ก่อนถึงวันสงกรานต์... เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้โพสต์ Facebook โดยเนื้อความระบุว่า สปสช.จ่ายเงินให้กับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ล่าช้า ยังติดค้างหนี้อยู่จำนวนมาก พร้อมระบุว่า เหนียวหนี้ จ่ายเงินล่าช้า โดยเฉพาะเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ ซึ่งผู้มีอำนาจหน้าที่จ่ายเงินจะจ่ายเงินหลังจากหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว
เกิดวิวาทะโต้ตอบ เผยให้เห็นความจริง ใครเหนียวหนี้? ใครโกหก? ใครผลักภาระอย่างไร?
1. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2568 สปสช. ได้โพสต์ชี้แจงยืนยันว่า จ่ายเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะตรงตามงวด ไม่มีการจ่ายล่าช้า โดยในปี 2568 จ่ายแล้ว 396 ล้านบาท
เนื้อหาระบุว่า
“...ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง
สปสช. ไม่ได้จ่ายเงินให้กับ รพ.มงกุฎวัฒนะ และรวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆ ล่าช้าแต่อย่างใด และไม่เกี่ยวข้องกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ด้วย
ทั้งนี้ การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้กับโรงพยาบาลนั้น เป็นการจ่ายตามประกาศ เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยมีกำหนดรอบการจ่ายที่ชัดเจนในแต่ละประเภทของบริการ โดยมีการกำหนดวันโอนเงินที่ชัดเจน
ในส่วนของ รพ.มงกุฎวัฒนะ นั้น ได้ดำเนินการจ่ายชดเชยค่าบริการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดครบถ้วนแล้ว
ยกเว้นรายการเดียว คือ การจ่ายชดเชยที่คลินิกเอกชนได้ร้องขอตรวจสอบข้อมูลการจ่ายอยู่ระหว่างหน่วยบริการตรวจสอบกันเอง ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการทำงานร่วมระหว่าง สปสช.ผู้แทนคลินิกชุมชนอบอุ่น ผู้แทนโรงพยาบาลรับส่งต่อ โดยมีการรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลในการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13 กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ อปสข. เขต 13 ทราบสถานการณ์และให้คำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์ประกอบของ อปสข. จะมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนร่วมอยู่ในองค์ประชุมแล้ว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของโรงพยาบาล คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เห็นชอบการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับโรงพยาบาล (Prepaid) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องหลังจากบอร์ดมีมติ อีก 2 วัน สปสช. ได้โอนเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 60 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ไปแล้ว
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ส่วนงบค่าบริการสาธารณสุขรายการอื่นๆ นั้น สปสช. จ่ายให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตรงตามรอบ
โดยในปีงบประมาณ 2568 ได้จ่ายรายงวด หลังหักคืนล่วงหน้า ดังนี้ ค่าบริการผู้ป่วยใน 222.25 ล้านบาท, ค่าบริการผู้ป่วยนอก 65.89 ล้านบาท, ค่าบริการกรณีเฉพาะ 85.18 ล้านบาท,
ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 3.41 ล้านบาท, ค่าบริการ HIV 1.50 ล้านบาท, ค่าบริการทดแทนไต 18.08 ล้านบาท และค่าบริการอื่นๆ 5.7 แสนบาท รวมทั้งสิ้น 396.87 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ในปี 2566 สปสช. ได้โอนเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 649ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 696 ล้านบาท และปี 2568 จนถึงขณะนี้ได้โอนไปแล้ว 396.87 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 1,741.87 ล้านบาท
ดังนั้น การที่บอกว่าผู้มีอำนาจลงนามจะกลับมาลงนามสั่งจ่ายเงินภายหลังวันที่ 21 เม.ย.2568 ไปแล้ว จึงไม่เป็นความจริง เพราะจ่ายเงินให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวันหยุดราชการ 5 วันในช่วงสงกรานต์นี้แต่อย่างใด จึงขอนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้รับทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด”-โฆษก สปสช. กล่าว..
2. ลากไส้คาบ้าน สปสช.
ปรากฏว่า นพ.เหรียญทองได้โต้แย้ง โดยโพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ชี้แจง และยังได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในช่องคอมเมนท์ ใต้โพสต์ชี้แจงในแฟนเพจของ สปสช.เองด้วย
นพ.เหรียญทอง ตอบโต้ซักถามในแฟนเพจ สปสช ว่า
“...เงินเหมาจ่ายรายหัวที่ นายประเทือง เผ่าดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช ยืนยันต่อหน้าผมและคณะผู้บริหาร รพ. ตลอดจนต่อหน้า นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการ สปสช และคณะ สปสช
เมื่อ พ.ย.2568 ว่าจะจ่ายตามวงรอบไม่เกินวันที่ 7 ของแต่ละเดือนซึ่งเป็นวงรอบตามปกติของ สปสช
มานานกว่า 15 ปีแล้ว
แต่ สปสช ก็รักษาคำมั่นสัญญาจ่ายตามวงรอบตามคำพูดได้แค่ ธ.ค.2567 - ก.พ.2568
นับแต่ มี.ค.2568 - เม.ย.2568 ก็เริ่มล่าช้าเกินวงรอบ แทบทุกสัปดาห์
ผมต้องขอร้องให้ สปสช จ่ายเงินให้ตามวงรอบนะครับ มี.ค.-เม.ย.2568 ก็ยังล่าช้าเกินวงรอบเลย
จนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2568 เวลา 12.13 น. ผมต้องโพสต์ประจานทั้ง สปสช และประกันสังคม ...สปสช จึงโอนเงินเหมาจ่ายรายหัวให้ในคืนวันที่ 10 เม.ย.2568 เวลา 20.53 น.
ถ้าผู้มีอำนาจไม่โอนเงินเวลา 20.53 น. เมื่อคืนนี้ เช้าวันที่ 11 เม.ย.2568 เวลา 10.27 น.เพจ สปสช คงจะไม่ออกมาโพสต์ว่า ทพ.อรรถพร ให้สัมภาษณ์ว่า สปสช ยืนยันจ่ายเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะตามงวด ไม่ล่าช้า...
นี่ขนาดประจานกันแล้วยังล่าช้าไปตั้ง 3 วัน แล้วโอนเงินก่อนเข้านอน แถมยังอ้างการโอนเงินในอดีตย้อนหลังไปถึงปี’66 - 67 ในทำนองว่า สปสช จ่ายเงินให้ รพ.มงกุฎวัฒนะมากมายแล้ว
ก็นั่นเป็นผลจากการทำงานรักษาผู้ป่วยบัตรทองจำนวนมากนี่ครับ สปสช ก็ต้องจ่ายให้รพ.มากตามผลงาน เราไม่ได้รับเงินกินเปล่าจาก สปสช นะครับ
เงินหลายร้อนล้านบาทต่อปีที่ สปสช จ่ายมานั้น รพ.มงกุฎวัฒนะก็ต้องนำไปจ่ายค่าแพทย์ ค่ายาค่าเวชภัณฑ์ ค่าวัตถุดิบ เงินเดือน ค่าล่วงเวลาทำงานของพนักงาน ค่าไฟฟ้า-ประปา ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา ภาษีโรงเรือน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ฯลฯ หลายร้อยล้านบาทด้วย
เงินหลายร้อยล้านบาทที่ สปสช จ่ายให้ รพ.มงกุฎวัฒนะนั้น เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว รพ.มีกำไรสุทธิแค่ 1.2% เท่านั้นนะครับ...
ไม่มี รพ.เอกชนไหนสนใจ “กำไรสุทธิ หรือ Net Profit Margin on Sale แค่ 1.2%”หรอกครับ มีผมคนเดียวที่พอใจ แค่ไม่ขาดทุน เราอยู่ได้ เราก็พอใจแล้ว
แต่เราไม่พอใจมากที่ สปสช เพิกเฉยต่อหนี้ค้างชำระกรณี OP refer จากคลินิกต่างที่เป็นคู่สัญญาของ สปสช โดยค้างชำระข้ามปี ดังนี้
1. หนี้ค้างชำระกรณี OP refer หรือกรณีคลินิกคู่สัญญา สปสช ทุจริตคีย์เบิกค่าคัดกรองกลุ่มโรคเมตาโบลิก แล้ว สปสช ขอให้ทุก รพ.ใน กทม รักษาผู้ป่วยโดยรับปากว่าจะจ่ายให้
หนี้ค้างจ่าย รพ.มงกุฎวัฒนะ 13.2 ล้านบาท ระหว่าง ก.ค.-ก.ย.2563 ทพ.อรรถพร ลืมหนี้จำนวนนี้ไปแล้วหรือ
2. หนี้ค้างชำระกรณี OP refer กรณี 35 คลินิกคู่สัญญา สปสช ส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะพญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช, ทพ.ญ. ดร. น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผอ.สปสช เขต กทม และคณะรับปากว่าจะไม่เบี้ยวหนี้ นับแต่รับปากเมื่อ มี.ค.2567 จากวันนั้นค้างชำระหนี้มากกว่า 25 ล้านบาทเศษ แถม อปสช.เขต กทม ยังเบี้ยวหนี้ค่าแพทย์ ตัดค่าแพทย์ที่เป็นต้นทุนจริงในการรักษาตั้งแต่ มี.ค.2567 ถึง ม.ค.2568 อีก 23 ล้านบาทเศษอีก ทพ.อรรถพร ลืมหนี้จำนวนนี้ไปแล้วหรือ
กรุณาอย่าอวดดีว่าจ่ายเงินไปหลายร้อยล้านบาทเลย
นั่นเป็นเงินที่มาจากน้ำพักน้ำแรงจากการรักษาผู้ป่วยตามสัญญาที่เราต้องได้รับ ไม่ใช่มาให้สัมภาษณ์สร้างความเข้าใจต่อสาธารณะเสมือน รพ.มงกุฎวัฒนะเอาแต่ได้ เห็นแก่เงิน
แล้วไอ้เงินทดรองจ่าย 60 ล้านบาทเมื่อต้น พ.ย.2567 นั้น สปสช จำเป็นให้เงินทดรองล่วงหน้าเพราะ สปสช ค้างจ่ายชำระกรณี OP refer จากกรณี 35 คลินิกคู่สัญญา สปสช ส่งต่อผู้ป่วยตั้งแต่ มี.ค.2567สะสมทุกๆ เดือน จนรพ.มงกุฎวัฒนะไม่มีเงินซื้อยาให้ผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งต่อมาจาก 35 คลินิก จนผู้ป่วยร้องเรียน สปสช และ สปสช ต้องทดรองจ่ายให้ รพ.มงกุฎวัฒนะไปจ่ายค่ายาเพื่อให้ได้ยามาจ่ายให้คนไข้ไงโว้ย
อย่าบิดเบือนสาธารณชนให้มาก” - 11 เมษายน 252568 (นพ.เหรียญทองโพสต์ความเห็นลงในเพจของ สปสช.)
3. นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ยังย้ำในเฟซ “เหรียญทอง แน่นหนา” ระบุว่า
“..ไอ้เงินทดรองจ่าย หรือ Prepaid จำนวน 60 ล้านบาท ที่จ่ายเมื่อต้น พ.ย.2567 นั้น
สปสช จำเป็นให้เงินทดรองล่วงหน้า เพราะ สปสช ค้างจ่ายชำระกรณี OP refer จากกรณี 35 คลินิกคู่สัญญา สปสช ส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.มงกุฎวัฒนะตั้งแต่ มี.ค.67
สะสมทุกๆเดือนจน รพ.มงกุฎวัฒนะไม่มีเงินซื้อยาให้ผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งต่อมาจาก 35 คลินิก
จนผู้ป่วยร้องเรียน สปสช
และ สปสช ต้องทดรองจ่ายให้ รพ.มงกุฎวัฒนะไปจ่ายค่ายา เพื่อให้ได้ยามาจ่ายให้คนไข้ไงล่ะโว้ย... อย่าบิดเบือนสาธารณชนให้มาก...
เบี้ยวหนี้-เหนียวหนี้...แล้วยังทำปากดี...จีบปากจีบคอน่ารำคาญชิบหาย”
4. หลังจาก นพ.เหรียญทองแสดงความเห็นและข้อมูลตอบโต้คำชี้แจงของ สปสช. ในเพจ สปสช.เอง ก็ไม่ปรากฏคำชี้แจงแก้ตัวอะไรจาก สปชส.อีก จนถึงวันนี้
ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาด้วยตนเอง ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า ใครพูดจริง ใครโกหกบิดเบือน?
ใครเจตนาทำให้สังคมเข้าใจผิด หวังโยนภาระให้พ้นตัว?
ที่สำคัญ ใครเหนียวหนี้ ทิ้งภาระให้เอกชนรับผิดชอบ อย่างไม่ควรจะเกิดขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดิน
สมควรที่กระทรวงสาธารณสุข หรือนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะต้องเข้าไปจัดการ
หากปล่อยเนิ่นช้าไป ยิ่งเป็นบาดแผลให้โจษขานว่า นี่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ ลูกสาวทักษิณที่ชอบอวดโอ้ว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นของตัวเอง แต่กลับปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลลูกสาวทักษิณเอง
5. โครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม”
ปัจจุบัน รพ.มงกุฎวัฒนะ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการน่าสนใจ เรียกว่า โครงการ “บัตรทองแพลตตินั่ม”
เป็นโครงการสำหรับผู้ป่วยบัตรทองที่เดือดร้อนจากคลินิกปฐมภูมิ “กัดฟันพึ่งตนเอง” จ่ายเงินเองราคา รพ.รัฐ ตรงมารักษาได้ที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ ทุกคลินิก ทุกเขต ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากคลินิก
ยิ่งไปกว่านั้น นพ.เหรียญทองเคยเปิดเผยไว้ว่า
“..เนื่องจากผมพบว่า หลังจากที่ รพ.มงกุฎวัฒนะยกเลิกการเป็นแม่ข่ายรับส่งต่อผู้ป่วยจาก 35 คลินิกแล้ว เริ่ม “ปฏิบัติการโครงการบัตรทองแพลตตินั่ม” ทำให้ผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกต่างๆ จำนวนมากจากเขตต่างๆ ทั่ว กทม. สามารถตรงมาใช้บริการ รพ.มงกุฎวัฒนะโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากคลินิก… เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกต่างๆ จำนวนมากที่ตรงมาใช้บริการ รพ.มงกุฎวัฒนะโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากคลินิกนั้น มีอาการเจ็บป่วยหรืออาการกำเริบจนต้องแอดมิตหรือรับตัวเข้ารักษาตัวในรพ. โดยผู้ป่วยบัตรทองสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ โดย สปสช เป็นผู้จ่ายเงินค่ารักษาให้
ผมพบว่า ผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกต่างๆ จำนวนมาก มีความ “ยับเยิน” จากการเจ็บป่วยมากมาย เราพบว่า
1. ผู้ป่วยขาดยาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคเฉพาะ เช่น โรคหัวใจ, โรคสมอง, โรคในระบบต่อมไร้ท่อ,โรคปอดและทางเดินหายใจ, โรคติดเชื้อร้ายแรง ฯลฯ
2. ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากบุคลากรที่ “ไม่ใช่แพทย์” ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ...พูดง่ายๆ ว่ามีคลินิกปฐมภูมิคู่สัญญา สปสช จำนวนมากมีการใช้ “หมอเถื่อน” ถึงแม้บางรายจะยังเป็นแค่ “นักศึกษาแพทย์” ยังเรียนแพทย์ ยังไม่จบ ก็ขอฝากเตือนไปยัง “นักศึกษาแพทย์” ที่ลักลอบทำผิดกฎหมายด้วย เพราะอาจจะหมดสิ้นอนาคตหากถูกจับได้
3. ผู้ป่วยไม่ได้รับการปรับยาตามมาตรฐานวิชาการ เช่น รับยาเดิม จำนวนเดิม ตามสำเนาการรักษาของแพทย์จาก รพ.ที่รับส่งต่อ ทั้งนี้คลินิกมีวัตถุประสงค์รักษาเอง ด้วยการสั่งจ่ายยาตามเดิมโดยไม่ได้รับการปรับยาตามมาตรฐานวิชาการ ...“เอาง่ายเข้าว่า”
4. ผู้ป่วยได้รับยาไม่ตรงตามสำเนาการรักษาของแพทย์จาก รพ.ที่รับส่งต่อ ทั้งนี้คลินิกเปลี่ยนยาใหม่ที่มีการออกฤทธิ์ไม่เป็นไปตามแผนการรักษา เพื่อประหยัดต้นทุนค่ายาโดยไม่ได้หารือแพทย์เฉพาะทาง...“เอาถูกเข้าว่า”
5. อื่นๆ ...มากมาย
ด้วยตัวอย่างข้างต้น ทำให้ผู้ป่วยบัตรทอง ประสบปัญหา “ดองโรค-บ่มโรค-อมโรค” จำนวนมาก..ห.
นี่คือข้อมูลที่น่าตกใจไม่แพ้กัน
น่าคิดว่า ระหว่าง “เหนียวหนี้” กับ “เหนียวการรักษาที่ดี” อันไหนร้ายแรงกว่ากัน?
รัฐไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นทั้งสองอย่าง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี