รู้หรือไม่ว่าในชีวิตประจำวันของคนไทย การตัดสินใจง่ายๆ อย่างการเปิดหรือปิดหน้าต่างกลับสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของคุณภาพชีวิตและปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนให้ผู้อ่านทุกท่านทำความเข้าใจปัญหามลพิษในอากาศจากก๊าซเรดอนในอาคาร ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 และความสำคัญของการบริหารจัดการของภาครัฐ ผ่านพฤติกรรมง่ายๆ อย่างการเปิดหรือปิดหน้าต่าง
เมื่อปิดหน้าต่าง เราจะเจอกับ“ก๊าซเรดอน” กัมมันตภาพรังสีที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แผ่รังสีออกมาจากดิน หิน น้ำ ทราย คอนกรีต และปูนซีเมนต์ที่มนุษย์ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก๊าซเรดอนมักจะสะสมอยู่ในอาคาร โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศไม่ดี หากสะสมจนมีความเข้มข้นสูงก็จะกลายเป็นพิษและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด (ก๊าซเรดอนเป็นอันดับ 2 ของสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด รองจากการสูบบุหรี่) แน่นอนว่าบ้านและสถานที่ทำงานของเราก็มีก๊าซเรดอนอยู่เช่นกัน แต่ความเข้มข้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดย US EPA หรือสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาได้ระบุค่ามาตรฐานของก๊าซเรดอนที่มีผลบังคับตามกฎหมายไว้ที่ 4 pCi/L หรือไม่เกิน 150 Bq/m3 ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยในอาคารไม่ควรเกิน 148 Bq m/3 หากมีค่าเกินจากนี้จะต้องรีบหาวิธีลดปริมาณก๊าซเรดอนลงโดยเร็ว อย่างไรก็ตามจากรายงานเกี่ยวกับ Radon The Hidden Hazard in Buildings (ธัชพงศ์ ศรีสุวรรณ, 2549) ระบุว่าแม้ US EPA จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ แต่ US EPA เชื่อว่าไม่มีค่าใดที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับก๊าซเรดอน และค่ามาตรฐานที่ US EPA ระบุนั้นเป็นค่าที่อิงมาจากขีดความสามารถของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ใช้ลดระดับของก๊าซเรดอน ในความเป็นจริงแล้วสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 และกำหนดค่าเรดอนในอาคารต้องต่ำกว่าระดับ 0.2-0.7 pCi L/1 หรือประมาณ 7-25 Bq m/3 แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทำให้ไม่สามารถบรรลุค่าดังกล่าวได้ สำหรับประเทศไทย ภัยร้ายที่มาจากก๊าซเรดอนยังไม่ถูกพูดถึงในหมู่คนทั่วไปมากนัก แต่มีการศึกษาในแวดวงวิชาการอยู่บ้าง โดยจากการสำรวจและประเมินความเสี่ยงต่อเรดอนภายในและภายนอกอาคารในพื้นที่ชุมชน เขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่าใน 2,161 ครัวเรือน มีค่าก๊าซเรดอนอยู่ในช่วง 9-1,307 Bq/m3 โดยมีระดับความเข้มข้นก๊าซเรดอนเฉลี่ยของจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง ระหว่าง 225-268 Bq/m3 ซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าระดับมาตรฐานของ US EPA คือ 148 Bq/m3 นอกจากนี้จากการสำรวจก๊าซเรดอนในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าสาเหตุสำคัญที่อำเภอสารภีมีอุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งปอดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศนั้นไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่ แต่เป็นการสูดดมเอาก๊าซเรดอนเข้าไปในร่างกาย และยังพบอีกว่าถึงแม้ปริมาณของก๊าซเรดอนในอำเภอสารภีจะมีปริมาณที่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานของ US EPA แต่ก๊าซเรดอนกลับส่งผลต่ออุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดอย่างมีนัยสำคัญ และยังย้ำให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสำหรับก๊าซเรดอนนั้นไม่มีค่าใดที่ปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศในบริเวณอำเภอสารภี ยังมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ประกอบกับความกดอากาศสูง ทำให้ทั้งก๊าซเรดอนและฝุ่น PM2.5 สะสมอยู่ในพื้นที่ใกล้ผิวดิน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษเหล่านี้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว
เมื่อเปิดหน้าต่าง เราจะเจอกับฝุ่น “PM2.5” หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาด 2.5 ไมครอน กล่าวคือเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมถึง 30 เท่า ด้วยขนาดที่เล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ทำให้เจ้าฝุ่นจิ๋วนี้สามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดของเราได้โดยตรง ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น ในประเทศไทยเราเผชิญกับฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอยู่ทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และเริ่มรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา จากการเก็บข้อมูลของกรมมลพิษในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดถึง 218.6 มคก./ลบ.ม.ตามค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง หรือมากกว่าค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดถึง 43.72 เท่า โดย WHO ระบุว่าค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 ไม่ควรเกิน 5 มคก. ลบ.ม. ตามค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อาจจะถือได้ว่านอกจากฤดูฝน ฤดูร้อนและฤดูหนาวแล้ว เราก็ยังมี “ฤดูฝุ่น” เป็นของตัวเองอีกด้วย
เมื่อภายนอกเต็มไปด้วยฝุ่น แต่ภายในก็ไม่ปลอดภัย
เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่มาจากก๊าซเรดอน เราควรจะเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ โดย U.S. Centers for Disease Control and Prevention ได้แนะนำให้เราเปิดหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศ และระบุว่าหากอาคารมีการระบายอากาศและมีการไหลเวียนของอากาศที่ดีก็จะช่วยลดความเข้มข้นของก๊าซเรดอนได้ ในขณะเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่มาจากฝุ่น PM2.5 WHO ได้ให้คำแนะนำให้เราปิดหน้าต่างเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ในบ้าน เอ้า! แล้วแบบนี้เมื่อถึงฤดูฝุ่นที่เราจำเป็นต้องปิดหน้าต่างในบ้าน นั่นหมายถึงเรากำลังสะสมก๊าซเรดอนไว้ในบ้านที่เราอาศัยอยู่ใช่หรือไม่? และถ้าบ้านของเราไม่มีเครื่องฟอกอากาศก็เท่ากับว่าเรากำลังสูดดมทั้งก๊าซเรดอน และฝุ่น PM2.5 เข้าไปในร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้เราจะพยายามดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงแต่เรากลับต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องเลือกระหว่าง เปิดหน้าต่างเพื่อระบาย “ก๊าซเรดอน” หรือปิดหน้าต่างหนี “ฝุ่น PM2.5” คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ ทำไมเราต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ตั้งแต่แรก? ถึงแม้ว่าจะสามารถลดความเข้มข้นของก๊าซเรดอนและ PM2.5 ด้วยเครื่องฟอกอากาศ(ในกรณีที่จะลดความเข้มของก๊าซเรดอนจำเป็นต้องใช้ตัวกรองที่เป็นถ่านกัมมันต์เท่านั้น) หรือวิธีการอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างคนรวยที่มีเงินซื้ออากาศบริสุทธิ์ให้ตนเองและคนจนที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัดที่ไม่ควรเกิดขึ้นหากรัฐมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
อากาศสะอาดในประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นได้จริงไหม?
แม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดการแผ่รังสีของก๊าซเรดอนได้ แต่เราสามารถลดฝุ่น PM2.5 เพื่อให้อากาศสะอาดขึ้นได้ และหากอากาศสะอาดขึ้นการจัดการกับก๊าซเรดอนภายในบ้านก็จะทำได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
ปัจจุบัน ภาครัฐกำลังดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และจัดทำร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการออกมาตรการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่ประสิทธิภาพในการบังคับใช้ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วหลายฉบับ เช่น การออกมาตรการเพิ่มจุดตรวจสอบควันดำ การออกมาตรการห้ามเผาในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งยังมีการทำข้อตกลงในระดับอาเซียนเพื่อจัดการปัญหามลพิษ แต่ภาครัฐกลับไม่สามารถบังคับใช้มาตรการหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่สามารถควบคุมการเผาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในละแวกใกล้เคียงได้ โดยจากข้อมูลของ GISTDA พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ประเทศไทยมีจุดความร้อนรวมกันสูงถึง 38,707 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2567 ถึง 1,823 จุด สถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การบริหารจัดการที่ดีไม่ใช่แค่การออกกฎหมาย หรือการให้คำมั่นสัญญาแต่คือการบังคับใช้และลงมือทำให้ประชาชนเห็น สุดท้ายนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งผู้เขียนก็หวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็น “อากาศสะอาด” และการบริหารจัดการที่ดีในประเทศไทยสักที
อ้างอิง
GISTDA. (n.d.). Hotspots Monitoring System. https://disaster.gistda.or.th/fire/main#0/0/0
GISTDA. (n.d.). PM2.5 Monitoring System. https://pm25.gistda.or.th/
MGR Online. (2567, มีนาคม 18). แพทย์เผย “สารภี” เชียงใหม่ครองแชมป์มะเร็งปอดประเทศ. https://mgronline.com/local/
detail/9510000036657
Thai PBS Policy Watch. (n.d.). แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก
(PM 2.5). https://policywatch.thaipbs.or.th/policy/environment-1
Thai PBS Policy Watch. (n.d.). พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด.
https://policywatch.thaipbs.or.th/policy/environment-2
Thai PBS Policy Watch. (n.d.). เสือกระดาษ “ข้อตกลงอาเซียน” แก้ฝุ่นข้ามแดน.https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-90
United States Environmental Protection Agency. (2567, ธันวาคม 2). What is EPA’s action level for radon and what does it mean?. https://www.epa.gov/radon/what-epas-action-level-radon-and-what-does-it-mean
US Centers for Disease Control and Prevention. (2567, กุมภาพันธ์ 15). Radon prevention. https://www.cdc.gov/radon/prevention/index.html
World Health Organization. (n.d.). Radon and health. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/radon-and-health
World Health Organization. (n.d.). WHO Air Quality Guidelines. https://www.c40knowledgehub.org/s/article/WHO-Air-Quality-Guidelines
ไตรภพ ผ่องสุวรรณ, และคณะ. (n.d.). เรื่องการประเมินความเสี่ยงต่อเรดอนภายในและภายนอกอาคารในพื้นที่ชุมชน เขตลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
ธัชพงศ์ ศรีสุวรรณ. (2006). Radon: The hidden hazard in buildings. Journal of Architectural/Planning Research and Studies, 4(2).
พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช, และคณะ. (n.d.). ความสัมพันธ์ระหว่างระดับก๊าซเรดอนในที่อยู่อาศัย และมะเร็งปอดในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เมธาพร ไตรกิจวัฒนกุล. (2566, มกราคม 16). “ก๊าซเรดอน” สารก่อมะเร็งปอดใกล้ตัว อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ แนะวิธีป้องกัน. https://www.chula.ac.th/highlight/97284/
ธรีญา อึ้งตระกูล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี