การศึกสงครามในสมัยโบราณนั้น เป็นการยกกองทัพซึ่งมีขนาดใหญ่ มีกำลังพลนับหมื่นนับแสนนายเข้าต่อสู้กัน ฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็ต้องถอยทัพกลับไปพร้อมกับความสูญเสีย ซึ่งอาจจะมีทั้งชีวิตแม่ทัพนายกอง พลทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย
ประวัติศาสตร์ของชาติไทยเราในช่วงต้นของอาณาจักรรัตนโกสินทร์นั้น ไทยยังต้องสู้รบกับพม่าอยู่เป็นระยะ สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สงคราม ๙ ทัพ ที่เกิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๘
ในครั้งนั้นพระเจ้าปดุง พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์คองบองจากเมืองอังวะ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินของอาณาจักรพม่าในช่วงเวลานั้น ได้ยกทัพใหญ่มีกำลังพล ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ คน เพื่อจะเข้ามาโจมตีกรุงเทพฯ หวังเอาชัยชนะให้ได้ด้วยการจัดทัพให้มุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ ในหลายทิศทาง โดยพระองค์เองเป็นแม่ทัพหลวงนำทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราช พร้อมทั้งพระยากลาโหมและพระยาจ่าแสนยากรยกทัพไปตั้งรับทัพหน้าของพม่า
ซึ่งนำมาโดยเมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นที่ทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี เกิดการต่อสู้กันเป็นเวลาประมาณ ๒ เดือน ทัพของพม่าประสบปัญหาขาดแคลนเสบียง ทำให้ต้องปราชัยและถอยทัพไปในที่สุด ส่วนทัพอื่นๆ ของพม่านั้น ก็พ่ายแพ้แก่กองทัพจากกรุงเทพฯ และถอยทัพกลับไปทั้งหมด
พระเจ้าปดุงไม่ได้คิดจะยอมแพ้ ดังนั้นในปีถัดมาคือพ.ศ. ๒๓๒๙ จึงยกทัพเข้ามารุกรานอาณาจักรรัตนโกสินทร์อีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ได้ยกทัพเข้ามาเพียงทิศทางเดียวโดยมีพระราชโองการให้พระโอรส คือ เจ้าชายอินแซะ มหาอุปราช ยกทัพจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะแม่ทัพคนสำคัญก็ยังคงเป็นเมียนวุ่นและเมียนเมวุ่น ซึ่งเคยพ่ายแพ้ในการรบที่ทุ่งลาดหญ้าเมื่อปีก่อนหน้านั้น มีกำลัง ๓๐,๐๐๐ คน เข้ามาตั้งทัพอยู่ที่ท่าดินแดงและสามประสบ จังหวัดกาญจนบุรี โดยในครั้งนี้ฝ่ายพม่าได้ตั้งยุ้งฉางสำหรับการเก็บเตรียมเสบียงอย่างมากมาย ตลอดทางเดินทัพเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเสบียงซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งก่อน นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในทุกจุดที่จะต้องข้าม โดยหมายว่าจะตั้งทัพอยู่เป็นแรมปีก็ต้องกระทำ ส่วนพระมหาอุปราชเจ้าชายอินแซะยกทัพที่เหลือจำนวน ๒๐,๐๐๐ คนมาตั้งที่แม่น้ำแม่กษัตริย์
เมื่อกองตระเวนของฝ่ายไทยลาดตระเวนไปที่เมืองไทรโยค เมืองศรีสวัสดิ์และเมืองกาญจนบุรี ก็พบกับทัพพม่าที่ตั้งอยู่ที่ท่าดินแดงและสามประสบ จึงได้รายงานเข้าไปยังกรุงเทพฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯจึงทรงโปรดให้จัดเตรียมทัพดังนี้
สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากรและเจ้าพระยารัตนาพิพิธสมุหนายก ยกทัพหน้าจำนวน ๓๐,๐๐๐ คนล่วงหน้าไปยังกาญจนบุรีก่อน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพหลวงจำนวน ๓๐,๐๐๐ คนพร้อมทั้งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขติดตามทัพหน้า
ออกไป โดยให้พระยาพลเทพเป็นผู้รักษาพระนคร
ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่ยกออกจากกรุงเทพฯทางชลมารคไปยังเมืองไทรโยค เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2330 และเมื่อไปถึงแล้ว กรมพระราชวังบวร ได้มีบัญชาให้พระยากลาโหมราชเสนาและคณะยกทัพจำนวน ๒๐,๐๐๐ คน ล่วงหน้าไปพบกับทัพพม่าที่สามประสบ เพื่อโจมตีทัพพม่าให้แตกพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังอยู่ที่ชายแดน ไม่ให้ทัพพม่าเข้ามายังเขตแดนไทยดังคราวก่อน และให้ตั้งค่ายอยู่ที่นั่น ส่วนทัพของพระราชวังบวรตั้งอยู่ห่างจากทัพหน้าลงมาเป็นระยะทาง ๒๐ เส้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จยกทัพหลวงทางชลมารคเช่นกัน ถึงเมืองไทรโยคแล้วยกขึ้นเป็นทัพบกไปตั้งห่างจากทัพของกรมพระราชวังบวรลงมา ๗๐ เส้น จากนั้นมีพระราชโองการให้แม่ทัพนายกอง แยกออกไปตั้งทัพประชิดกับทัพพม่าที่ท่าดินแดง
ในวันพุธที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๓๐ ทัพของฝ่ายไทยเข้าโจมตีทัพฝ่ายพม่าพร้อมกันทั้งที่ท่าดินแดงและสามประสบ การสู้รบกินเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนมีการยิงปืนใหญ่ใส่กันและกัน ใช้เวลาประมาณ ๓ วัน จนกระทั่งถึงวันศุกร์ ทัพของพม่าก็แตกพ่ายถอยร่นไป
ฝ่ายเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชเมื่อทรงทราบว่าทัพหน้าของตนพ่ายแพ้ถอยมาแล้ว จึงมีพระบัญชาให้ถอยทัพกลับไปยังเมืองเมาะตะมะเช่นเดิม โดยฝ่ายไทยยกติดตามไปสังหารทหารพม่าจำนวนมากและติดตามไปจนถึงแม่น้ำแม่กษัตริย์ ซึ่งทัพของเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชตั้งอยู่ ได้เผาทำลายยุ้งฉางที่เก็บเสบียงของพม่าจนหมดสิ้น เป็นอันว่าทัพไทยได้รับชัยชนะแล้วจึงยกทัพกลับพระนคร
สงครามท่าดินแดงจึงถูกบันทึกไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของศึกสงครามครั้งสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ใช้เวลาเพียงไม่ถึง ๑ เดือนก็สามารถเอาชนะทัพพม่าได้ แม้ว่าฝ่ายพม่าจะพยายามแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนเสบียง ดังที่เคยเกิดขึ้นในสงคราม ๙ ทัพครั้งก่อนหน้าแล้วก็ตาม
สงคราม ๙ ทัพและสงครามท่าดินแดงที่เกิดขึ้นในช่วงต้นอาณาจักรรัตนโกสินทร์ จึงน่าจะเป็นเครื่องเตือนใจให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยได้สำนึกเรื่องของการถอยไว้บ้าง การจะดำเนินการอะไรก็ตามที่ไม่น่าจะถูกต้อง และฝ่ายประชาชนมีความเห็นขัดแย้ง ก็ต้องฟังเสียงซึ่งกันและกัน และเลิกกระทำการสิ่งนั้นเสีย
รัฐบาลได้มุ่งมั่นพยายามในการที่จะออกพระราชบัญญัติการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งถึงแม้ว่าจะได้เคยกล่าวไว้ในตอนหาเสียงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยได้แถลงไว้ว่าในสถานดังกล่าวจะมีกาสิโนเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ด้วย
ความพยายามที่จะให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นโดยผนวกเรื่องกาสิโนเข้าไปด้วย จึงแสดงให้เห็นว่ามีกระบวนความคิดที่แอบแฝงในเรื่องดังกล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งหากนำเสนอตั้งแต่ตอนหาเสียงอาจจะถูกต่อต้านจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วย
จนกระทั่งได้บริหารราชการแผ่นดินมาระยะหนึ่งจึงนำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา โดยกล่าวอ้างว่ากาสิโนที่จะแฝงอยู่ในสถานบันเทิงครบวงจรนั้นจะเป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวน
มหาศาล ซึ่งไม่มีทฤษฎีใดเลยที่เคยยืนยันว่ากาสิโนเป็นตัวสร้างรายได้สำคัญให้กับประเทศ ไม่ว่าจะกาสิโนในประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านใกล้เคียงกาสิโนที่เกาะมาเก๊า หรือกาสิโนในลาสเวกัส ก็ไม่ได้เป็นตัวสร้างรายได้ให้ประเทศ จนจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น
การที่รัฐบาลพยายามที่จะไม่พูดเรื่องผลกระทบทางสังคมจากการเปิดกาสิโน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างที่สุด เพราะทุกฝ่ายต่างก็ทราบดีว่ากาสิโนนั้น ถึงจะมีกฎระเบียบอย่างไร ในที่สุดก็ไม่พ้นจากการเป็นสถานที่ฟอกเงินสีเทาทั้งหลาย รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ตีชิงวิ่งราวปล้นฆ่า การล่มสลายของครอบครัว ปัญหาโสเภณี และปัญหายาเสพติดมากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งไม่คุ้มเลยกับการที่จะมีรายได้จากกาสิโน ซึ่งในที่สุดก็คือการเปลี่ยนเงินจากผู้ที่ไปเล่น ซึ่งจะรวมทั้งคนไทยจำนวนไม่น้อยด้วย เข้าไปอยู่ในกระเป๋าของคนอีกกลุ่มเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติให้ดีขึ้นแต่อย่างใด
ขณะที่ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก และก็สร้างรายได้ให้อย่างมหาศาลอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาการเมืองระดับโลกและภายในประเทศทำให้ขณะนี้การท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลง ในอดีตนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย ไม่เคยคิดเลยว่าจะมาเข้าบ่อนกาสิโนเพื่อเพิ่มความบันเทิงให้ตัวเอง สิ่งที่เขาทั้งหลายอยากมาก็เพราะภูมิประเทศอันสวยงาม โบราณสถานต่างๆ อาหารไทยที่มีรสชาติเป็นเลิศ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และรอยยิ้มของคนไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็น Soft Power ที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะถูกนำเอาไปเกลือกกลั้วกับกาสิโนหรือบ่อนการพนัน ซึ่งเปรียบเสมือนน้ำครำเป็นอันขาด
รัฐบาลต้องไม่ควรแค่ถอย หรือเลื่อนการพิจารณากฎหมายดังกล่าว แต่จะต้องยกเลิกไม่นำเสนอกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจรบวกกาสิโนอีกต่อไป อย่าได้ทำอะไรที่ฝืนกับความรู้สึกของประชาชนคนไทยหลายหมู่เหล่าซึ่งเป็นเจ้าของประเทศโดยแท้จริง ไม่ใช่นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และก็จากไปโดยทิ้งความเสียหายไว้ให้กับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลของการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของบ้านเมืองจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำโดยตลอดเป็นอันขาด
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี