ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เสนอญัตติด่วนเพื่อให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ โดยขอให้เป็นการประชุมลับ เมื่อเปิดประชุมแล้ว ทางนายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้แถลงว่า
“เมื่อ 2-3 วันนี้ มีเรื่องเกิดขึ้นในหน่วยกองพันต่างๆ ในกรมทหารบางหน่วย คือเกิดขึ้นจากนายสิบที่ประจำอยู่ในกองพันนั้นๆ ได้มีการมั่วสุมประชุมกัน คิดจะเปลี่ยนการปกครองจากระบอบรัฐธรรมนูญไปเป็นแบบดิกเตเตอร์ แต่หากว่าทางฝ่ายรัฐบาลได้รู้เสียก่อนในเรื่องนี้ และได้กระทำการจับกุมกันอย่างลับๆ อย่างเงียบๆ และเป็นผลสำเร็จ และได้นำตัวพวกเหล่านี้มากักขังแยกกันไว้แล้ว แล้วก็ได้กระทำการไต่สวนกันในทางที่จะทำคดีสำหรับจะฟ้องร้องยังโรงศาลต่อไป ในโอกาสนี้ข้าพเจ้าจึงขอเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นใหม่ เพราะศาลพิเศษที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่คลุมหมายถึงศาลพิเศษอันใหม่นี้ เพราะเหตุการณ์ในสมัยนั้นก็หมดลงแล้ว ศาลพิเศษอันนั้นก็เป็นอันเลิกล้มไปเพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องตั้งศาลพิเศษขึ้นใหม่ ถ้าไม่ตั้งศาลพิเศษ จะรอชักช้าจะว่ากันอย่างโรงศาลตามปกติแล้ว เหตุการณ์จะยืดเยื้อแล้วก็จะไม่เหมาะกับเหตุการณ์ จึงต้องขออนุญาตให้สภาฯ ออกพระราชบัญญัติเรื่องนี้ขึ้น และขอเปลี่ยนระเบียบวาระเป็นเอาเรื่องนี้ขึ้นเสนอก่อนเพื่อพิจารณา”
ประธานฯได้ถามความเห็นสมาชิกฯ ปรากฏว่าหลวงวรนิติปรีชา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย ได้ลุกขึ้นถาม “อยากทราบว่าตุลาการศาลพิเศษนั้นจะตั้งบุคคลชนิดใด ทั้งนี้เพื่อข้าพเจ้าไม่ต้องการให้เป็นอย่างศาลพิเศษที่พิจารณาในเรื่องกบฏ เพราะเหตุว่าต้องการให้คนที่เป็นกลางจริงๆ เป็นตุลาการ” ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ตอบหลวงวรนิติปรีชาให้ชัดเจน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ชี้แจงอย่างละเอียดต่อมา ว่า
“เหตุเกิดขึ้นโดยความคิดของนายทหารชั้นประทวน… ได้ความว่ามีข้าราชการชั้นนายสิบตามกองพันทหารต่างๆ ได้คิดร่วมกัน และตรวจสอบแล้วปรากฏในคำแถลงการณ์ซึ่งจับได้ว่าในการปกครองของบ้านเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้ หาได้เป็นไปในระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงไม่ และเขาเข้าใจว่าในระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงนั้นคนเราควรเสมอกันหมด ไม่จำเป็นจะต้องมีนายทหาร แปลว่าควรจะมีแต่นายสิบ ด้วยความตั้งใจดังกล่าวแล้ว จึงได้คิดเปลี่ยนการปกครองขึ้น โดยนายสิบชั้นผู้ใหญ่ในกองพันทุกกองพัน แล้วก็ให้นายสิบชั้นผู้ใหญ่ในกองพันนั้นๆ เกลี้ยกล่อมนายสิบภายในกองพันทุกๆกองพันต่อไป ให้ทราบความมุ่งหมายอันนี้ นอกจากนั้นเขายังได้วางโครงการอีกว่าเวลาที่จะกระทำการนั้นจำเป็นที่จะต้องฆ่านายทหารเสียให้หมด คือเขาได้จัดการทำลูกกุญแจคลังอาวุธและโรงเก็บปืนกลไว้ และได้นัดหมายกับพลทหารว่า เวลาที่เขาทำแล้วเขาจะให้พลทหารทุกๆ กองพันนั้น ทำเป็นที่ว่าเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น เพื่อจะให้นายทหารวิ่งออกมาจากบ้าน เพราะบ้านพักนายทหารอยู่ในกองพัน แล้วนายสิบพลทหารจะได้จัดการยิงนายทหารในขณะนั้น และเขาได้วางโครงการต่อไปว่า เมื่อนายทหารทุกๆ กองพัน ถูกฆ่าหมดแล้ว ก็ใช้จ่านายสิบเป็นผู้บังคับกองพัน ส่วนข้าพเจ้ากับเจ้าคุณพหลฯ นั้นจะได้จับไว้เป็นประกัน และเมื่อได้ทำการเสร็จแล้วก็จะได้จัดการประหารชีวิตต่อไป…และที่ได้ไต่สวนแล้วก็มีหลักฐานอันแท้จริงและสามารถที่จะจัดการฟ้องให้ศาลลงโทษได้ ความจริงความคิดอันทางทหารถือว่าเป็นของที่ร้ายแรงมาก เพราะเหตุเมื่อฆ่าการเสียหมดแล้วบรรดาทหารที่อยู่ตามกองพันต่างๆ ก็ไม่สามารถจะควบคุมกันอยู่ได้ ……เวลานี้จับนายสิบไว้เพียง 15 คนเท่านั้น โดยมากเป็นนายสิบทหารราบ ส่วนทหารปืนใหญ่ ทหารม้า ทหารช่างอื่นๆก็ไม่ปรากฏเชื่อว่าเหตุการณ์ ที่ได้เกิดขึ้นในครั้งนี้คงเป็นมาจากคนภายนอก แต่ว่ายังจับไม่ได้”
ในวันนั้นอภิปรายกันไม่นานสภาฯก็ได้ลงมติรับหลักการด้วยเสียงที่มากถึง 80 เสียง และพิจารณาต่อครบ 3 วาระ เป็นอันว่ารัฐบาลสามารถออกกฎหมาย ได้ตามที่ต้องการ
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี