เริ่มแล้ว การบังคับเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติมของสหรัฐอเมริกา
อ้างว่า เพื่อโต้ตอบกับการที่สหรัฐขาดดุลการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยสินค้าของไทยถูกเก็บในอัตราที่ 36%
สูงสุดเป็นอันดับ 5 ในอาเซียน รองจากกัมพูชา (49%) ลาว (48%) เวียดนาม (46%) และเมียนมา (44%)
พูดง่ายๆ ว่า สินค้าส่งออกจากไทยเรา โดนเก็บภาษีเพิ่มอีก 36%
1. ประเทศต่างๆ มีท่าทีรับมือและแก้ปัญหาต่างกันไป
บางประเทศ รีบยื่นข้อเสนอลดภาษีให้สหรัฐเหลือ 0% แต่สหรัฐก็ไม่พอใจ
บางประเทศ ผู้นำออกทีวี แถลงสภาวะวิกฤตสงคราวเศรษฐกิจ ให้ประชาชนตื่นรู้ร่วมกัน
ผู้นำมาเลเซีย ประธานอาเซียน เรียกร้องให้ประเทศอาเซียนผนึกกัน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับสหรัฐ
แต่บางประเทศในอาเซียนก็แยกไปยื่นข้อเสนอกับสหรัฐเสียแล้ว
ส่วนประเทศไทย ภายใต้นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ทางการไทยเคยประเมินไว้ว่าอาจถูกเก็บภาษีที่ 11% (ช่วง 10-15%) ขณะนี้มีการเตรียมแนวทาง แต่ยังไม่มีการยื่นข้อเสนอต่อสหรัฐ และยังไม่มีการพูดคุยหรือเปิดเผยข้อมูลสำคัญกับประชาชนในชาติ ว่าสินค้าใด เกษตรใด ผู้ประกอบการใด จะได้รับผลกระทบแค่ไหน และรัฐมีแนวทางจะดูแลช่วยหาทางออกอย่างไร?
2. การกระทำของสหรัฐส่งผลรุนแรงต่อการค้าโลก และต่อประเทศไทย คนไทยทั้งประเทศ เหมือนคลื่นสึนามึถล่ม
2.1 มุมมองของวิจัยกรุงศรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ในระยะสั้น มาตรการภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ อาจทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างมาก
และเฉลี่ยทั้งปี 2568 อาจเติบโตใกล้ศูนย์ หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาลดภาษี
อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่
ผลกระทบสูง: อาหารทะเลแปรรูป ยางรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และถุงมือยาง เนื่องจากสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำสำหรับสินค้าไทยกลุ่มนี้และสหรัฐฯถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างมากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกและการผลิตสินค้าเหล่านี้
ผลกระทบปานกลาง: ยางพารา ข้าว รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้า พลาสติก อุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ และเหล็กและเหล็กกล้า แม้สหรัฐฯ จะยังเป็นตลาดหลักของสินค้าเหล่านี้ แต่ตลาดอื่นๆ ก็มีสัดส่วนที่สำคัญ นอกจากนี้ไทยเองก็ผลิตสินค้าเหล่านี้เพื่อใช้ในประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูปและยางรถยนต์ อาจส่งผลต่อเนื่องผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต ซึ่งจะกระทบไปยังการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่งผลลบต่อการจ้างงาน รวมถึงกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ
...สำหรับผลกระทบในระยะปานกลางถึงระยะยาว อาจจะรุนแรงน้อยกว่าในระยะสั้น เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดกับไทยยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ อาทิ จีนและเวียดนาม ส่งผลให้การย้ายฐานการลงทุนและผลของการทดแทนการส่งออกสินค้าอาจส่งผลบวกในเชิงเปรียบเทียบต่อการส่งออกและการผลิตบางรายการของไทย
การประเมินผลกระทบโดยอาศัยแบบจำลอง Global_Trade_Analysis_Project (GTAP) วิจัยกรุงศรีพบว่า จากการขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ นี้ จะทำให้การส่งออกและ GDP ของไทยในระยะกลางถึงยาวลดลง -2.6% และ -0.11% ตามลำดับ
และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พบว่า GDP ของเวียดนามและกัมพูชาจะลดลงมากกว่าไทย เนื่องจากถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงกว่า และมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯมากกว่า
ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าไทย
ในระยะข้างหน้าความตึงเครียดทางการค้าโลกอาจมีพัฒนาการในหลายทิศทาง ได้แก่
(i) การเจรจาที่นำไปสู่ข้อตกลงทวิภาคีกับสหรัฐฯ
(ii) มาตรการตอบโต้ที่ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อ
หรือ (iii) ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกดดันภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประสิทธิภาพการผลิตของหลายประเทศลดลง และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัวแบบรูปตัว K (โดยภาคการผลิตหลายสาขายังคงฟื้นตัวได้ช้าหรือการเติบโตที่อ่อนแอกว่าภาคบริการอยู่มาก) ผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตสำคัญของไทย และกดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงปานกลางให้ยิ่งอ่อนแอลง
2.2 มุมองของวิจัยกสิกรไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลังจากนี้ ต้องติดตามผลการเจรจาที่ออกมา ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการค้าของแต่ละประเทศในระยะข้างหน้า
ผลกระทบต่อการค้าของไทย (ยังไม่ได้รวมผลจากการเจรจา): ส่งออกภาพรวมของไทยปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวลงมาอยู่ที่ -0.5%
จากประมาณการเดิมที่ 2.5%
เฉพาะการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ คาดว่าจะหดตัวที่ -10% ในปี 2568 จากความต้องการสินค้าไทยของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มาก และ/หรือกลุ่มที่อัตราภาษีนำเข้าที่ไทยถูกเรียกเก็บจากสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่ง ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ อาหาร (ข้าว ปลา กุ้ง อาหารสัตว์เลี้ยง) และเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งในภาวะที่การแข่งขันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงและอัตรากำไรมีจำกัด ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยอาจไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าเพื่อรักษาอุปสงค์ได้มากเท่าใดนัก
ผลกระทบทางอ้อม: การส่งออกไทยไปยังตลาดอื่นๆ คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจาก
การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของคู่ค้าต่างๆ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าไปยังจีน อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ โพลิเมอร์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
การส่งออกไทยไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าจีน อาทิ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ของเล่น พลาสติกและโพลิเมอร์ เป็นต้น
การส่งออกในภาพรวมได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ชะลอลง โดยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับคู่ค้าทั่วโลกในระดับสูงคาดว่าจะเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบสินค้าอื่นๆ เช่น เกษตรและอาหาร รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูปด้วย
ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย: การลงทุนเอกชนจะมีความล่าช้าออกไป และการบริโภคครัวเรือนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการสงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอน โดยยังขึ้นอยู่กับการเจรจาของแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บมีการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะข้างหน้า ในขณะที่ยังต้องติดตามมาตรการเยียวยาผลกระทบดังกล่าวจากภาครัฐ
เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่าจะเข้ามาจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปีก่อนหน้าอาจล่าช้าออกไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลก ประกอบกับได้คำนึงถึงผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันที่ 28 มี.ค. ที่คาดว่าจะส่งผลให้การก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจล่าช้าออกไปเล็กน้อย จากก่อนหน้านี้ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการลงทุนภาคเอกชนในภาคก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องในปีนี้อยู่แล้ว ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการลงทุนภาคเอกชนปี 2568 จะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% จากประมาณการเดิมที่ 2.5%
การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว วันที่ 28 มี.ค. ในขณะที่ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกระทบผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ภาคการผลิตของไทยที่อาจจะหดตัวลึกขึ้น ส่งผลต่อการจ้างงานที่ชะลอลง ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนยังสูง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนลงมาอยู่ที่ 2.0% จากประมาณการเดิมที่ 2.4%
ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซ้ำเติมจำนวนนักท่องเที่ยวสำคัญที่เดิมก็มีสัญญาณปรับลดลงอยู่แล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์
ที่ผ่านมา เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เป็นต้น ภายใต้การแข่งขันในการดึงนักท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในช่วงข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปีนี้มาอยู่ที่ 35.9 ล้านคน จากประมาณการเดิมที่ 37.5 ล้านคน
ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบในเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย และคาดว่าขนาดผลกระทบดังกล่าวอยู่ที่ 1.0% ของ GDP
ส่งผลให้ GDP ปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจาก 2.4% มาอยู่ที่ 1.4%
โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
3. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีตำแหน่งเป็นนายกฯ ด้อยบารมี อ่อนประสบการณ์ความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามเศรษฐกิจการค้า และความมั่นคงระดับโลก
ล่าสุด มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะไปพูดคุยกับหลายภาคส่วนของอเมริกา แต่ยังไม่ได้นัดหมายว่าจะไปเมื่อไหร่
มีการประชุมติดตามสถานการณ์
อ้างว่า วางยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ บนหลักการ “รู้เขา” และ “รู้เรา”
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กล่าวถึงแนวทาง 5 แนวทาง อ้างว่า รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายในลักษณะ win-win solution เพื่อให้เกิดผลดีทั้งต่อไทยและสหรัฐฯ เตรียมเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR
ทั้งหมด คือ ยังไม่ได้แม้แต่นัดหมายเจรจา
ที่สำคัญกว่านั้น ประเทศไทยไม่มีผู้นำที่จะหลอมรวมคนไทยทุกภาคส่วน รับมือกับสภาวะวิกฤตรุนแรงระดับโลกครั้งนี้ ไม่มีการบอกกล่าวประชาชนว่ากลุ่มอาชีพใดจะต้องรับแรงสั่นสะเทือนแค่ไหน รัฐมีมาตรการอะไรดูแล
นายกฯ เด็กเล่นขายของ กำลังซ้ำเติมสถานการณ์ประเทศไทยหนักขึ้นทุกวัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี