อดีตผู้อำนวยการสถาบันศึกษา ผู้มีนิวาสถานอยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา บอกกับ แนวหน้า ว่า เสียงโซนิคบูมจากเครื่องบินรบกองทัพอากาศไทย ลดความซ่าทหารเขมรต่ำลงได้ระดับหนึ่ง “เมื่อวานนี้ทหารเขมรระดับพลตรี คนที่นำแม่บ้านทหารขึ้นมาแสดงสัญลักษณ์ร้องเพลงชาติกัมพูชา เมื่อเดือนก่อน ขึ้นมาพูดคุยภาษาเขมรกับทหารพรานว่า “เรามาดีนะ” แหล่งข่าวกล่าว และเสริมว่า “ท่าทีเขาอ่อนลงไปมากไม่แข็งกร้าว ไม่ก้าวร้าวเหมือนเมื่อก่อน”
แหล่งข่าวกล่าวว่า มันเป็นนิสัยถาวรของทหารเขมร ที่อยู่ติดกับชายแดนไทยตรงข้ามจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ที่มักก่อกวนยั่วยุทหารไทย เมื่อไหร่ก็ตามที่กัมพูชามีปัญหาภายใน เรื่องไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลวการบริหารประเทศ และ คอร์รัปชั่น รัฐบาลพนมเปญมักสร้างประเด็นขัดแย้งกับประเทศไทย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปที่ความคลั่งชาติหวงแหนดินแดนของรัฐบาลกัมพูชา แต่เมื่อทหารไทยขึงขังจริงจัง ทหารกัมพูชาก็ลดความซ่าลงทุกครั้ง
“ความตึงเครียดตามแนวชายแดนครั้งนี้ก็เหมือนที่แล้วๆ มาคือ เมื่อเกิดปัญหาภายใน เขมรก็สร้างความตึงเครียดกับเพื่อนบ้าน โดยระดมทหารมาแสดงอาการก้าวร้าวใส่ทหารไทย แต่ดีที่ แม่ทัพภาคที่ 2 ท่านนี้เก่งมาก ท่านเป็นคนฉลาดรักชาติ และไม่ยอมให้ใครรุกล้ำอธิปไตยของไทยได้”
แหล่งข่าวผู้มีบ้านอยู่ใกล้ปราสาทตาเมือนธม กล่าว และอธิบายว่า สถานการณ์ชายแดน ไทย-กัมพูชา ทั้งสองฝ่าย เตรียมพร้อมเต็มอัตราศึกกันมาเดือนกว่าแล้ว
“รถถัง รถหุ้มเกราะ ปืนใหญ่ ประจำการตลอดชายแดนทั้งสองฝั่ง” แหล่งข่าวกล่าว “แต่ของกองทัพไทยอยู่ในยุทธภูมิได้เปรียบในที่สูงข่มรถถังปืนใหญ่ของเขมรจอดเรียงรายอยู่ที่ราบต่ำใกล้ตีนเขา ส่วนของเราอยู่บนเนินสูง”
ทหารเขมรก็ซ้อมรบเกือบทุกวัน เหมือนกับทหารไทย แต่พวกเขาสวนสนามกันอยู่บนถนนเลียบเชิงเขา ส่วนของกองทัพภาคที่ 2 ซ้อมรบอยู่ในที่สูงข่ม“ที่สำคัญเครื่องบินรบของเรามีประสิทธิภาพสูงกว่า เสียงโซนิคบูม จากเครื่องบินรบกองทัพอากาศไทยข่มขวัญทหารเขมรได้มากทีเดียว” อดีตผู้อำนวยสถาบันศึกษา ผู้คุ้นเคยกับคนเขมรต่ำกล่าวด้วยว่า พื้นที่กัมพูชา
ตรงข้ามกลุ่มปราสาทตาเมือนธมเป็นที่ราบต่ำชาวบ้านแถบนั้น เรียกคนกัมพูชาว่า เขมรต่ำ
“สองสามอาทิตย์ก่อน ทหารไทยกับทหารเขมรต่ำอยู่ห่างกัน แค่กำแพงกลุ่มปราสาทกั้น ตั้งแต่เสียงโซนิคบูมดังติดกันสองสามวันทหารเขมรต่ำหายไปจากหลังกำแพงปราสาทฯ” แหล่งข่าวกล่าว และอธิบายว่าการเผชิญหน้ากัน ไม่ใช่เฉพาะ ที่ปราสาทตาเมือนธม ทหารเขมรต่ำอยู่หลังกำแพงปราสาทตาเมือนโต๊ด และ ปราสาทตาเมือนด้วย ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 750 เมตร และ 350 เมตร ตามลำดับความใหญ่ขององค์ปราสาท
อดีตผู้อำนวยการสถาบันศึกษา วิเคราะห์ว่าทหารกัมพูชาสร้างสถานการณ์ตึงเครียดตามแนวชายแดนไทยตามคำบัญชาของ อัครมหาเสนาบดี ฮุนเซนเพื่อสร้างผลงานให้ลูกชาย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน
“พวกเขมรต่ำเล่าให้ฟังว่า ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทำอะไรไม่เป็น งานทุกอย่าง ฮุนเซน เป็นผู้สั่งการให้ ดังนั้น ในฐานะลูกชายเป็นนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ฮุนเซน จึงต้องสร้างผลงานให้ นั่นคือการสร้างความตึงเครียดชายแดนไทยเพื่อให้ทหารเขมรเทคแอ๊กชั่นโชว์ผลงาน” แหล่งข่าวกล่าว และเล่าว่า หลังปีใหม่ไม่กี่วันพวกเขมรต่ำจับกลุ่มคุยกันเรื่อง ฮุนเซน สร้างกระแสให้รัฐบาล ฮุน มาเนต โดยการสั่งให้ทหารตามชายแดนเคลื่อนไหวปลุกระดม ยึดคืนกลุ่มปราสาทยี่สิบห้าแห่ง ที่อยู่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ
“พวกเขมรต่ำปลุกระดมกันว่า ปราสาททั้งยี่สิบห้าองค์ เป็นของเรา ต้องเอาคืนให้ได้ในยุครัฐบาลฮุน มาเนต ตั้งแต่นั้นมาชายแดนก็เริ่มเครียด เพราะฮุนเซน ต้องการสร้างผลงานให้ลูกชาย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น”
แหล่งข่าวผู้คุ้นเคยกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าว “ผมเชื่อว่าทหารเขมร ไม่กล้าทำสงครามกับกองทัพไทย เพราะศักยภาพการรบกองทัพอากาศไทยเหนือกว่าหลายเท่า เขมรมีแต่เครื่องบิน มิก 17 ของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเขมร เชื่อว่า เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง ฮุนเซน กับ ทักษิณ ฝ่ายไทย คงไม่สั่งให้กองทัพปฏิบัติการทางทหารกับกัมพูชา”
อย่างไรก็ตาม อดีตนายตำรวจใหญ่ ผู้หวงแหนอธิปไตย เตือนว่า จะมีสงครามจริงเกิดขึ้นหรือไม่ ฝ่ายไทยต้องไม่ให้เขมรขึ้นมาจุ้นจ้าน บนปราสาทในดินแดนของประเทศไทย ลุงหน่อง หรือ พ.ต.อ.ภาคภูมิสุนทรศร อดีตรองผู้บังคับการหน่วยหนึ่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขียนจดหมายเปิดผนึก โพสต์บนเฟซบุ๊ก ภาคภูมิ หน่อง สุนทรศร..
เรียน แม่ทัพภาค ๒
เรื่อง : ห้ามเขมรเข้าพื้นที่กลุ่มปราสาทตาเมือนธม
เรื่องเดิม : ปราสาทตาเมือนธม อยู่บนสันเขาในเขตพื้นที่ประเทศไทย ตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 และ 1 ต่อ 25,000 ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนตามที่อ้างกันเพราะเขมรจะใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 มาอ้างทุกครั้งเมื่อมีปัญหากับไทย
เขมรจะมาที่ปราสาทฯจะต้องเดินขึ้นมาจากเชิงเขา ซึ่งเป็นช่องทางเดินที่ลัดเลาะเข้ามา ไม่มีบันไดหินที่โบราณสร้างไว้ เพราะทางขึ้นปราสาทอยู่ฝั่งไทยเช่นเดียวกับปราสาทพระวิหาร โดยมีเป้าหมายแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ปราสาทฯ
ข้อพิจารณา : เห็นควรตัดไฟแต่ต้นลม โดยปิดกั้นทางขึ้น และประกาศห้ามมิให้เขมรเข้ามาทำกิจกรรมบริเวณรอบตัวปราสาท และในตัวปราสาทอย่างเด็ดขาด โดยไม่มีการเจรจาอีกต่อไป ถ้ามันจะรบ ก็ให้มันบุกขึ้นมา
* หมายเหตุ : การรักษาอธิปไตยเป็นของทหาร มิใช่นักการเมือง
ในวันเดียวกัน คนไทยที่รู้สึกรำคาญกับการก่อกวนของเขมร ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คือสมัยพระละแวก คุณ Pete Pettaya โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า “...เขมรเนี่ยน่ากลัวนะ...
(หรือน่ารังเกียจหว่า) ด้านชายแดน...ก็ส่งทหารมากวนส้นตรีนเรา ด้านเศรษฐกิจ...ก็รุกคืบเข้ามาน่ากลัวมาก โดยเฉพาะด้านการส่งออก...แมร่งส่งออกขอทานเข้ามาเต็มบ้านเต็มเมืองเรา...มันยึดทุกสะพานลอยไว้หมดแล้ว...สงสัยสะพานลอยจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารแหงๆ เลย..
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นความเห็นของอดีตผู้อำนวยสถานศึกษา ที่มีความเห็นว่า ทหารกัมพูชาเหิมเกริมเพราะเชื่อว่า รัฐบาลไทยไม่สั่งการให้ปฏิบัติทางทหารกับกัมพูชา เนื่องจากผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายกรัฐมนตรีไทย เป็นสหายร่วมน้ำหมักดองของเมากัน
ส่วนอดีตนายตำรวจใหญ่ ผู้หวงแหนอธิปไตยของชาติ เตือนสติว่า “การรักษาอธิปไตยเป็นของทหาร มิใช่นักการเมือง” ดังนั้น หากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง ยังไม่รู้ร้อนรู้หนาว กับการก้าวร้าวของกัมพูชา ถึงวันที่ทหารปฏิบัติการรักษาอธิปไตยของชาติตามหน้าที่ขึ้นมา อย่าหาว่าลุงหน่องไม่เตือน
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี