ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขและความชุ่มฉ่ำในเทศกาลแห่งความสุขอย่างเทศกาลสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ไทย ที่เต็มไปด้วยความหมายด้านวัฒนธรรม สังคม วันที่ 13-14 เมษายน ก็ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันครอบครัวไทยอีกด้วย โดยตลอดช่วงเวลานี้ของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมากมายได้เดินทางกลับบ้านกลับภูมิลำเนาเพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไปรวมญาติที่ไม่ได้พบกันนาน หรือไปเล่นน้ำคลายร้อนกัน
สำหรับปี 2568 ช่วงวันที่ 11-16 เมษายน มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากเทศกาลสงกรานต์ที่จะสูงถึง 130,000 ล้านบาท จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเกือบ 12 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวนผู้เดินทางกว่า 11 ล้านคน การเดินทางกลับภูมิลำเนาของคนไทยในช่วงสงกรานต์ สร้างมูลค่าในหลายแง่มุม ตั้งแต่การใช้จ่ายในภาคการขนส่ง ค่าที่พัก ร้านอาหาร และธุรกิจท้องถิ่นอื่นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาร่วมเทศกาลสงกรานต์ก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก
แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะดูเป็นสัญญาณดีของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในช่วงหลังโควิด-19 และช่วยสร้างงานและรายได้ให้แก่ประชาชน แต่สิ่งที่มักถูกมองข้าม คือ หลายคนอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากคอร์รัปชันที่แฝงมากับบรรยากาศแห่งความสุข และนำมาสู่คำถามที่ว่า สงกรานต์เป็นเทศกาลความสุขของใครกันแน่
ท่ามกลางบรรยากาศชุ่มฉ่ำของการเล่นน้ำ ชีวิตของหลายๆ คนอาจแห้งแล้งเกินกว่าจะเข้าถึงเทศกาลนี้ได้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย หรือแรงงานในเมืองใหญ่ที่ต้อ(แบกภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลในการเดินทางกลับบ้าน เช่น ค่าตั๋วรถที่มักขึ้นราคาในช่วงเทศกาล (บางเส้นทางอาจพุ่งสูงขึ้นกว่า 50%) ค่าอาหารการกินที่ขยับตัวตามกลไกตลาด
และค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตนอกบ้านที่เพิ่มขึ้นจากทุกทางนำมาสู่ปัญหาแรกที่ผมอยากพาทุกคนมาสำรวจ คือ เรื่อง “คนจนเมือง”
ในปี 2567 ศูนย์ข้อมูลการพัฒนาชุมชนโดย TPmap รายงานว่ามีคนจนเมือง (ผู้ที่เข้าเกณฑ์จนในเชิงรายได้และการเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน) มากถึง 813,054 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 3.8 เท่า โดยกว่า 40% กระจุกตัวในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้ามาหางานทำในเมืองด้วยความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า แต่กลับต้องอยู่ในห้องเช่าขนาด 4x4 เมตร ค่าแรงขั้นต่ำ 330–370 บาทต่อวัน ไม่เพียงพอแม้กระทั่งค่าอาหาร 3 มื้อ เปรียบเสมือนเงาใหญ่หลังภาพเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะฟื้นตัว
เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ กลุ่มคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องเลือกระหว่างการกลับบ้านหรืออยู่ต่อเพื่อหารายได้เพิ่มเพราะการหยุดงานหนึ่งวันหมายถึงรายได้ที่หายไปมหาศาล หลายครั้งคนเหล่านี้ก็ถูกผลักให้อยู่ในภาวะทำงานแลกสองเท่า เพราะบริษัทหรือโรงงานต้องการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับช่วงหลังเทศกาล ทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องทำงานล่วงเวลา หรือทำงานวันหยุดโดยไม่มีทางเลือก การไม่สามารถกลับบ้านได้ จึงไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องเงินเท่านั้น แต่สะท้อนถึงระบบที่ไม่เห็นค่าความสุขของมนุษย์สักเท่าไร และทำให้บ้านไม่ใช่สถานที่ที่กลับไปได้ง่ายๆ อีกต่อไป
ปัญหาต่อมา คือ เรื่อง “ความปลอดภัย” ทั้งทางร่างกายที่น่าเป็นกังวลอย่างมากในช่วงนี้จากข่าวความไม่ปลอดภัยในการเดินทางที่เกิดขึ้นในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนที่ก่อสร้างล่าช้าและไม่มีคุณภาพ เส้นทางที่ไม่มีไฟส่องทาง หรือการติดตั้งป้ายเตือนอันตรายอย่างขอไปที ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคงหนีไม่พ้นกรณีถนนพระราม 2 ที่ตลอด 5 ปี (2561–2566) มีการเกิดอุบัติเหตุบนถนนเส้นนี้ถึง 2,504 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 142 ราย และบาดเจ็บ 1,441 ราย โดยหลายครั้งเกิดจากพื้นที่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง หรือไม่มีมาตรการป้องกันเพียงพอ แม้กลุ่มภาคประชาสังคม และสำนักข่าวหลายแห่งจะสังเกตเห็นปัญหาโครงสร้างซ้ำซ้อน เช่น โครงการซ่อมแซมที่ล่าช้ากว่าแผนเดิมถึง 3 ปี และยังไม่แล้วเสร็จในปี 2567ทั้งที่ใช้งบประมาณเกินแผนไปมากกว่า 1,200 ล้านบาท แต่ปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจากความไม่ปลอดภัยทางร่างกายจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยทางทรัพย์สินจากส่วยหรือเงินใต้โต๊ะ ที่เป็นเรื่องรู้กันในวงการขนส่งทั้งระดับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางจำนวนมาก ทำให้มีการเรียกเก็บเงินในรูปแบบต่างๆ เช่น ค่าคุ้มครองสำหรับรถโดยสารที่วิ่งหรือบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด
รายงานจากมูลนิธิพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุว่าในช่วงสงกรานต์ปี 2567 มีผู้ร้องเรียนมากถึง 786 กรณี เกี่ยวกับการถูกเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ส่วยด่านตรวจ ส่วยด่านชั่งน้ำหนัก และการขอส่วนแบ่งจากค่าตั๋วรถ และส่งผลต่อการลดทอนมูลค่าเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัด อ้างอิงจากรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ
ทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปี 2567 ที่พบว่า การทุจริตในภาครัฐมีส่วนลดทอนมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในระบบการขนส่งที่ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและใบอนุญาตต่างๆ ที่มักมีการเรียกรับส่วยจากเจ้าหน้าที่ ประกอบกับรายงานขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ระบุว่า ความเสียหายจากการคอร์รัปชันของประเทศไทยในแต่ละปีอาจสูงถึง 500,000 ล้านบาท และมีสัดส่วนอยู่ในระบบคมนาคมขนส่งมากที่สุดถึง 20–25% ของการทุจริตภาครัฐ
การจ่ายส่วยไม่เพียงแต่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเปิดช่องให้เกิดการละเมิดกฎหมายอย่างเป็นระบบ เช่น รถโดยสารไม่มีใบอนุญาตวิ่งได้ รถบรรทุกวิ่งเกินน้ำหนักที่กำหนด หรือรถตู้ที่ดัดแปลงผิดกฎหมายยังให้บริการได้ในบางพื้นที่ ผลลัพธ์ คือ การเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนน ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ปี 2566 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 20,000 ล้าน และยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางจิตใจของผู้คนที่รอคอยการกลับมาของครอบครัวที่เข้าไปทำงานในเมืองในรอบปีหรือหลายปี
สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของคำถามที่ว่า สงกรานต์เป็นเทศกาลความสุขของใคร ใครที่ได้สัมผัสความสุขในช่วงนี้ แต่หากเกิดแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแต่จะทำให้คนสามารถกลับบ้านได้อย่างที่ใจหวัง แต่อาจยังสามารถสร้างความสุขให้กับผู้ที่กำลังรอคอยการกลับมาของครอบครัว ค่าตั๋วที่แพงเกินไปอาจจะลดลง ระบบการขนส่งจะมีความปลอดภัยมากขึ้น และการละเมิดสิทธิจากการเรียกรับส่วยก็จะลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่อาจช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน
ผู้เขียนหวังว่า ในอนาคตเทศกาลสงกรานต์จะได้เป็นเทศกาลแห่งความสุขที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพียงเพราะต้นทุนชีวิตที่มากเกินไปจากความต้องการของใครที่ใช้อำนาจในทางที่ไม่ควร
วสุพล ยอดเกตุ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี