มีภาษิตกฎหมายกล่าวว่า...
“กฎหมายนอนหลับบางคราว แต่ไม่เคยตาย”
“ถ้าโจทก์ไม่นำสืบ จำเลยย่อมพ้นผิด”
“หน้าที่นำสืบ ย่อมตกอยู่แก่โจทก์”
คดีดิไอคอนกรุ๊ป แชร์ลูกโซ่-ฉ้อโกงประชาชน มีประชาชนผู้เสียหายบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก มูลค่าผลประโยชน์มหาศาล แต่อาณาจักรแห่งนี้พังทลายลงเมื่อถูกทางการดำเนินคดีร้ายแรง
ล่าสุด DSI ประกาศดำเนินคดีดิไอคอนกรุ๊ป ภาคสองผู้เสียหายเบื้องต้นกว่า 2,000 ราย โดยเปิดลงทะเบียนผู้เสียหายที่ยังไม่เคยร้องทุกข์กล่าวโทษ 17 เมษายน-
16 พฤษภาคมนี้
1.คดีดิไอคอนกรุ๊ปภาคสอง คดีพิเศษ 18/2568
ผมได้ติดตามทวงถามต่อดีเอสไอผ่านสื่อสาธารณะก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นคดีลอตสอง เงียบไปนาน
การติดตามเส้นทางการเงินและทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้อง ก็ไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติม ทั้งๆ ที่โครงข่ายผลประโยชน์คดีนี้มหาศาล
ล่าสุด ดีเอสไอเปิดเผยว่า คดีลอตแรก คือ คดีพิเศษที่ 119/2567 กรณี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัดกับพวก สอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการแล้ว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567
ต่อมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้ส่งบันทึกคำให้การผู้เสียหายจำนวน 2,000 กว่าราย ซึ่งร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กับพวก โดยมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดอย่างเดียวกันกับคดีพิเศษที่ 119/2567
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้สอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 18/2568
ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และพันตำรวจตรีวรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เป็นคณะพนักงานสอบสวนและเลขานุการ
พันตำรวจตรีวรณัน เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่25 มีนาคม 2568 เวลา 10.00 น. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 18/2568 ได้ร่วมประชุมเปิดคดีเพื่อกำหนดแนวทางการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน ในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยได้กำหนดแผนการสอบปากคำพยานที่สำคัญในคดี ตรวจสอบคำให้การผู้เสียหายที่ได้รับจาก บก.ปคบ. จำนวนกว่า 2,000 ราย
และจะเริ่มเปิดระบบลงทะเบียนให้กับผู้เสียหายที่ไม่เคยร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 16 พฤษภาคม เมื่อได้จำนวนและท้องที่ของผู้เสียหายแล้วจะได้วางแผน การสอบสวนปากคำผู้เสียหายเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในลำดับต่อไป
“ยืนยันว่า การดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษให้มีความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม เป็นนโยบายหลักของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสอบสวนคดีพิเศษและให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ศรัทธาของสังคม ในการป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีในความรับผิดชอบเพื่อให้การบริหารองค์การมีความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป” - พันตำรวจตรีวรณัน กล่าว
2.สำหรับคดีภาคสอง ก็ต้องสอบสวน หาพยานหลักฐาน ว่ามีใคร นอกเหนือจากจำเลยลอตแรก ยังมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนผู้บงการ ผู้ใช้ให้กระทำการ ผู้ร่วมรับผลประโยชน์ โดยรู้หรือควรรู้ว่ามีการกระทำที่เป็นแชร์ลูกโซ่ หรือฉ้อโกงประชาชน
น่าสนใจพิเศษ คือ ผู้ที่มีสถานะเป็นตัวแทนจำหน่ายที่มียอดขายเยอะๆ มีสมาชิกลูกข่ายเยอะๆ หลายหมื่น บางคนที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้ เพราะอะไร?
เคยโอ้อวดสถานะ เพื่อจูงในให้คนเข้ามาเป็นสมาชิก ว่ามียอดขายมหาศาล ออเดอร์มโหฬาร เคยได้รับเงินรางวัลจากบอสพอลเป็นล้าน เคยขึ้นเวทีโปรโมทอลังการ อวดรถหรู บ้านหรู อวดตัวแทนในทีมหลายหมื่นคน และตนเองก็มีส่วนแบ่งผลประโยชน์เดือนละหลายล้านบาท
ภาษิตกฎหมายกล่าวว่า “ผู้กระทำ หรือผู้ยินยอมพร้อมใจด้วย ย่อมมีโทษดุจกัน”
คนระดับนี้ รู้ หรือควรรู้หรือไม่ ว่า ดิไอคอนกรุ๊ป ดำเนินกิจการเช่นไร?
ลองไล่ดูตำแหน่งตัวแทนจำหน่ายของดิไอคอนกรุ๊ป ก่อนจะได้เป็นบอส ก็มีหลายขั้น หลายระดับ ซึ่งสะท้อนมูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับ และสถานะความเกี่ยวข้องการทำงานร่วมกับดิไอคอนกรุ๊ป
Boss
Emperor
Royal Crown
Crown Dealer
Wisdom Dealer
Presidential Dealer
Grand Dealer
ยกตัวอย่าง ตำแหน่งสูงสุดก่อนจะถึงขั้นบอส “เอ็มเพอร์เรอร์ ดีลเลอร์” มียอดขาย ยอดรายได้ มหาศาล มีบทบาทสำคัญ หรือแม้แต่ลำดับรองลงไปที่มียอดขาย หรือยอดรายได้ หรือยอดสมาชิกที่ดูแลหลายพันหลายหมื่นคนขึ้นไปนั้น น่าจะมีบทบาท รู้เห็น ร่วมในการกระทำของดิไอคอนกรุ๊ป แค่ไหน อย่างไร ?
เป็นไปได้หรือ ที่จะไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับกลไกการจัดการผลประโยชน์ ที่เป็นพฤติการณ์แห่งคดีนี้เลย?
ควรพิจารณาว่า จะต้องถูกสอบสวน ดำเนินคดีเพิ่มเติม หรือไม่?
3.ภาษิตกฎหมายกล่าวว่า “ผู้ปล่อยคนผิด คือผู้สร้างความหวาดเกรงให้แก่ผู้บริสุทธิ์”
คดีลอตแรก ดีเอสไอทำคดีพิเศษ สรุปสำนวนส่งอัยการ และอัยการส่งฟ้องศาลไปก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะนี้ คดีอยู่ในชั้นศาล จำเลยทุกคนยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด
จำเลยบางคนที่เป็นบอสดาราคนดัง (ยุรนันท์-พีชญา) อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ดีเอสไอเห็นแย้ง ยังไม่มีการเปิดเผยว่าได้ข้อยุติอย่างไร
ข้อหาหนัก คือ ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่), ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของดิไอคอนกรุ๊ปแล้ว โดยระบุพฤติการณ์ว่า
“.....ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนผู้เสียหายให้ถ้อยคำว่า “ผู้บริโภคไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทฯ ได้โดยตรง จะสั่งซื้อสินค้าได้ต่อเมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่านลิงก์ของตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น”
ประกอบกับมีผู้เสียหายให้การว่า หากสามารถชักชวนให้ร่วมลงทุนเป็นตัวแทนจำหน่ายในตำแหน่งดีลเลอร์เป็นเงินลงทุน 250,000 บาท ผู้ชักชวนจะได้รับค่าตอบแทน จากผู้สมัครรายใหม่เป็นเงิน 10,000 - 15,000 บาท ต่อ 1 ดีลเลอร์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวของบริษัทฯรวมทั้งวิธีการในการดำเนินธุรกิจมีลักษณะที่ไม่ได้มุ่งเน้นในการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค แต่กลับมุ่งเน้นให้สมาชิกรายเก่าหาสมาชิกรายใหม่เพื่อให้ได้รับผลตอบแทน ซึ่งรายได้หลักเกิดจากการที่มีผู้สมัครรายใหม่ในตำแหน่งดีลเลอร์ต่อๆ กันไป
รูปแบบการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ มีลักษณะเป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจตลาดแบบตรงโดยตกลงว่า จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545
เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 44 และมาตรา 53 วรรคสอง (3) (5) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2568”
อย่างไรก็ตาม The iCon Group ออกชี้แจงว่าจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งสคบ.และคำสั่งเพิกถอนมีผลเฉพาะกับที่ขายผ่านเว็บไซต์เท่านั้น ส่วนตัวแทนยังจำหน่ายได้ตามปกติ รวมถึงปฏิเสธข้อหา โดยยังคงต่อสู้คดีอยู่
4.น่าสนใจว่า การตรวจสอบเส้นทางการเงิน การตรวจสอบทรัพย์สิน โดย ปปง.
ก่อนหน้านี้ มีการถอนอายัดบางส่วน
และบางส่วนส่งเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลต่อไปแล้ว
จากนี้ ปปง.ยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่ อย่างไรบ้าง?
อย่าลืมว่า มีผู้เสียหายจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายมหาศาล ที่รอความยุติธรรม
5.คดีแชร์ลูกโซ่ดิไอคอนลอตแรก เดินไปสู่ชั้นศาลยุติธรรมแล้ว
จำเลยที่เป็นบอสดิไอคอน 16 คน ต่อสู้คดีอยู่
ส่วนบอสคนดัง 2 คน ได้แก่ บอสแซม และบอสมิน ก็รอข้อสรุปสุดท้าย หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง ดีเอสไอเห็นแย้ง อัยการสูงสุดว่าอย่างไร? เหตุผลมีน้ำหนักที่วิญญูชนพึงรับฟังได้แค่ไหน อย่างไร?
หลังจากนี้ ติดตามต่อว่า คดีภาคสอง จะมีดีลเลอร์รายใหญ่ๆ ผู้มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดรายอื่นๆ จะมีใครถูกหมายจับ หรือถูกดำเนินคดีเพิ่มเติมอีกบ้าง?
“กฎหมายนอนหลับบางคราว แต่ไม่เคยตาย”
“จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที”
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี