แผ่นดินไหวในดินแดนอันเป็นถิ่นอาศัยของชนชาติไทยได้มีการบันทึกไว้มานานพอสมควรแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งได้กล่าวไว้ในศิลาจารึก รวมทั้งที่กล่าวไว้ในพงศาวดารต่างๆ ก็มีอยู่หลายครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดนั้นน่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่ทำให้เมืองทั้งเมืองพร้อมเวียงวังทั้งหมดจมหายไป กลายเป็นบึงใหญ่จนถึงปัจจุบันนี้ โดยเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นประมาณปีพุทธศักราช ๑๕๕๘ ในสมัยของพระองค์มหาชัยชนะซึ่งเป็นกษัตริย์ของโยนก โดยแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็น ๓ ระลอก ทำให้ เวียงโยนกเมืองหลวงของอาณาจักรเชียงแสนยุบจมลงกลายเป็นบึงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันพื้นน้ำแห่งนั้นคือทะเลสาบเชียงแสน
ในสมัยอาณาจักรอยุธยา ก็มีการกล่าวถึงแผ่นดินไหวหลายครั้งเช่นกัน เป็นการไหวใหญ่ ๕ ครั้ง ตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ โดยแผ่นดินไหวทั้ง ๕ ครั้งนั้น ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน
แผ่นดินไหวครั้งแรกที่ถูกกล่าวไว้เกิดขึ้นประมาณปีพุทธศักราช ๒๐๖๘ ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยมีบันทึกไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นทั่วทุกเมือง เป็นผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงอย่างรุนแรง ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นไม่นานนักสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ทำให้คนในยุคนั้นมองว่าแผ่นดินไหวใหญ่นั้นเป็นลางร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชาติแผ่นดินได้
แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๐๘๙ หลังจากที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคตลงอย่างกะทันหัน และหลังจากนั้นไม่นานพระเจ้ายอดฟ้าพระราชโอรสก็ถูกลอบปลงพระชนม์ จากการก่อกบฏของพระสนมศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราช จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงราชบัลลังก์ มีการกราบทูลเชิญพระเทียรราชาที่ทรงผนวชอยู่ให้ขึ้นครองราชแทนเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและ เป็นจุดเริ่มต้นที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ. ๒๐๙๒ ทำให้ต่อมาไทยต้องเสียเอกราชเป็นครั้งแรก
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นในปีพ.ศ. ๒๑๒๗ ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปช่วยอาณาจักรหงสาวดีให้รบกับอังวะ โดยได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณเมืองกำแพงเพชร เชื่อกันว่าเป็นลางเตือนถึงแผนลวงของพระเจ้าหงสาวดีที่หวังจะปลงพระชนม์ แต่สมเด็จพระนเรศวรหนีมาได้ เหตุการณ์นั้นทำให้ไมตรีระหว่าง ๒ อาณาจักรสิ้นสุดลง และเกิดลางร้ายต่างๆในหัวเมืองเหนือ จนถึงปีถัดมาอาณาจักรหงสาวดีก็ยกทัพใหญ่มาโจมตีอาณาจักรอยุธยา
แผ่นดินไหวครั้งต่อมาซึ่งเป็นครั้งที่ ๔ นั้น เกิดเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๑๓๑ ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง อย่างรุนแรงในกรุงศรีอยุธยา ประชาชนเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นอย่างมาก เกิดการขาดแคลนอาหาร นำความทุกข์ยากอดอยากมาสู่ผู้คนเป็นจำนวนมาก
แผ่นดินไหวครั้งที่ ๕ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐนั้น เกิดขึ้นในวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงพระอาการประชวร ทำให้เราผู้คนหวั่นไหวว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเป็นลางร้าย ซึ่งก็เป็นจริงว่าหลังจากแผ่นดินไหว ๖ เดือนสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓
จากการที่แผ่นดินไหวทั้ง ๕ ครั้งในสมัยอยุธยา ได้เกิดขึ้นควบคู่กับ วิกฤตการณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติโรคระบาด ความอดอยาก สงคราม หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง จึงทำให้ผู้คนในยุคนั้นเรียกแผ่นดินไหวว่าธรณีพิโรธ และมีความเชื่ออย่างฝังใจว่าเป็นลางบอกเหตุร้าย ที่ฟ้าดินส่งมาเตือนล่วงหน้าถึงความวิบัติที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง อาจสะท้อนถึงพื้นฐานวัฒนธรรมไทยในเรื่องของโลกทัศน์แห่งการเชื่อถือโชคลาง ซึ่งมีต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
จากข้อมูลของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวพบว่า ประเทศไทยได้มีการบันทึกเรื่องราวของแผ่นดินไหวตั้งแต่การล่มสลายของนครโยนกมาจนถึงปัจจุบันนี้มากกว่า ๒๐๐ ครั้งด้วยกัน ทั้งการไหวขนาดใหญ่พอสมควรจนประชาชนรู้สึกได้และการไหวขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะไม่รู้สึก
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในยุคกรุงเทพฯนั้น หากนับที่มีความรุนแรงมากกว่า ๕.๐ ริกเตอร์ก็มีจำนวนนับสิบครั้งแล้ว โดยครั้งที่มีความรุนแรงวัดขนาดได้สูงมากคือ ๖.๕ ริกเตอร์ เกิดขึ้นที่จังหวัดน่านเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งน่าจะเป็นข้อมูลที่ทำให้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารสูงให้ทนต่อแผ่นดินไหว ที่มีการออกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐ และปรับปรุงเพิ่มเติมในปี ๒๕๖๔ กำหนดว่า อาคารสูงที่สูงเกินกว่า ๑๕ เมตร จะต้องทนแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ตั้งแต่ระดับ ๗.๐ ริกเตอร์ขึ้นไป
โดยครั้งที่มีความรุนแรงรองลงมาคือแผ่นดินไหวขนาด ๖.๓ ริกเตอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นผลจากการขยับตัวของรอยเลื่อนแม่ลาว ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนนับหมื่นหลัง เป็นความเสียหายรุนแรงมากกว่า ๔๐๐ หลัง และมีผู้เสียชีวิต ๑ ราย
ส่วนแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากครั้งล่าสุด คือที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคมที่ผ่านมานี้จากรอยเลื่อนสะกาย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า มีขนาด ๘.๒ ริกเตอร์ ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย และทำให้อาคารที่กำลังก่อสร้าง ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ถล่มลงมา มีผู้สูญหายและเสียชีวิตนับร้อยรายด้วยกัน และอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯได้รับความเสียหายด้วย
จากการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดเป็นประเด็นปัญหาเรื่องระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยให้กับประชาชนของภาครัฐว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จนเกิดความตื่นตระหนกไปทั่ว เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องปรับปรุงเรื่องนี้ให้ดีขึ้น รวมทั้งต้องสืบสวนถึงกระบวนการทุจริตในการก่อสร้างอาคารของรัฐที่ถล่มมาด้วย
ปัจจุบันนี้มนุษย์จะอยู่กับสิ่งที่เป็นจริงหรือที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องที่นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์หรือพิสูจน์ไม่ได้ก็ยังพอมีอยู่บ้าง แผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ที่คร่าชีวิตของผู้คนซึ่งหากนับรวมที่ประเทศพม่าซึ่งเป็นจุดที่เกิดเหตุก็คาดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ ๔,๐๐๐ คน ถือเป็นความเสียหายรุนแรงมาก ไม่นับรวมการถล่มทลายของบ้านเรือนในประเทศเพื่อนบ้านของเรา จึงอาจจะเป็นลางร้าย และไม่น่าจะตัดออกไปจากกระบวนความคิดของคนรุ่นใหม่ทั้งหมดเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลเองก็ต้องทบทวนว่า การบริหารบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้มีอะไรหรือไม่ที่อาจจะเป็นเหตุให้ธรรมชาติต้องแสดงปฏิกิริยาบางอย่างออกมา ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นอาจจะไม่เหมาะสมและจะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ
การแจกเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท แม้จะเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือประชาชนได้บางส่วนแต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของชาติดีขึ้นแต่อย่างใดและทำให้เงินซึ่งควรจะนำมาเป็นงบประมาณในการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ก็ต้องสูญเปล่าไปเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาทแล้ว และยังอาจจะต้องสูญเสียอีกต่อไป
การไม่เคารพซึ่งกฎหมายหรือพยายามใช้กฎหมายแบบบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือพวกพ้อง โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะสังคมประชาธิปไตยหากจะอยู่ได้อย่างมั่นคงนั้นทุกคนน่าจะมีสิทธิ์พื้นฐาน ภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน เน้นย้ำว่าภายใต้กฎหมาย
ความตั้งใจของรัฐบาลแบบมุ่งมั่นว่าจะต้องเปิดสถานบันเทิงครบวงจรโดยนำเรื่องของกาสิโนเข้าไปแฝงอยู่ด้วยนั้น ทั้งๆที่วัตถุประสงค์หลักคือการเปิดกาสิโนซึ่งก็จะทำให้มีแต่ความเสียหายเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสังคม คดีฉกชิงวิ่งราวปล้นฆ่า ยาเสพติด การล้มละลายหรือล่มสลายของครอบครัวมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
รัฐบาลต้องกลับมาย้อนคิดแล้วว่าการบริหารบ้านเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นคุณต่อประเทศชาติจริงหรือไม่อย่างไร เพราะหากไม่เป็นอย่างนั้นแล้วก็เชื่อว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนหรือเป็นลางร้ายที่จะบอกว่า ท่านอาจจะหมดโอกาสที่จะบริหารประเทศชาติต่อไป
ปิยะ เนตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี