เมื่อ 2 ประเทศมีประเด็นปัญหาการค้าขายระหว่างกัน หลักปฏิบัติโดยทั่วๆ ไป ก็จะเกิดการเจรจาต่อรองแบบทวิภาคี หรือตัวต่อตัว หรือหากจะอยากให้มีการลดอัตราภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปที่จะใช้ได้กับทุกประเทศ ก็จะไปว่ากันที่ที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ซึ่งตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในขณะเดียวกันประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกันในภูมิภาคหนึ่งใดก็อาจจะมีการเจรจาร่วมมือส่งเสริมการทำมาค้าขายและแก้ไขอุปสรรค โดยการรวมตัวกันจัดตั้งองค์การร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป (เดิมเป็นตลาดร่วมหรือการร่วมมือเศรษฐกิจในยุโรป) องค์การอาเซียน และองค์การนาฟตา (NAFTA) เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจเสรีร่วม คือ ขจัดหรือลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรให้ต่ำสุด เพื่ออำนวยความสะดวกส่งเสริมและขยายตลาดการค้าขายระหว่างกัน ซึ่งตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีการดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวมาเป็นลำดับ โดยหัวใจของเรื่องคือ การตั้งโต๊ะเจรจาต่อกันและกันแบบสันติวิธีและถ้อยทีถ้อยอาศัย สะท้อนความทัดเทียมเสมอภาค และความเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะที่มีมิตรไมตรีต่อกันและมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ในรูปการดังกล่าวนี้ สหรัฐอเมริกาจัดได้ว่า เป็นประเทศที่มีอัตราภาษีศุลกากรต่ำที่สุดประเทศหนึ่ง หรือนัยหนึ่งสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในอัตราที่ต่ำ ขณะที่ประเทศต่างๆ โดยทั่วไปเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้าที่นำเข้าจากประเทศสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่า
อีกทั้งก็ยังมีปัญหาเสริม เช่น การเลือกปฏิบัติระหว่างบริษัทของชนชาติของตนกับบริษัทอเมริกัน การที่ภาครัฐให้การอุดหนุนจุนเจือวิสาหกิจรัฐ และบริษัทธุรกิจเอกชนของตนเพื่อลดต้นทุน แล้วเอาผลผลิตทั้งหลายไปขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งถือเป็นการทุ่มตลาด (Dumping) ในตลาดของประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯ เช่น ในกรณีของจีนกับสินค้าเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และแผงวงจรแสงอาทิตย์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ประเทศต่างๆ ก็มีระบบส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานเพื่อผลิตสินค้าเพื่อขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองด้วยดี โดยเฉพาะจากบริษัทอเมริกันที่ย้ายโรงงานออกจากสหรัฐอเมริกา เพื่อไปตั้งในประเทศต่างๆ เป็นการลดต้นทุน และทำกำไรได้มากขึ้น หรือไม่ก็ลงทุนผลิตสินค้าในต่างประเทศ แล้วนำเอาสินค้าเหล่านั้นที่ต้นทุนต่ำกลับมาขายในตลาดสหรัฐฯ ในราคาที่สูง ที่อำนวยให้ได้กำไรได้มากขึ้น
การณ์นี้สหรัฐฯ จึงประสบภาวะขาดดุลการค้ากับจีนขนานหนัก เนื่องจากต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีน ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ได้จืดจางหายไปจากสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้คนอเมริกันตกงานกันอย่างมากมาย หรืออาจจะพอมีงานทำในระดับที่ต่ำกว่าระดับการศึกษา หรือความชำนิชำนาญ และได้รับเงินเดือนที่ไม่สามารถที่จะคงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตของคนชั้นกลางได้ ความรู้สึกของความไม่พึงพอใจของคนอเมริกันที่ว่า สังคมอเมริกันและคนอเมริกันถูกเอารัดเอาเปรียบก็มีความรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ บวกกับความอดสู เหนื่อยหน่ายต่อความไม่รับผิดชอบของบรรดานักการเมืองทั้งหลายต่อสภาพชีวิตที่ถดถอยลงไปตามลำดับ
จนกระทั่งเมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กระโดดเข้าสู่สนามการเมืองสหรัฐฯ ที่มาพร้อมกับความเข้าใจในความทุกข์ร้อน แร้นแค้น ของชาวอเมริกันชนชั้นกลางโดยทั่วๆ ไป และตระหนักว่าจะต้องมีมาตรการแก้ไข เพื่อมิให้สหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับหรือถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป และขณะเดียวกันก็มีความเห็นว่า การเจรจาพาทีในกรอบองค์การร่วมมือภูมิภาค หรือในกรอบองค์การร่วมมือระดับโลก เช่น องค์การการค้าโลกนั้น เชื่องช้า ไม่ทันใจ และมิได้เจาะจงไปที่ประเด็นปัญหาอย่างแน่ชัด จริงจัง
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเข้ามาสู่สนามการเมืองพร้อมกับคำขวัญว่า อเมริกาต้องมาก่อน และอเมริกาจะต้องกลับมายิ่งใหญ่อีก โดยอเมริกาจะเป็นผู้กำหนดทิศทางและนำพา และมิยอมให้องค์กรหนึ่งใดมาตีกรอบ หรือจำกัดหนทางของอเมริกาอีกต่อไป
ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ สึนามิเศรษฐกิจ-การเมืองของโลกก็ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันรุนแรง เมื่อสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทำการประกาศขึ้นภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาลกับทุกประเทศที่ทำมาค้าขายกับสหรัฐฯ และเจาะจงเป็นการเฉพาะกับกลุ่มประเทศ 15 ประเทศ ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยจะเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูง ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็มีกรณีตัวอย่างของรถมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตและประกอบขึ้นในประเทศไทย และแต่เดิมเรามีกำแพงภาษีศุลกากรที่ปกป้องคุ้มครองเพื่อมิให้รถมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตจากสหรัฐฯ เข้ามาค้าขายได้สะดวก เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ ฮาร์เลย์ เดวิดสัน ที่ฝ่ายประเทศไทยเรียกเก็บภาษีศุลกากรถึง 80% แต่รถมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตจากประเทศไทยแล้วส่งออกไปขายที่ประเทศสหรัฐฯ จะไม่เจอกำแพงภาษีแบบนี้
มาตรการเพิ่มภาษีศุลกากรต่างๆ ของสหรัฐฯ ก็สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกแนวทางที่จะรับมือกับฝ่ายสหรัฐฯ เช่น การตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ คืนในอัตราสาสมกัน เช่น ในกรณีของจีน แต่ประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งไทยนั้น ก็มักเลือกที่จะใช้วิธีการต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เช่นในกรณีของญี่ปุ่นก็อ้างต่อฝ่ายสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ
ไม่ควรเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้าของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เอาเงินมาลงทุนในสหรัฐฯ สูงสุด และพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อไปอีก เป็นต้น
นอกจากสึนามิในเรื่องการค้าขายระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ แต่ละประเทศแล้ว ก็ยังมีสึนามิคู่ขนานที่สำคัญๆ ต่อโลกกว้างก็คือ
1.ความอ่อนเปลี้ยลงขององค์การร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น ในกรณีของนาฟตาที่มีสมาชิก 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ก็ปรากฏว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มิได้ใช้เวทีนี้เลย ซึ่งถือเป็นเขตการค้าเสรีระหว่างกันของทวีปอเมริกาเหนือ
2.สถานะและอนาคตขององค์การการค้าโลก ซึ่งกลับกลายเป็นเวทีที่อ้างว้าง ไม่ค่อยมีบทบาท หรือบทบาทน้อยลงเป็นลำดับ เพราะประเทศต่างๆ ไปทำข้อตกลงเปิดการค้าเสรีกันเอง ไม่ใช้เวทีกลางของ WTO และมาบัดนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ก็ยังไม่ให้ความสำคัญ โดยไม่แยแสต่อกฎเกณฑ์กติกากลางของ WTO เสียเลย ส่วนประเทศใดจะเอาเรื่องราวไปฟ้องร้องที่ WTO ว่าถูกสหรัฐฯ รังแก ก็คงจะไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร โดยต่างก็ต้องมาเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้า ว่าจะแก้ไขปัญหาส่งสินค้าของตนไปที่สหรัฐฯ ที่มีกำแพงภาษีศุลกากรสูงขึ้นได้อย่างไร
3.ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โลกก็เริ่มที่จะมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ การใช้เวทีพหุภาคี (Multilateralism) เป็นเวทีร่วมมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกันด้วยการจัดตั้งองค์กรกลางและกฎเกณฑ์กติกากลาง เช่น องค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก สถาบัน IMF และองค์การการค้าโลก เป็นต้น แต่ก็มาชะงักงัน อันสืบเนื่องมาจากการแตกแยกทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ ดังที่ทราบกันดีอยู่ จนกระทั่งโลกยุคสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงไปด้วยการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของสหภาพโซเวียตผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ โลกก็กลับมามีหนทางที่จะมาเป็นหนึ่งเดียวกัน เสริมด้วยวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านการสื่อสารต่างๆ ที่อำนวยให้ข้อมูลข่าวสาร การติดต่อทางด้านการทำมาค้าขายผ่านระบบการสื่อสารสมัยใหม่เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โลกจึงได้ทิ้งโลกยุคสงครามเย็นเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ของการเชื่อมโยง ไหลเวียนกันอย่างเสรี ราบรื่น พึ่งพาอาศัยและร่วมมือกัน
อย่างไรก็ตาม โลกยุคโลกาภิวัตน์ในช่วง 35 ปีโดยประมาณก็มิได้ราบรื่นไปเสียหมด เพราะมีประเด็นปัญหาของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ โดยฝ่ายศาสนานิยม และชาติพันธุ์นิยมหัวรุนแรง ที่เห็นว่า โลกยุคโลกาภิวัตน์นั้นเป็นของที่คิดค้นและนำพาโดยฝ่ายตะวันตก คุกคามประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่อถือของกลุ่มชนเหล่านี้ โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกกลาง ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ โดยหลายๆ ประธานาธิบดีที่ผ่านมา ต่างก็เห็นว่าการพิชิตลัทธิคอมมิวนิสต์ลงได้มิได้เป็นการเพียงพอ แต่จะต้องออกไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นโลกเสรีทั้งหมด คือให้มีความเป็นประชาธิปไตย และจะมิยอมให้ประเทศหนึ่งใด เช่น จีน และรัสเซีย ขึ้นมาท้าทายความยิ่งใหญ่ของฝ่ายตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ได้
ความเป็นโลกาภิวัตน์จึงมีความกระท่อนกระแท่นอยู่ในตัว ซึ่งมาบัดนี้ฝ่ายสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีความเห็นว่า สหรัฐฯ ไม่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องไปค้ำจุนโลกยุคโลกาภิวัตน์ แต่ประเทศใดจะมาหรือไม่กับสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องที่ประเทศนั้นๆ จะตัดสินใจและดูแลตนเอง
สรุปได้ว่า สึนามิเศรษฐกิจ-การเมืองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จึงกำลังพัดถล่มเศรษฐกิจของประเทศแต่ละประเทศ ทับถมองค์การร่วมมือภูมิภาค ทับถมองค์การการค้าโลก และสร้างความสั่นคลอนให้กับโลกยุคโลกภิวัตน์ ซึ่งโลกก็คงต้องปรับตัวกันใหม่หมด แล้วก็จัดหาระบบใหม่ (Order) ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ และมีความเจริญก้าวหน้าร่วมกัน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี