ทุเรียนไทยกำลังเผชิญปัญหาการตรวจสาร “Basic Yellow 2”( BY2 ) และแคดเมียม (Cd)
กระทบการส่งออกทุเรียนสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
อย่าลืมว่า ในปี 2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 833,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.4 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย
ที่ผ่านมา ชาวสวนทุเรียนออกมาเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือแก้ไขปัญหา
ล่าสุด มีข่าวดีออกมาบ้าง
1. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในประเด็นห้องแล็บตรวจวิเคราะห์หาสาร “Basic Yellow 2”( BY2 ) และแคดเมียม (Cd) ในทุเรียนสด ก่อนส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ได้ยื่นหนังสือขอเพิ่มจำนวน 5 แห่ง และขอกลับมามีคุณสมบัติอีกครั้ง (Resume) จำนวน 2 แห่ง
กรมวิชาการเกษตรได้มีการเจรจากับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
และล่าสุดทาง GACC ได้แจ้งผลการพิจารณาห้องแล็บทดสอบสาร BY2 ของไทย โดยระบุว่า “คณะผู้เชี่ยวชาญจีนได้ดำเนินการวิเคราะห์ประเมินเอกสารห้องแล็บที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และได้เห็นชอบให้ห้องแล็บที่ฝ่ายไทยเสนอ จำนวน 7 แห่ง สามารถดำเนินงานด้านการทดสอบสาร BY2 ในผลไม้ส่งออกจีนของไทยได้ ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป”
“ผลการพิจารณาตอบกลับจากประเทศจีน ทำให้ปัจจุบันไทยมีห้องแล็บทดสอบสาร BY2 จำนวน 10 ห้อง ซึ่งมั่นใจว่าจะเพียงพอรองรับปริมาณทุเรียนที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน” รมว.เกษตร ดร.นฤมล กล่าว
2. รายชื่อแล็บไทยที่สามารถทดสอบสาร BY2 จำนวน 10 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 14 เม.ย. 2568) ได้แก่ Central Laboratory (Thailand) Co., Ltd. Chachoengsao branch Central Laboratory (Thailand) Co., Ltd. Chiangmai branch
Asia Medical and Agricultural Laboratory and Research Center Co., Ltd.
Central Laboratory (Thailand) Co., Ltd. Songkhla Branch
Central Laboratory (Thailand) Co., Ltd. Bangkok branch
Bureau Veritas AQ Lab (Thailand) Limited
Central Laboratory (Thailand) Co., Ltd.(Khon Kaen Branch)
ประเด็นหลังจากนี้ ยังต้องติดตามว่าจะบริหารจัดการเพื่อให้ทุเรียนสดที่จะมีผลผลิตออกมาจำนวนมหาศาล ผ่านการตรวจแล็บที่มีอยู่ 10 แห่งอย่างไร?
เพื่อให้ทันการส่งออกไปจีน
ซึ่งการเจรจาให้ทางการจีนผ่อนปรนการตรวจที่หน้าด่านก็ยังมีความสำคัญ และยังรอผลการเจรจาที่ทางรัฐบาลควรจะทุ่มกำลังในการพูดคุยให้เกิดผลโดยเร็วที่สุด
3. กรณีทางการจีนตรวจพบสารตกค้าง BY2 ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้ามในทุเรียน โดยสาร BY2 พบในกล่องบรรจุ ทำให้ทุเรียนไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของประเทศปลายทาง ส่งผลให้บางลอตสินค้าถูกระงับการนำเข้า และสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในตลาดต่างประเทศ
Thai Durian Association - TDA สมาคมทุเรียนไทย เปิดเผยว่า “ไม่ใช่แค่ 1 แต่ตรวจพบถึง 3 ตัวอย่าง...
เพื่อตรวจหาต้นตอของ BY2 ให้ชัดเจน จำเป็นต้องส่งตรวจแทบจะทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยการผลิตในสวน และ อุปกรณ์ที่ใช้ในการแพ็กบรรจุ ในที่นี้ จึงมีการส่งตัวอย่างกล่องลังกระดาษที่ใช้สำหรับแพ็กบรรจุทุเรียนผลสด
จึงได้พบว่า ...
ตามรายงานการวิเคราะห์ของ Eurofins 3 ตัวอย่าง พบค่าของสาร Basic Yellow 2 ดังนี้
- ตัวอย่างที่ 1 :
90.50 µg/kg
- ตัวอย่างที่ 2 :
222.94 µg/kg
- ตัวอย่างที่ 3 :
126.75 µg/kg
ผลวิเคราะห์จากห้องแล็บ พบสาร Basic Yellow 2 ในกล่อง 3 ตัวอย่าง มีค่าเกินเกณฑ์ LOD และ LOQ อย่างชัดเจน
...การพบสาร Basic Yellow 2 ในบรรจุภัณฑ์อาหารที่ระดับ 90.50–222.94 µg/kg ถือว่า “ไม่ผ่าน” มาตรฐานทั้งของประเทศไทยแลประเทศจีน
เนื่องจากสารนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารในทั้งสองประเทศ จึงต้องขอวอนให้เป็นเรื่องที่ทางล้ง/ผู้ประกอบการ ต้องจัดการตรวจสอบและมีมาตรการในการจัดการ ไม่ให้ผลผลิตทุเรียนเกิดการตกค้างของสาร BY2 ในระหว่างการแพ็กบรรจุ
เชื่อเหลือเกินว่า ไม่ใช่ทุกกล่องที่จะพบ BY2 และไม่ใช่ทุกล้ง ที่จะใช้กล่องที่มีสารตกค้าง BY2
แต่ ณ ขณะนี้ทุกๆคนที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนต้องช่วยกันตรวจสอบหาต้นตอที่ก่อให้เกิดBY2 ให้เจอ แล้วจัดการทำลายหรือแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบกับอุตสาหกรรมทุเรียนในวงกว้าง..”
3. ก่อนหน้านี้ สมาคมทุเรียนไทย ได้สรุปประเด็นปัญหา และแนวทางข้อเสนอแนะในการแก้ไขแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการส่งออกทุเรียนอันเกิดจากมาตรการตรวจสอบสารตกค้างของประเทศจีน
โดยเฉพาะสาร BY2 ซึ่งมีการตรวจพบตกค้างที่เปลือกทุเรียนที่ด่านจีน อาทิ
1. ปัจจุบันมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกมีมากกว่า 871,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนที่มีเป้าหมายส่งออกไปยังตลาดจีนเป็นหลัก ซึ่งการที่มีการตรวจเข้มงวดในเรื่องสารตกค้าง โดยเฉพาะการตรวจสาร BY2 และแคดเมียมทุกตู้คอนเทนเนอร์ แม้แต่เฉพาะเปลือกที่ไม่ใช่ส่วนรับประทาน จึงทำให้เกิดความล่าช้า รถบรรทุกที่ขนส่งทุเรียนจำนวนมากติดค้างที่ด่านศุลกากรขาเข้าของจีน ไม่สามารถกระจายผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้ตามปกติ คุณภาพของทุเรียนได้รับความเสียหาย นำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นในตลาด และอาจเกิดผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ
2. ห้องปฏิบัติการตรวจสารตกค้างในประเทศไทยถูกปฏิเสธการรับรองจาก 8 แห่ง เหลือเพียง 4 แห่ง และมีแนวโน้มว่าจะถูกรัฐบาลจีนปฏิเสธเพิ่มขึ้นจนหมดทุกแห่งในระยะเวลาอันใกล้นี้ ในขณะที่ห้องปฏิบัติการของไทยที่ยื่นขออนุญาตเพิ่มเติมก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากประเทศจีน อีก 5 แห่ง
3. การกำหนดค่ามาตรฐานของสาร BY2 ซึ่งเป็นสารสีเหลืองชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มสารที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งระดับ Class 2 ให้ต้องตรวจไม่พบคือต้องมีค่าต่ำกว่า 0.5 ppb (หรือ 0.0005 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับสารกำจัดแมลงที่จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งระดับ Class 1 ซึ่งอนุญาตให้มีได้ถึง 1 ppm หรือ 1,000 ppb กล่าวคือ ต่ำกว่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งร้ายแรงถึง 2,000 เท่า แสดงให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของมาตรการดังกล่าว
ที่ผ่านมา สมาคมทุเรียนไทย ได้แจ้งปัญหาและแนวทางแก้ไขให้แก่หน่วยงานภาครัฐและสถานทูตจีนมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกทุเรียนของประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ได้สรุปแนวทางเร่งรัดการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอการเจรจาตามแนวทาง 3 ประการ ดังนี้
“1. ขอให้ใช้มาตรฐานการตรวจสอบสารปนเปื้อน BY2 แบ่งเป็น 2 ค่า คือ การตรวจที่เนื้อทุเรียนให้ตรวจแบบไม่พบ (Not Detected) ได้แต่ในส่วนที่เปลือกขอให้มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่รับได้ คือ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม หรือ 10 ppb
2. ขอให้ยกเลิกการระงับใบรับรองห้องปฏิบัติการในประเทศไทย เนื่องจากตามหลักสากล ห้องปฏิบัติการจะรับรองเฉพาะผลการตรวจวิเคราะห์ในลูกทุเรียนที่เอามาตรวจเท่านั้น ถ้าตรวจพบสารที่ควบคุมในตู้หรือในผลทุเรียนลูกอื่นที่ไม่ได้เอามาตรวจ (เพราะการตรวจใหม่ย่อมไม่ใช้การตรวจทุเรียนลูกเดียวกัน) ควรระงับใบ DOA หรือ หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชของโรงคัดบรรจุที่พบเจอเท่านั้น รวมถึงขอให้พิจารณาเพิ่มห้องปฏิบัติการในพื้นที่ปลูกทุเรียน ให้เพียงพอกับผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบการตรวจสอบ
ให้ทันต่อเหตุการณ์
3. เนื่องจากการตรวจพบสารตกค้างในทุเรียนไทยมีจำนวนน้อยมาก จึงขอให้ลดจำนวนการตรวจแบบ 100% ที่ด่านชายแดน โดยควรกำหนดสัดส่วนการสุ่มตรวจน้อยกว่า 30% ของผลผลิตที่ส่งออก เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเสียหายจากการขนส่งและเสียโอกาสทางการค้า”
4. เห็นได้ว่า การเพิ่มแล็บ เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหา แต่ยังมีอีกหลายประการที่รัฐบาลจะต้องทุ่มกำลังแก้ไขโดยเร็ว
ก่อนหน้านี้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าหารือกับนายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนางสาวจาง เซียวเซียว อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2568 ที่ผ่านมาว่า
ได้หยิบยกประเด็นปัญหาอุปสรรคในการส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีน
โดยเฉพาะปัญหาการตรวจพบสารตกค้างและการตรวจสอบที่เข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการกระจายสินค้าในฤดูกาลผลไม้ปีนี้
ได้ขอให้ทางการจีนพิจารณาผ่อนปรนมาตรการตรวจสอบสารตกค้างในทุเรียนไทย โดยเฉพาะการตรวจสาร BY2 ที่ปัจจุบันสุ่มตรวจ 100%
พร้อมทั้งขอให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจผ่านด่าน เพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่จะส่งออกไปยังตลาดจีนในช่วงฤดูผลไม้
พร้อมทั้งเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การตรวจรถสินค้าที่หน้าด่าน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ อัครราชทูตจีนได้รับนำข้อเสนอของไทยไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน เพื่ออำนวยความสะดวกและผลักดันการส่งออกทุเรียนไทยสู่ตลาดจีนให้เกิดความราบรื่นมากที่สุด พร้อมได้กำชับขอให้ทางไทยเข้มงวดเรื่องการป้องกันและการตรวจสารปนเปื้อนไม่ให้หลุดรอด ไปตรวจพบในประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันยังมีการตรวจพบสารนี้
นี่คือสิ่งที่รัฐบาลควรทุ่มเทสนับสนุนติดตามให้บรรลุผลโดยเร็วที่สุด
5. รมว.พาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์ที่ด่านนำเข้าสินค้าของจีนอย่างใกล้ชิด โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในจีนได้รายงานสถานการณ์ว่า ศุลกากรหนานหนิง ได้เปิดช่องทางพิเศษสำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียน และให้ความสำคัญกับสินค้าผลไม้เป็นอันดับแรก มีการขยายเวลาการทำงาน เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่มีการใช้ระบบนัดหมายล่วงหน้าในการผ่านด่าน รวมทั้ง การผลักดันให้รถขนส่งสินค้าที่มาจากเวียดนามใช้ช่องทางด่านทวิภาคีจีน-เวียดนาม เพื่อลดความหนาแน่น
ทั้งนี้ ในอนาคต ทางด่านศุลกากรหนานหนิง มีแผนที่จะขยายช่องทางจราจรสำหรับขนส่ง ให้มีทางเข้า 3 ช่อง ออก 3 ช่อง (ปัจจุบันเข้า 2 ช่อง ออก 2 ช่อง) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างห้องปฏิบัติการตรวจสาร BY2 บริเวณด่าน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2568
และสำหรับศุลกากรคุนหมิง ได้มีการขยายเวลาการทำงานล่วงเวลา และเพิ่มเจ้าหน้าที่ด่าน ตลอดจนได้เพิ่มห้องแล็บตรวจสาร BY2 จากเดิม 3 ห้อง เป็น 5 ห้อง (ปัจจุบันเปิดใช้งานแล้ว 4 ห้อง) ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสินค้าได้วันละ 400 ตัวอย่าง พร้อมทั้งมีแผนที่จะขยายช่องทางเดินรถขาเข้าและขาออก จาก 2 ช่อง เป็น 12 ช่อง คาดว่าจะพร้อมใช้งานในช่วงต้นปี 2569
ในด้านการส่งเสริมการตลาด สำหรับตลาดจีน มีแผนสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนไทย เน้นจุดเด่นด้านรสชาติ ความแตกต่างจากคู่แข่งการขยายตลาดออนไลน์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และส่งเสริมการขายผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติในเมืองใหญ่ พร้อมกระตุ้นการบริโภคผ่านกิจกรรมพิเศษ เช่น เมนูทุเรียนในร้านอาหาร Thai SELECT กิจกรรมทุเรียนทัวร์ และการจัดบุฟเฟ่ต์ทุเรียนในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในจีน
คำพูดของรัฐมนตรีข้างต้น กับผลงานที่ออกมา ยังไม่สอดคล้องกันเท่าใดนัก
คงต้องเร่งมือทำผลงานให้ทันสถานการณ์มากขึ้น
6. ทุเรียน “ราชาผลไม้” เป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันอย่างมาก
แต่ละปี นำเงินเข้าประเทศจากการส่งออกสูงถึงกว่า 1.5 แสนล้านบาท
นับเป็นพืชผลการเกษตรที่มีอนาคตและมีศักยภาพสูงมากชนิดหนึ่งของประเทศไทย
สมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เคยคุยโม้ด้วยซ้ำว่า ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 10 ปี ประเทศไทยจะขายทุเรียนได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน เป็น 1 ล้านล้านบาท !!!
นั่นหมายถึงเพิ่มจากปัจจุบันเกือบ 10 เท่าตัว!!!
ยังจำกันได้อยู่หรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี