่จะมาเยอะใส่กัน หรือน้อยก็ต้องน้อยทั้งคู่ เป็นเรื่องการต่อรองกัน ซึ่งอันนี้แหละเดี๋ยวจะลงดีเทล…”
คำถาม คือ อิหยังวะ
การยกเอาภาษาอังกฤษที่คิดว่าจะทำให้ดูมีความคิดลึกล้ำซ้ำ “less for more, more for less” มันคืออะไ?
อะไร less ? อะไร more ?
มันดูจะเป็นการตอบคำถามแบบเอาตัวรอด มากกว่าจะช่วยให้ประเทศรอด เพราะไม่ได้สร้างความเชื่อมั่น และชี้ให้เห็นทางออกของประเทศชาติเลย
สงสัยว่า นายกฯ แพทองธาร ทำเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” เกินไปหรือไม่?
ตระหนักรู้เพียงพอหรือไม่ว่า สถานการณ์ร้ายแรงขนาดไหน?
มีสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ บารมี เพียงพอจะนำประเทศผ่านพายุใหญ่ครั้งนี้ได้แน่หรือ?
นี่ไม่ใช่สนามเด็กเล่นขายของ แต่เป็นความเป็นความตายของเศรษฐกิจประเทศ ธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคเกษตร คนทำงานหลายสิบล้านคน ชีวิตกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย
นายกฯ คุณหนู ที่เคยโชว์วิสัยทัศน์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ว่า เงินบาทแข็งดีต่อการส่งออก นั้น เข้าใจถ่องแท้แค่ไหนกันแน่?
4. ล่าสุด (6 เมษายน พ.ศ.2568) นายกฯ ออกแถลงการณ์อีกครั้ง
เนื้อหาสาระ คือ ยอมรับว่ามาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของเรา โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร
“..ในสัปดาห์หน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย จากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญ ของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ สำหรับสิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐก็คือ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐเชื่อถือได้ในระยะยาว
โดยขณะนี้ รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร
โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด
นอกจากนี้ ประเทศไทย จะมีการเจรจา เรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐ
ดิฉันมั่นใจว่า ข้อเสนอข้างต้นนี้ จะทำให้การเจรจากับสหรัฐ บรรลุผลเพื่อให้ประเทศไทยและสหรัฐ ยังคงเป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่เป็นมิตรต่อกัน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีอีกหลายมาตรการที่พร้อมจะรับฟังและพูดคุยเพิ่มเติมกับสหรัฐ
และขอให้ความมั่นใจว่าข้อเสนอที่รัฐบาลเตรียมไว้ ล้วนคำนึงถึงประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ และเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจของเราและคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยทุกท่าน
ดิฉันขอให้คำมั่นว่า ทุกท่านไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนในระยะสั้น และระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และ อินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้น..”
หัวหน้ารัฐบาลไทยทิ้งท้ายว่า วันอังคารที่ 8 เมษายนนี้ หลังจากประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง จะสรุปแนวทางอีกครั้ง
พูดง่ายๆ คือ จะสรุปก่อนวันเดดไลน์ ที่สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ 36%ไม่กี่ชั่วโมง
แล้วประเทศไทยก็ลุ้นเอาว่า สหรัฐจะขยายเวลาเริ่มบังคับใช้หรือไม่ อย่างไร?
5. รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เสนอแนะอย่างน่าสนใจ ในเพจ Piti Srisangnam
บางตอนระบุว่า
“...ถ้ายังไม่รีบดำเนินการ ต่อไปไทยจะกลายเป็นประเทศที่ถูกเลือนออกไปจากจอเรดาร์
มาเลเซียและกลุ่มอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทรที่โดนอัตราภาษีไม่สูงในอาเซียนเริ่มขยับแล้ว ถ้าไทยยังมะงุมมะงาหรา เราจะถูกหมายหัวว่า และแบ่งแยกว่า ไทยและอาเซียนภาคพื้นทวีปอยู่ใต้อิทธิพลมหาอำนาจ
สหรัฐตั้งกำแพงภาษีครั้งนี้ เป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก เพราะเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ คือ กำจัดจีนในฐานะที่เป็นภัยคุกคามสูงสุด และเป็นหนึ่งเดียว
ดังนั้น กำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เป็นเครื่องมือทางภูมิเศรษฐศาสตร์จึงถูกนำมาใช้อย่างรุนแรง เก็บภาษีสูงสุดในอัตรามากกว่า 30% ไปจนถึง 49% สำหรับประเทศที่สหรัฐเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าที่จีนควบคุม ไปจนถึงระดับที่สหรัฐพิจารณาว่าเป็นรัฐบริวารในเขตอิทธิพลของจีน
ไทยจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้
ขอเรียกร้องให้ผู้นำ นายกฯ รองนายกฯ รมต. ไปจนถึง สทร. ต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง
ข้อเสนอของผม คือ สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 36% (ล่าสุดปรับอีกครั้งเป็น 37%) หนึ่งในทางออกคือ ไทยต้องเล่นบทบาทนำในอาเซียน เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ให้ได้
ประเด็นเร่งด่วนในระยะสั้นที่ไทยต้องเร่งผลักดันผ่านคณะทำงานของเจ้าหน้าที่ระดับสูง และที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้ทันก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ คือ รับมือกับมาตรการทางการค้าของสหรัฐอเมริการ่วมกัน
เพราะสมาชิกอาเซียนโดนกันถ้วนหน้า
กัมพูชา 49% สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% ไทย 36-37% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซียและบรูไน 24% ฟิลิปปินส์ 17% หรือแม้แต่สิงคโปร์ก็โดนภาษี 10%
เราต้องคำนวณร่วมกันว่า อัตราที่ทรัมป์กล่าวอ้าง นั่นคือ x2 ของอัตราภาษีเหล่านี้ คืออัตราจริงหรือไม่ ที่มาเป็นอย่างไร ถ้าไม่จริงต้องเร่งปฏิเสธ (ซึ่งผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่น่าจะใช่อัตราที่ถูกต้อง รวมทั้งมีผู้คำนวณแล้วว่าตัวเลขชุดนี้ แท้จริงแล้วคือ สัดส่วนมูลค่าการขาดดุลการค้าต่อมูลค่าการนำเข้าที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจากแต่ละประเทศ)
จากนั้น ต้องคิดต่อว่าหากให้แต่ละประเทศสมาชิกเจรจากับสหรัฐ (ซึ่งจะมีเวลาเตรียมตัวสั้นมาก) เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า อำนาจการต่อรองของแต่ละสมาชิกเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาคือ เรื่องจิ๊บจ๊อยขี้ปะติ๋ว แต่หากประชาคมอาเซียนรวมตัวกัน นี้คือตลาดของประชาชนเรือน 700 ล้านประชากร ที่มีรายได้สูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ ดังนั้น อาเซียนต้องร่วมมือกัน อาเซียนต้องเดินหน้าต่อรองด้วยกัน
อาเซียนต้องไม่ดำเนินมาตรการที่ขัดแข้งขัดขาซึ่งกันและกัน มาตรการจำพวกตั้งภาษีตอบโต้กัน หรือเลียนแบบมาตรการทางการค้าเพื่อตอบโต้ซึ่งกันและกัน (Tariff Retaliation and/or Trade Emulation) รวมทั้งนโยบายประเภทเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน (Beggar-thy-neighbor) อาทิ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดเงินทุน แข่งกันให้สิทธิพิเศษทางการค้าการลงทุนจนวายวอดทั้งภูมิภาค ฯลฯ เหล่านี้ต้องไม่เกิดขึ้น…”
ดร.ปิติ ยังมีข้อเสนอรูปธรรมในรายละเอียดต่อไปอีกด้วย รัฐบาลสมควรนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย
6.ประการสำคัญ... รัฐบาลไม่ควรคิดมิติเดียว ว่าจะลดภาษีสินค้าชนิดใดให้สหรัฐบ้าง หรือจะนำเข้าอะไรเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งจะกระทบกับเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศ เพราะความต้องการแท้จริงของสหรัฐมิได้มีเพียงผลประโยชน์ทางการค้า แต่มีความต้องการทางการเมืองตามแผนยุทธศาสตร์มุ่งอินโดแปซิฟิกอยู่ด้วย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี