ในขณะที่จักรพรรดิจำนวนมาก และผู้นำประเทศจำนวนไม่น้อย ต่าง “พังเพราะกุนซือ”
ในขณะเดียวกัน ก็มีความจริงที่เกิดขึ้น “อย่างยั้วเยี้ย” มีกุนซือบางราย “ทำให้จักรพรรดิครองอำนาจอย่างยิ่งใหญ่” และ “ทำให้ผู้นำประเทศกลายเป็นรัฐบุรุษ” ที่ประชาชนชื่นชมตลอดกาล
โดย “กุนซือที่เก่งฉกาจเดชฉกรรจ์เหล่านี้” คือ “ผู้ปิดทองหลังพระตัวจริง” ที่โลกต้องคารวะ
ใน “พงศาวดารสามก๊ก” ที่สุดฮิตมายาวนานและจะฮิตอีกยาวไกลตลอดกาล เป็นเรื่องราว “การราวีอย่างทรหด” ของ “วุยก๊ก” ของ โจโฉ “จ๊กก๊ก” ของเล่าปี่และ “ง่อก๊ก” ของซุนกวน โดยทุกก๊กต่างมี “ยอดกุนซือ” ทั้งสิ้น จนทำให้ทั้งสามก๊กผลัดกันชนะศึกในบางครั้งและพ่ายแพ้ศึกในบางทีซึ่งเกิดจากการ “วางแผนรบของยอดกุนซือแต่ละครั้งว่า ใครเหนือชั้นกว่ากัน”
ในบรรดา “ยอดกุนซือ” ทั้งหลายในสามก๊ก มี “สองกุนซือ” ที่ถูก “ยกโป้ง”ว่าเป็น “กุนซือสุดยอด” ได้แก่ “ขงเบ้ง” แห่งจ๊กก๊กของเล่าปี่ และ “กุยแก” แห่งวุยก๊กของโจโฉ
แต่ “กุยแก” และ “ขงเบ้ง” ต่างเป็น “ยอดกุนซือ” คนละยุคสมัย ทั้งสองจึงไม่เคย“จ๊ะเอ๋บวกจ๊ะโอ๋” ในการวางแผนรบในศึกใดๆ ทั้งสิ้น
“กุยแก” นั้นเป็นกุนซือของโจโฉในขณะยังเป็นหนุ่มแล้ว “อายุสั้น” โดย “ป่วยตาย”ขณะอยู่ในวัยฉกรรจ์
ส่วน “ขงเบ้ง” นั้น เป็นกุนซือของเล่าปี่ขณะที่กุยแกตายไปนานแล้ว แต่โจโฉก็เป็นผู้นำวุยก๊กที่เกรียงไกรซึ่งเกิดจากการวางแผนรบของ “กุยแก” ขณะที่มีชีวิต
“กุยแก” เคยเป็น “กุนซือของอ้วนเสี้ยว” มาก่อน แต่ “อ้วนเสี้ยวผู้โง่เง่าเบาเต็ง” กลับไม่เห็นคุณค่าของกุนซือจอมอัจฉริยะ “กุยแกจึงพลิกผันตัวเองมาเป็นกุนซือของโจโฉ” ซึ่งเป็น “ยุคที่โจโฉกำลังตั้งตัวเพื่อสร้างกองทัพให้เกรียงไกร”
“กุยแก” บอกว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่จะจัดการกับเล่าปี่และซุนกวน” แต่ให้โจโฉยกทัพไปตีเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือ “เพื่อระดมทหารและเสบียงไว้มากๆ แล้วจึงย้อนมาบดบี้ขยี้เล่าปี่และซุนกวน” ต่อไป
“โจโฉทำตามกุยแก” จึงรบชนะทุกสนามรบได้อย่างเหลือเชื่อและสยบเมืองต่างๆ ในภาคเหนือได้โดยง่าย “จนกองทัพโจโฉเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว” โดยมี “กุยแกวางแผนในการรบทุกครั้ง และชนะทุกครั้ง”
น่าเสียดาย “กุยแกป่วยตาย” ตั้งแต่ยังหนุ่ม “โจโฉไม่เคยหลั่งน้ำตาให้ใครแต่ต้องร้องไห้อาลัยกุยแก ผู้เป็นกุนซือระดับเทพ”
ใน “ศึกเซ็กเพ็ก” หรือ “สงครามผาแดง” การแตะมือระหว่าง “ขงเบ้ง” และ “จิวยี่” วางแผนทำลายกองทัพมหึมาที่มีกำลังพลกว่าสิบแสนของโจโฉด้วย “ไฟนรก” จนโจโฉต้องแตกทัพเรืออย่างยับเยิน
“แตกทัพเรือ” ครั้งนั้น “โจโฉแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ดีที่กวนอูทดแทนบุญคุณไม่ฆ่าโจโฉ” โดยโจโฉได้โอดครวญกับตนเองว่า “กุยแกเอ๋ย หากเจ้ายังมีชีวิตอยู่เคียงข้างข้าในวันนี้ การพ่ายแพ้ศึกอย่างย่อยยับในสงครามเซ็กเพ็กครั้งนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น”
อย่างไรก็ตาม “สงครามสามก๊ก อันยาวนาน” จบท้าย “วุยก๊ก” ก็เป็นฝ่ายชนะปราบได้ทั้ง “จ๊กก๊กและง่อก๊ก” เพราะ “วุยก๊กได้ยอดกุนซือคนใหม่” คือ “สุมาอี้ จอมอัจฉริยะ”
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี