ขณะที่ท่านกำลังถือ “นสพ.แนวหน้า” ฉบับนี้ คือวันที่ 12 เม.ย. 2568 ซึ่งเข้าสู่ช่วงหยุดยาว “เทศกาลสงกรานต์” แล้ว หลายคนคงกำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปท่องเที่ยว ซึ่ง “ที่นี่แนวหน้า” ก็ขออวยพรให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ ได้พักผ่อนเติมพลังในชีวิตก่อนกลับมาต่อสู้กันต่อไป
สำหรับคอลัมน์ประจำสัปดาห์นี้ ขอหยิบยกแง่มุมที่น่าสนใจจากการแถลงข่าวของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 โดยเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมหญิง 9 ราย ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ในการทำบันทึกจับกุมพร้อมชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุข้อหา “เตร็ดเตร่” โดยอ้างถึง ความผิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และลงโทษปรับเป็นเงินคนละ 50 บาท โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565
การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2567 อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีการร้องเรียนเข้ามายัง กสม. ให้ตรวจสอบ เนื่องจากผู้ร้องตั้งข้อสังเกตว่า 1.ข้อหาเตร็ดเตร่ไม่มีใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และ 2.การปรับเป็นพินัย สำหรับความผิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไม่ใช่ตำรวจ
จากการตรวจสอบของ กสม. เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การแจ้งข้อหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งฐานความผิดตาม “มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539” ที่ระบุว่า “ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน”
แต่ในใบเสร็จรับเงินค่าปรับ กลับระบุข้อหาเตร็ดเตร่ ซึ่งข้อหานี้อยู่ใน “มาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503” ที่ระบุว่า “เตร็ดเตร่หรือคอยอยู่ตามถนนหรือสาธารณสถานในลักษณะหรืออาการที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณี” ซึ่งในความเป็นจริง “พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ถูกยกเลิกไปแล้ว” และแทนที่โดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ที่บังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน
2.ผู้มีอำนาจหน้าที่ ในเดือน ต.ค. 2565 ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ กำหนดให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เป็นความผิดทางพินัย และไม่ถือว่าการปรับเป็นพินัยนั้นเป็นโทษทางอาญา และกำหนดให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น ออกประกาศกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย
และในเวลาต่อมา “กระทรวง พม. ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 บังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566” และเพิ่มเติมฉบับที่ 2 บังคับใช้เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยในความผิดทางพินัย”
ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและควบคุมตัวหญิงทั้ง 9 ราย ไปที่สถานีตำรวจ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา ทำประวัติอาชญากร และปรับผู้ถูกจับกุม เป็นการจับกุม ควบคุมตัว และปรับโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และการระบุข้อหาในใบเสร็จรับเงินค่าปรับว่าเตร็ดเตร่ฯ ยังเป็นการระบุข้อหาที่เป็นความผิดอาญาตามความในมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว จึงเป็นการระบุโทษที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
จากกรณีที่เกิดขึ้น ทาง กสม. มีข้อเสนอแนะ “ให้กระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย เมื่อพบผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด
รวมทั้งกำหนดแบบฟอร์มเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว และกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บไฟล์วิดีโอที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงสั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยในสังกัดดำเนินการตามแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด”
อนึ่ง เคยมีกรณีคล้ายกันในการแถลงข่าวของ กสม. เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ครั้งนั้นผู้ร้องระบุว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ จ.ชลบุรี อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีอำนาจจับกุมและเปรียบเทียบปรับตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เนื่องจากในคำร้องระบุว่า การจับกุมเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. 2566 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 ต.ค. 2566 ที่กระทรวง พม. จะออกประกาศ เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาบังคับใช้
โดยในครั้งนั้น กสม. ได้เสนอแนะให้ ตร. กำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการและแสวงหาข้อเท็จจริง เมื่อพบผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด รวมถึงให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวง พม. ร่วมกับ ตร. จัดทำแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 5 เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
จากตัวอย่างข้างต้น ชี้ให้เห็นปัญหา “แม้กฎหมายจะมีการปรับเปลี่ยน แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานอาจยังไม่ได้รับรู้อย่างทั่วถึง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองและการออกกฎหมายต่างๆ ทำให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ไปตามขั้นตอนของกฎหมายเดิมทั้งที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบกับประชาชนในฐานะผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยที่อาจกลายเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง เพราะดำเนินการไปโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไว้!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี