เป็นอันว่า ฝันค้างไปอีกหนึ่งเรื่อง
สรุปว่า ร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ จะต้องรอสมัยประชุมหน้าราวกรกฎาคม 2568
1. เมื่อวานนี้ (8 เมษายน 2568) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้หารือพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว พร้อมมีความเห็นตรงกันว่า ในสภาผู้แทนราษฎรควรพิจารณาเรื่องเร่งด่วนอื่น ก่อนร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์
โดยยืนยันว่า “แค่เลื่อน ไม่ได้ถอน”
“..มีการประชุมร่วมกันของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เล็งเห็นถึงปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบตอนนี้ ทั้งเรื่องแผ่นดินไหว และการเยียวยา จะดูแลแน่นอนทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ รัฐบาลก็จะดูเรื่องการยกเว้นกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อจะได้ช่วยพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยได้มากยิ่งขึ้น ก็อยู่ในกระบวนการพิจารณา นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ...
...หลังจากนี้ นอกจากรับฟังพูดคุย ต้องมีการชี้แจงให้ชัดเจนในการทำความเข้าใจ ภาพของเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ถูกมองว่าเป็นกาสิโน นี่ไม่ใช่ความตั้งใจของเรา ความตั้งใจคือทุกเพศทุกวัยไปได้หมด พอไปไฮไลท์คำว่ากาสิโนแปลว่าจะทำให้กาสิโนในประเทศถูกกฎหมาย แต่นี่คือเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ที่มีกาสิโน เราไม่เน้นเรื่องกาสิโนเป็นหลัก แต่กลับถูกมองว่าตั้งใจจะทำกาสิโนแทน แล้วอย่างนี้จะสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์อย่างยิ่งใหญ่ยังไง รัฐบาลจะใช้ความรับผิดชอบในการสื่อสารให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าแปลว่าอะไรกันแน่...” – นายกฯ กล่าว
ทั้งนี้ สมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 เมษายนนี้ เท่ากับว่า ร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ จะต้องรอสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568
2. เป็นเรื่องดีที่รัฐบาล พรรคร่วม รับฟังกันและกัน
และรับฟังเสียงสะท้อนของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
ส่วนจะแค่ดึงเวลา ไม่ได้รับฟังจริงๆ หรือไม่ แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏแล้ว คือ เรื่องถูกชะลอออกไปก่อน
ระหว่างนี้ รัฐบาลควรพิจารณาทบทวน ตั้งสติ อย่าเมาหมัด อย่าเห็นแก่ตัว คิดจะฉวยโอกาสใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลผลักดันวาระผลประโยชน์แอบแฝง
ลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา (ซึ่งไม่เคยแถลงว่าจะมีกาสิโนในเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์)
นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์เลิกหลอกตัวเองว่ารัฐบาลไม่ได้จะทำกาสิโน จริงๆ มันคือการเปิดกาสิโนในเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ (มิฉะนั้นแล้ว จะมาออกกฎหมายใหม่ทำไม)
ควรหันไปเร่งเครื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องฐานราก รวมถึงรับมือกับ
ผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างด่วนที่สุด
3. การพยายามขายฝันเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์แบบที่มีกาสิโนในต่างแดนว่าไทยจะทำแบบนั้น แบบนี้
ความจริง คือ เอามาไม่ครบ ไม่ตรงปก อ้างข้างๆ คูๆ เพื่อจะเปิดกาสิโนให้ได้
ยิ่งให้ลิ่วล้อออกมาบิดเบือนป้ายสีภาคประชาสังคมที่ออกมาคัดค้านว่าเป็นพวกปกป้องบ่อนเถื่อน ยิ่งทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลแทบจะหายไป
เหมือนประกาศเป็นศัตรูกับประชาชน
3.1 โมเดลญี่ปุ่น
Integrated Resort: IR ของญี่ปุ่น มีกาสิโนเป็นส่วนหนึ่ง เปิดกาสิโนอยู่นั้น
แต่ที่ญี่ปุ่นเขาจะทำ ไม่ใช่แบบไทยที่จะทำกันในเมืองหลวง เมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ
ญี่ปุ่นใช้เวลาเกือบสิบปีศึกษาและวางโครงสร้างนโยบาย ก่อนเปิดทางกาสิโนถูกกฎหมายในแบบดังกล่าว
โมเดลญี่ปุ่น ออกแบบให้กาสิโนเป็นเพียงส่วนเล็ก (ไม่เกิน 3%) ของโครงการ IR ประกอบกับศูนย์ประชุมระดับนานาชาติ สถานที่จัดแสดงสินค้า พื้นที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โรงแรมและที่พักหรูมาตรฐานโลก แหล่งบันเทิงและสันทนาการครบวงจร
ที่สำคัญ เขาไม่ใช่เอากำไรจากการพนันอย่างเดียว แต่กระจายรายได้สู่ภูมิภาค ยกระดับการท่องเที่ยว สร้างงาน
ญี่ปุ่น ทำที่โอซาก้า บนเกาะยูเมะชิมะ
และนางาซากิ ที่อ่าวฮิเอ็น (Huis Ten Bosch)
มีกำหนดเปิดบริการราวปี 2028–2030
เมืองโยโกฮามา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในตัวเลือก สุดท้ายถอนตัว เพราะประชาชนในพื้นที่ไม่เอาด้วย นั่นคือเขาเคารพการตัดสินใจการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นด้วย
3.2 โมเดล “มารีน่า เบย์ แซนด์ส” (Marina Bay Sands) ในสิงคโปร์
ประการสำคัญ สิงคโปร์มีการควบคุมอย่างเข้มงวดที่สุดในโลก
มารีน่า เบย์ แซนด์ส สร้างรายได้รวมกว่าแสนล้านบาท
โดยกาสิโนมีพื้นที่ส่วนน้อย แต่เป็นแหล่งผลิตเงินกว่า 70% ของรายได้ทั้งหมด
รองลงมา คือ ห้องพัก, อาหารและเครื่องดื่ม, ศูนย์การค้า และกิจกรรมอื่นๆ
ปัจจุบัน มารีน่า เบย์ แซนด์ส ยังลงทุนกว่า 170,000 ล้านบาท ขยายรีสอร์ท เพิ่มจุดขายใหม่ๆ สร้างสนามกีฬาในร่มความจุ 15,000 ที่นั่ง และปรับปรุงห้องพักให้หรูหราขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเล่นระดับพรีเมียม
แต่ก่อนสิงคโปร์จะเปิดกาสิโนในเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์นั้น เขาทำการศึกษา และเตรียมการ ทั้งเตรียมคน เตรียมระบบการบังคับใช้กฎหมายยาวนานมาก
ไม่ใช่เร่งรัดผลักดันกฎหมายแบบเร่งด่วนเหมือนที่รัฐบาลไทยพยายามทำ
สิงคโปร์ใช้เวลาศึกษามากกว่า 10 ปี ศึกษาและเตรียมการ (ไม่ใช่แค่ทำรายงานศึกษา) เขาทำเพราะสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรท่องเที่ยวอื่น จึงจำเป็นต้องทำเพื่อความอยู่รอด
เตรียมตัวให้พร้อม มีหน่วยงานกำกับดูแลกาสิโน มีวัฒนธรรมบังคับใช้กฎหมาย การเคารพกฎหมาย วินัยของคนในประเทศ ฯลฯ
“ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์บทความเรื่อง “กาสิโนเสรี” บางตอนบอกว่า
“...ในวันที่ลำบากที่สุด” ทำไม “ลี กวนยู” รัฐบุรุษแห่งสิงคโปร์ เลือกพัฒนา “คุณภาพคน”
และ “คุณภาพข้าราชการ” ก่อนเปิดกาสิโน เราได้เรียนรู้อะไร?
การอ้างเศรษฐกิจจะดีจะสร้างรายได้จาก “กาสิโนเสรี” ในชื่อ แอบแฝง “Entertainment Complex” ชวนน่าสงสัยอันตรายอย่างยิ่ง
และการนำเรื่องกาสิโนไปเปรียบกับ สิงคโปร์ แต่ไม่ไปเปรียบกับ เมียนมา และกัมพูชายิ่งสะท้อนความวิบัติในตรรกะเช่นกัน
เพราะการมีกาสิโนในประเทศข้างบ้าน สะท้อนความจริงว่า “ชาวบ้านได้อะไร” ยังคงยากจนข้นแค้น
แต่คนได้คือ “นายทุน” และ “ผู้นำการเมือง” ผู้อยู่เบื้องหลัง ที่มั่งคั่งบนความเหลื่อมล้ำ
ของสังคม
หรือท่านเคยสงสัยไหมว่า ทำไมวันที่สิงคโปร์แยกตัวออกมาจากมาเลเซีย ไม่มีทรัพยากรใด
ลำบากยากจน แม้แต่ “ลีกวนยู” นายกรัฐมนตรีถึงกับร้องไห้
ทำให้หลายคนรอบตัว ลี กวนยู บอก “นายครับ เราเปิดกาสิโนแบบมาเก๊า เอาเงินเข้าประเทศกันเถอะครับ” จะเป็นทางรอดของสิงคโปร์ แต่ลี กวนยู ปฏิเสธ
ไม่มีประเทศไหนไม่อยากได้เงินบริหารประเทศ ลี กวนยู ผู้ที่พ่อ เคยติดการพนันรู้ซึ้งถึง “อันตรายจากการพนัน”
ในวันที่สิงคโปร์ยังไม่พร้อมทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การจัดระเบียบราชการ และที่สำคัญที่สุดคือ การศึกษาสร้างภูมิคุ้มกันของคนสิงคโปร์ ที่ “ยังไม่พร้อม”
ลี กวนยูจึงประกาศ “มุ่งสร้างคนคุณภาพด้วยการศึกษาที่ดีที่สุด” และ “มุ่งสร้างระบบราชการที่ปราศจากการคอร์รัปชั่น” เป็นอันดับแรก
จนสิงคโปร์ได้ชื่อว่ามีการพัฒนาคนและพัฒนาระบบราชการโปร่งใสอันดับท็อปของโลกรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีต่อคนของสิงคโปร์ จึงเติบโตจาก 400 ดอลลาร์ต่อคนในปี 1960 จนมากกว่า 80,000 ดอลลาร์ต่อคนในปัจจุบัน หรือโตกว่า 200 เท่าตั้งแต่ลี กวนยู เริ่มบริหารประเทศ
แต่การศึกษาอย่างละเอียดเรื่อง “บ่อนกาสิโน” ยังทำต่อเนื่องมาจนถึง สมัย ลี เซียนลุงนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ภายใต้ข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยวของเกาะสิงคโปร์ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ไม่มีชายหาดที่สวยงาม ไม่มีประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ไม่มีสีสันดึงดูดนักท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับประเทศไทย ที่มีทั้งสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม อาหาร และธรรมชาติ ที่เหนือกว่าสิงคโปร์ทุกด้าน
“ลีเซียนลุง จึงประกาศให้มี “กาสิโน” ด้วยการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านภูมิคุ้มกันกับประชาชน และด้านการเยียวยาผลกระทบ จากการศึกษามายาวนาน
แต่ที่น่าสนใจ เราแทบไม่เคยได้ยินว่า ลี เซียนลุง แสดงความภาคภูมิใจกับผลงานชิ้นนี้ของรัฐบาลเขาเลย (มีแต่นักการเมืองไทยที่ชื่นชม)
และยังมีหลายคนพูดว่า หากสิงคโปร์ย้อนเวลากลับไปได้ อาจไม่ทำเรื่องกาสิโนก็ได้
ผมจึงสงสัยอย่างไร้อคติว่า ผู้นำไทยเรียนรู้อะไรบ้างจากผู้นำสิงคโปร์ ทำไมผู้นำไทยจึงเร่งร้อนเลือกทางกาสิโนเสรีก่อน เตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาคน และด้านการบังคับใช้กฎหมาย
ผมขอให้ผู้นำไทยมีความเป็น Stateman หรือ รัฐบุรุษ คิดถึงอนาคตของชาติ อนาคตเด็กไทยสักนิดก็ยังดี ก่อนบุ่มบ่ามเปิดบ่อนกาสิโนภายใต้ความ “ไม่พร้อม”
เพราะหากผลกระทบที่ตามมา ไม่ใช่อย่างที่พูด คนไทยนอกจากไม่ได้มีรายได้เพิ่มอย่างเท่าเทียม ลูกหลานติดการพนันเสียคน บ่อนนอกพื้นที่อนุญาตเกิดใหม่อย่างไร้การควบคุมรากฐานสังคมถูกทำลาย ถึงวันนั้น ขอโทษ เสียใจ คงไม่พอ”
3.3 ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ระบุว่า ร่างกฎหมายของไทยฉบับนี้ อ้างต้นแบบจากความสำเร็จของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถพัฒนาโครงการกาสิโนและเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ได้ โดยควบคุมความเสี่ยงทางสังคมได้ดี อย่างไรก็ตาม กฎหมายของไทยกลับไม่นำกลไกการป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดจากสิงคโปร์มาปรับใช้
สิงคโปร์มีกลไกเข้มงวดในการป้องกันผลกระทบ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมี “สภาแห่งชาติ ว่าด้วยปัญหาจากการพนัน” (National Council on Problem Gambling) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 เพื่อทำหน้าที่ป้องกันและเยียวยาปัญหาจากการพนัน ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน เพื่อป้องกันการติดพนันตั้งแต่ต้นทาง
4. ในความเป็นจริง ผลการศึกษาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรนี้ก็พบความเสี่ยงผลกระทบ ที่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่มีหลักประกันอะไรได้เลย
เพียงแต่ยังพยายามยกเอาข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาบดบังเอาไว้เท่านั้นเอง
ผลกระทบโดยรวมที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย
ผลกระทบต่อสังคม พบว่า หากการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปอย่างเคร่งครัด อาจทำให้สถานบันเทิงครบวงจรกลายเป็นศูนย์รวมอบายมุข และแหล่งอาชญากรรม ซึ่งจะกระทบต่อเด็กและเยาวชน ตลอดจนวัยแรงงาน และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ และส่งผลในภาพรวมของประเทศในการที่อาจต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการมีสถานบันเทิงครบวงจร
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาวะ พบว่า การตั้งสถานบันเทิงแบบครบวงจรแบบมีกาสิโนรวมอยู่ด้วยอาจก่อให้เกิดปัญหา เช่น เสียงรบกวนและการสั่นสะเทือนจากการแสดง ดนตรีสด การเปิดเพลงเสียงดังของสถานบันเทิง การรวมกลุ่มมั่วสุม การดื่มสุรา เสียงจากการก่อสร้าง และการประกอบกิจการ รวมถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป มลภาวะจากขยะ ฝุ่น และผง เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของบรรดาผู้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานบันเทิงครบวงจรได้
เสียงสะท้อนสำคัญที่มากขึ้นเรื่องๆ คือ ข้อกังวลว่าจะเป็นสถานที่ฟอกเงิน หรือใช้กลไกที่มากับกาสิโนเป็นเครื่องมือฟอกเงิน เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ
ซึ่งถ้าเช่นนี้แล้ว ธุรกิจใต้ดิน ธุรกิจผิดกฎหมาย นอกจากจะไม่หมดไป ยังจะเติบโตคู่ขนาน เพราะมีช่องทางกลไกในการช่วยฟอกเงินให้เสร็จสรรพด้วย
รัฐบาลควรรับฟัง และได้ยินประเด็นเหล่านี้
มิใช่หน้ามืดตามัว หูหนวกตาบอด เพราะผลประโยชน์ หรืออาณัติสั่งการจากผู้มีอำนาจตัวจริงเหนือพรรคของตนเอง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี