หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ดอกเบี้ยพอกพูนขึ้นทุกวัน ในขณะที่ กทม.ยังไม่ดำเนินการจ่ายเงินอีก 3 ก้อน ดอกเบี้ยเดินวันละ 5.4 ล้านบาท ยอดหนี้รวมเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด คณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาศึกษาได้รายงานต่อที่ประชุมสภา กทม. ยืนยันว่า ถ้าไม่เร่งจ่าย จะสร้าง
ความเสียหายมหาศาล ใครจะรับผิดชอบ
ผู้ว่าฯชัชชาติ หรือใครจะรับผิดชอบความเสียหายต่อ กทม.ที่เกิดจากความล่าช้า?
1. ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ยังไม่จบ แต่กำลังพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัวผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตราบใดที่ยังไม่แก้ปัญหาให้สะเด็ดน้ำ
ก่อนหน้านี้ กทม.จ่ายค่าเดินรถฯ สายสีเขียวไปเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น
โดยยอดหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ให้กทม. และ KT ร่วมกันชำระให้กับ BTSC จำนวน 11,755 ล้านบาท
แต่กว่า กทม.จะจ่ายหนี้ ก็ใช้เวลาไปกับการดำเนินการที่อ้างว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
เวลาที่เดินไป ดอกเบี้ยก็เดินไป เสียหายต่อกทม.โดยตรง (ตามที่เคยนำเสนอไว้ก่อนหน้านี้)
กระทั่ง กทม.ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายค่าเดินรถช่วงแรก 14,476 ล้านบาท
เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยก้อนนี้เพิ่มขึ้นมากว่า 2,721 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หนี้ส่วนนี้ กทม.จ่ายไปแล้ว มันคือหนี้ค่าเดินรถฯสายสีเขียวช่วงเดือน พ.ค. 2562- พ.ค.2564
แต่การเดินรถช่วงหลังจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน บีทีเอสเดินรถให้ตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนได้ใช้บริการเรียบร้อย แต่กทม.กลับยังไม่จ่ายค่าเดินรถให้แก่บีทีเอสเลย
เหลือเชื่อมาก... ประชาชนเริ่มจ่ายค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียวแล้วด้วย แต่ กทม.ยังไม่เอาเงินค่าโดยสารที่ได้มาจากประชาชนนั้นมาจ่ายค่าเดินรถให้แก่บีทีเอส !!!
2. ดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้านบาท สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่ค้างชำระ
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ในการประชุมสภากทม. ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายนภาพล จีระกุล ได้รายงานสรุปคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในกรณีหนี้สินค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ค้างชำระอยู่ ตั้งแต่ปี 2562
เนื้อหาโดยสรุป ระบุว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลทุกด้าน มีการพิจารณาสัญญา ระเบียบ กฎหมาย คำฟ้อง คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด และแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อ สภากรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
นายนภาพลกล่าวว่า หนี้ค้างชำระกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส มีทั้งหมด 3 ส่วน ซึ่งกทม.ควรเร่งดำเนินการจ่ายทั้งหมด
โดยแบ่งเป็นส่วนที่ 1 หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงปี 2564 – 2565 ที่รถไฟฟ้าบีทีเอส ฟ้องศาลปกครองกลางแล้ว จำนวนกว่าหมื่นล้านบาท, ส่วนที่ 2 หนี้ที่ยังได้ฟ้องต่อศาลปกครองในปี 2565 – 2567 และส่วนที่ 3 หนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นมา
“...คณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นว่า ผู้บริหารกทม. ควรเร่งชำระหนี้ส่วนที่ 1 และหนี้ส่วนที่ 2 เพราะหนี้ส่วนดังกล่าวรวมกันเป็นเงินประมาณสองหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งขณะนี้กทม. และ KT ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย ตกประมาณวันละ 5.4 ล้านบาท ซึ่งหากจะต่อสู้ทางคดีปกครองต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดีต่อทางราชการ”
นายนภาพล กล่าวด้วยว่า สำหรับหนี้ส่วนที่ 3 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นมา ที่ต้องชำระในวันที่20 ของเดือนถัดไปนั้น กทม.ควรนำเงินค่าโดยสารที่เก็บมาแล้ว ทยอยจ่ายสมทบเป็นค่าจ้างส่วนที่ขาด ส่วนจะจ่ายได้กี่เดือนก็จ่ายไปตามนั้น ที่ยังขาดกทม. ก็ควรตั้งเสนอสภากทม. เพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งผู้บริหารกทม. ควรเจรจากับรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อหาข้อยุติและต่อรองเรื่องเงินต้นและดอกเบี้ย ในลำดับต่อไป
3. โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี
3.1 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่เดือนเดือน พ.ค. 2562- พ.ค.2564
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้จ่ายจำนวน 11,755 ล้านบาท (บวกดอกเบี้ย) ซึ่ง กทม.กว่าจะจ่ายยอดดอกเบี้ยก็เดิน จนในที่สุดจ่ายไปรวม 14,476 ล้านบาท
3.2 หนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 เป็นเงินจำนวน 12,245 ล้านบาท
ก้อนนี้ BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางแล้ว
แยกเป็น ค่าจ้างเดินรถฯ ส่วนต่อขยายที่ 1 เงินต้นจำนวน 2,279 ล้านบาท ดอกเบี้ย 501 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,780 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 เงินต้นจำนวน 7,848 ล้านบาท ดอกเบี้ยจำนวน 1,617 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 9,465 ล้านบาท
3.3 หนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565 ถึงเดือน ธ.ค.2567 เป็นเงินจำนวน 17,121 ล้านบาท
แยกเป็น ค่าจ้างเดินรถฯ ส่วนต่อขยายที่ 1 เงินต้นจำนวน 3,242 ล้านบาท ดอกเบี้ย 274 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,516 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 เงินต้นจำนวน 12,615 ล้านบาท ดอกเบี้ยจำนวน 990 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 13,605 ล้านบาท
3.4 ยอดหนี้ประมาณการ ค่าจ้างงานเดินรถฯ ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 จนถึงธันวาคม 2568 จะต้องชำระค่าจ้างเดินรถ 8,761 ล้านบาท
แยกเป็น ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,612 ล้านบาท และ ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 6,149 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามสัญญาจะต้องจ่ายทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไป หลังเดินรถและซ่อมบำรุงแต่ละเดือน
เพราะฉะนั้น สรุปได้ว่า ยังมีหนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนที่ยังไม่ได้ชำระรวมดอกเบี้ยทั้งหมดกว่า 4 หมื่นล้านบาท
และดอกเบี้ยเดินทุกวัน พอกขึ้นไปอีกวันละประมาณ 5.4 ล้านบาท
4. ความเสียหาย คือ ค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน วันละ 5.4 ล้านบาท ใครจะรับผิดชอบ?
สภา กทม. หรือ ผู้ว่าฯกทม.?
โดยหลักการพื้นฐานแล้ว เมื่อจ้างเอกชนทำงาน เมื่อเขาทำงานไม่ขาดตกบกพร่อง รัฐก็ต้องจ่ายหนี้ตามสัญญา ไม่ใช่ปล่อยค้างเติ่ง หมักหมม ทับถมมาหลายปี หรือรอให้เอกชนไฟฟ้องศาล รอให้ศาลตัดสินค่อยจ่าย
ที่น่าสงสัย และ กทม.ไม่เคยชี้แจงได้เลย คือ
ขณะนี้ ผู้โดยสารได้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแล้ว (ช่วงแรกให้นั่งฟรี) เป็นรายได้เข้า กระเป๋ากทม.แล้ว แต่ กทม.กลับยังไม่จ่ายค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงฯ ให้แก่บีทีเอส
ถ้า กทม.อ้างว่า สัญญามันยังไม่ถูกต้อง แล้วรับเงินค่าโดยสารไว้ได้อย่างไร? ทำไมไม่บอกเลิกสัญญาไปเสียเลย หรือสั่งหยุดการเดินรถ ระหว่างที่จะตรวจสอบ แต่ยังปล่อยให้เอกชนรับภาระการเดินรถและซ่อมบำรุง ในขณะที่รายได้ค่าโดยสารส่วนต่อขยายเข้ากระเป๋า กทม.
เรื่องนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร กทม. จะต้องริเริ่มดำเนินการ จะต้องเร่งจ่าย หรือเจรจาเพื่อทุเลาอัตราดอกเบี้ย หรือต่อรองการจ่าย ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ดำเนินการ อ้างว่ารอความชัดเจนด้านกฎหมาย ย่อมถือเป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร กทม.เอง ว่าเลือกที่จะไม่ตัดสินใจจ่าย ก็ต้องรับผิดชอบ
อย่าลืมว่า สมัยรัฐบาลลุงตู่ ที่ยังไม่มีการจ่ายค่าเดินรถฯ เพราะมีการใช้มาตรา 44 เพื่อเจรจาลบล้างหนี้ทั้งหมดแลกกับการขยายสัมปทาน แต่พอนายชัชชาติเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม. มีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ไม่มีการดำเนินการตามมาตรา 44 ดังกล่าว (ซึ่งจะไม่ต้องจ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว) เมื่อเลือกที่จะไม่เดินตามมาตรา 44 โดยเลือกที่จะใช้หนี้เอง ก็ต้องหาเงินมาใช้หนี้ให้ครบ มิใช่นั่งทับไปเรื่อยๆ จนดอกเบี้ยพอกพูนแบบนี้
ครั้งนั้น ผมเคยเขียนบทความ ตั้งคำถามไว้ชัดเจนว่า
“....กทม.จะเอาเงินจากไหนมาจ่ายเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายอีกหมื่นกว่าล้าน ตามที่ศาลปกครองพิพากษา? ยังไม่รวมดอกเบี้ย ยังไม่รวมค่าเดินรถสายสีเขียวฯที่มีเพิ่มขึ้นอีกทุกวัน หลังคดีแรก (พร้อมดอกเบี้ย)
...ลองคิดดู สัมปทานส่วนหลักของสายสีเขียวจะสิ้นสุด 2572 (วาระของผู้ว่าฯ ชัชชาติจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2569) แม้จะรอเปิดประมูลใหม่ ก็จะยังติดสัญญาเดินรถที่จ้างเอกชนถึงปี 2585 ที่สำคัญ ระหว่างนี้ จนถึงปี 2572 ดูแล้ว กทม.ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ให้ BTSC ได้แน่นอน
ตัวผู้ว่าฯ ชัชชาติอาจหมดสมัยไปก่อน แต่ กทม.จะติดหนี้หัวโต รวมดอกเบี้ยที่เพิ่มทุกวัน มหาศาล มโหฬาร
ถึงวันนั้น คนที่รับผิดชอบคือใคร? ผู้ว่าฯคนปัจจุบัน อาจเปิดก้นไปไหนแล้ว? ... การใช้มาตรา 44 ไม่ถูกต้อง ยอมรับไม่ได้จริงหรือ? คสช. เคยใช้ ม.44 แก้ปัญหาผ่าทางตันมากมายเกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้า การเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีบางซื่อกับเตาปูน ที่ชาวบ้านเคยเดือดร้อนกันมาตั้งนาน ก็เรียบร้อยเพราะม.44 การต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้แก่ BEM เพื่อให้การเดินรถต่อเนื่อง ก็ใช้มาตรา 44 ไม่ต่างกับสายสีเขียว...”
ถึงเวลานี้ รัฐบาลปัจจุบันจะลอยตัว ไม่ลงมาแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะอย่างสมัยรัฐบาลลุงตู่ ก็เคยให้ระดับรองนายกฯ วิษณุลงมาแก้ไขปัญหาสัมปทานทางด่วน เพื่อยุติภาระหนี้ข้อพิพาทกับคู่สัญญาเอกชนกว่าแสนล้านบาท
5. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สถานีข่าวท็อปนิวส์ ระบุว่า ในส่วนของภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้น ทางกทม.ควรจะรีบจ่ายหนี้ให้แก่บีทีเอสซี เพื่อลดภาระลดเบี้ยกว่าวันละ 5.4 ล้านบาทที่กทม.จะต้องรับผิดชอบ และควรต้องเร่งจ่ายหนี้ทั้งในส่วนที่อยู่ระหว่างการยื่นฟ้องงวดที่ 2 หรือก้อนอื่นๆ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด ได้ตัดสินให้กทม.ชำระหนี้ให้แก่เอกชนแล้ว และสัญญาได้ครอบคลุมหนี้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินเรียบร้อยแล้ว กทม. ก็ควรที่จะต้องชำระหนี้ให้หมดทุกก้อน
“..ทางเลือกของกทม.ขณะนี้ มี 2 แนวทาง คือ การเร่งจ่ายหนี้ให้เอกชน หรือ ขยายสัญญาสัมปทาน
ซึ่งหากกทม.มีเงินเพียงพอก็ควรจะเร่งจ่าย เพื่อให้ปี 2572 สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับมาเป็นของ กทม.ทำให้ กทม.สามารถบริหารจัดการค่าโดยสารในอัตราที่ต้องการได้” – ดร.สามารถกล่าว
6. ล่าสุด แฟนเพจสภากรุงเทพมหานครได้นำเสนอคลิปสรุปผลการศึกษารายงานที่เสนอให้รีบจ่าย ค่าเดินรถที่ค้างอยู่ ประกอบข้อความว่า
“ผลการศึกษาคกก.วิสามัญฯสายสีเขียว สภากทม. พบหนี้ 3 ก้อนมาจากสัญญาฉบับเดียวกัน ดอกเบี้ยเดินวันละ 5.4 ล้าน หากปล่อยไว้กทม.เสียหายหนัก”
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่าในส่วนของการชำระหนี้ให้แก่บีทีเอสนั้น ขณะนี้ได้มอบหมายให้นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ ศึกษารายละเอียดพร้อมสรุปรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อยื่นให้กับอัยการสูงสุดเพิ่มเติมในการพิจารณา ซึ่งกทม.จะต้องดำเนินการให้รอบคอบ
เมื่อถามว่าในการชำระหนี้ให้เอกชนจะต้องรอคำพิพากษาของศาลหรือไม่?
นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่ใช่ต้องรอศาล แต่เป็นการนำเอาคำแนะนำของสภากทม. มาสอบถามอัยการที่เป็นเจ้าของคดีว่ามีความคิดเห็นเรื่องนี้ยังไง ซึ่งต้องคิดให้รอบคอบ แต่จะใช้ระยะเวลากี่วันนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จะทำให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า ในส่วนของหนี้ที่เหลือ ต้องรอให้เอกชนจะต้องยื่นฟ้องหรือไม่?
นายชัชชาติกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าหนี้ก้อนนี้จะว่าอย่างไร เอาทีละก้อน ไม่ต้องรีบ และจะทำให้ดีที่สุด
สุดท้าย พึงตระหนักว่า เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นมานั้น จนถึงวันนี้ สูงถึง 6,103 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และยังเพิ่มอีกวันละ 5.4 ล้านบาท
จับตาดู หากผู้ว่าฯกทม.ยังล่าช้า ดินพอกหาง กทม.ต่อไปเรื่อยๆ จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงหรือไม่ ดังที่เคยมีกรณีอดีตนายกอบจ.สงขลา ถูกศาลปราบโกงพิพากษาจำคุก 9 ปี ฐานไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทาง หลังเอกชนคู่สัญญาส่งมอบรถให้แล้ว โดยอดีตนายกอบจ.สงขลา อ้างว่าการจัดซื้อดังกล่าวมีประเด็นตรวจสอบปมฮั้วประมูล ปมใช้เอกสารปลอมอยู่ก็ตามที
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี