สมัยที่รับราชการที่กองระบบบัญชีและการคลัง กรมบัญชีกลาง ในตำแหน่งนิติกรกฎหมายการคลัง ผู้เขียนได้เคยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการให้ความเห็นเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวสิทธิในการรับบำเหน็จตกทอดของเพื่อนข้าราชการท่านหนึ่งตาม พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ที่ได้บัญญัติ เรื่อง “ทายาทผู้มีสิทธิ์” ไว้ ดังนี้
“ผู้อุปการะ” และ “ผู้อยู่ในอุปการะ” หมายความว่า
(๑) ผู้ที่ได้อุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาผู้ตายมาแต่เยาว์ฉันบิดามารดากับบุตร หรือ
(๒) ผู้ที่ได้อุปการะข้าราชการประจำ หรือข้าราชการบำนาญ ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอกับอัตภาพ หรือได้อุปการะข้าราชการบำนาญผู้ซึ่งป่วยเจ็บทุพพลภาพ หรือวิกลจริตไม่สามารถที่จะช่วย
ตัวเองได้
“ผู้อยู่ในอุปการะ” หมายความว่า ผู้ที่ได้อยู่ในความอุปการะของผู้ตายมาตลอด โดยจำเป็นต้องมีผู้อุปการะ และความตายของผู้นั้นทำให้ได้รับความเดือดร้อน เพราะขาดอุปการะ
กฎหมายบำเหน็จบำนาญในเรื่องทายาทที่ให้นิยามของผู้มีสิทธิ์ที่เป็น “ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ” นี้ ต่างกับทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๒๙ ที่มีทายาทโดยธรรมหกลำดับเท่านั้น แต่บำเหน็จตกทอดสิทธิของทายาทจะเกิดขึ้นเมื่อข้าราชการบำนาญตายแล้ว จึงไม่ใช่มรดกตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีอยู่ก่อนตาย
คุณสัจจา เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมีหน้าที่ส่งหนังสือ ระหว่างกองต่างๆ ในกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง เช่น สตง. ก.พ. และกระทรวงการคลัง
คุณสัจจาจึงเป็นเพื่อนร่วมงานกับผู้เขียนเพราะทำงานในกองระบบบัญชีและการคลังกองเดียวกัน และมักจะพบกันในตอนเช้าที่ขึ้นเรือที่ท่าเตียนและเดินมาทำงานที่กรมบัญชีกลาง ระหว่างเดินมาก็คุยกันจึงทราบว่า คุณสัจจาเป็นลูกศิษย์วัดอาศัยอยู่กับท่านเจ้าคุณที่วัดอรุณราชวราราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดแจ้ง” ที่คุณสัจจาเรียกท่านว่า “ขรัวตา” แทนที่จะเรียกว่า “หลวงตา” เพราะคำว่า “ขรัวตา” เป็นคำเรียกพระภิกษุที่สูงอายุ
(“ขรัวตา” เป็นคำที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้เรียกยกย่องท่านปรีดี พนมยงค์ ว่า “ขรัวตาท่าช้าง” ที่เป็นทำเนียบทำงานของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ทางราชการควรจะต้องอนุรักษ์ รักษาไว้)
ทุกเช้า คุณสัจจาก็จะข้ามเรือจากวัดแจ้งมาขึ้นที่ท่าเตียนเดินลัดเข้าทางประตูดิน (ที่มีธรณีประตู ผู้ที่จะเข้าออกต้องเดินก้าวข้ามให้พ้น และพึงระมัดระวังตั้งสติไม่เหยียบธรณีประตูนี้เป็นอันขาด หากผู้ใดเผลอไปเหยียบ จะถูก “โขลน” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สตรีมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในวังชั้นในตำหนิและสั่งให้กราบธรณีประตู เพื่อเป็นการขอขมาโทษ
(อนึ่ง ผู้เขียนก็เคยเผลอเหยียบตอนออกมาจากการไปหาญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวังชั้นในและก็ถูก “โขลน” สั่งให้ก้มลงกราบตรงธรณีประตูที่เหยียบ สำหรับผู้ชายที่มีอายุ ๑๓ ปีแล้ว จะเข้าวังชั้นในไม่ได้ ซึ่งมีข้อน่าคิดว่าเป็น “กฎหมายประเพณี” หรือไม่)
ระหว่างเดินมาจะเห็นคุณสัจจา มีของใส่ถุงมาแจกเด็กๆ ที่รอขนมของคุณสัจจาอยู่เสมอ คงจะเป็นอาหารและขนมที่เหลืออยู่จากท่านเจ้าคุณที่ได้รับมาจากการใส่บาตรตอนเช้า ซึ่งคุณสัจจาจะต้องเดินตามหลวงตาและสะพายย่ามตามไปด้วย จึงทำให้ต้องมาทำงานสายต้องเซ็นเวลาทำงานใต้เส้นแดงอยู่เสมอ และประมาณ ก่อน ๑๑ นาฬิกา ก็จะต้องมาดูแลหลวงตาในการฉันเพล จึงกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน ซึ่งคุณสัจจาก็ไม่ติดใจ เพราะต้องดูแลหลวงตาที่ท่านเลี้ยงดูคุณสัจจามาตั้งแต่เล็ก ฉันบิดามารดากับบุตร
คุณสัจจาเป็นคนอยู่ในศีลธรรมอันดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งปวง ไม่เสพของมึนเมาไม่สูบบุหรี่ แต่เสื้อผ้าที่ใส่มาทำงานมักจะซ้ำกันเพราะคงไม่ได้ซักรีดบ่อยนัก และไม่ได้อาบน้ำตอนเช้าก่อนมาทำงาน จึงมักจะมีกลิ่นที่ไม่ค่อยสะอาด บางคนจึงเรียกว่า “สัจจาตัวเหม็น” เวลางานเลิกพวกเรามักจะมาทานอาหาร ดื่มเบียร์ ที่ร้าน“มิ่งหลี” หน้าวัง แต่เวลากลางวันมักจะไม่มา เพราะจะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มานั่งทานโดยมี“โต๊ะพิเศษ” ที่ทางร้านจะกันไว้ พวกเราจึงมักมาทานกันตอนเย็น และมักจะพบท่านอาจารย์ศิลป พีระศรี ผู้ก่อตั้งและอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์คนแรก มานั่งดื่มเบียร์อยู่คนเดียว (ร้าน “มิ่งหลี” หน้าพระลาน เป็นร้านอาหารเก่าแก่มากกว่าหนึ่งศตวรรษ ปัจจุบันเลิกขายอาหารแล้ว)
เมื่อเล่าถึงร้าน “มิ่งหลี” ที่เลิกไปแล้ว มีอีกร้านหนึ่งที่ขายหนังสือกฎหมายเก่าแก่อยู่ถัดร้านมิ่งหลีไปไม่มาก คือร้าน “นีติเวชช์” ปัจจุบันก็เลิกไปแล้วจะมีหนังสือพระราชบัญญัติที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนำมาขายในราคาถูก ผมและข้าราชการในกรมบัญชีกลางที่จะใช้ต้องไปซื้อมาใช้งานได้ทันที่เพราะราชกิจจาฯ ยังมาไม่ถึง และยังมีความเป็นพิเศษที่ร้านนี้จะให้มีกฎหมายใหม่อยู่เสมอ จะบริการเพิ่มเติมให้ ถ้าไม่มากนักทางร้านจะทำให้ “ฟรี”
ผมมักชวนคุณสัจจามาทานด้วยตอนเลิกงานตอนเย็น แต่คุณสัจจาจะขอตัวไม่มาร่วมทานด้วยเหตุผลต้องรีบกลับมาดูแลหลวงตาที่มีอายุมากแล้ว
เมื่อคุณสัจจาถึงแก่กรรม มีบำนาญตกทอดจำนวนหนึ่งที่ทายาทตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญมีสิทธิที่จะได้รับ แต่คุณสัจจา ไม่มีทายาทตามกฎหมายเลย มีแต่ท่านเจ้าคุณที่อุปการะเลี้ยงดูคุณสัจจามาตั้งแต่เกิดจนตาย ท่านเจ้าคุณจึงเป็นผู้อุปการคุณสัจจา ตามกฎหมายบำเหน็จบำนาญ มีสิทธิที่จะรับบำเหน็จตกทอดของคุณสัจจา แต่ไม่มีสิทธิรับมรดกของคุณสัจจา เพราะไม่ได้เป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา ๑๖๒๙ เว้นไว้แต่จะทำพินัยกรรมไว้ ไม่ทราบว่าคุณสัจจาได้ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำ มรดกของคุณสัจจาจะต้องตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ กรณีของคุณสัจจา ทำให้เกิดข้อคิดหลายกรณี
เป็นการสมควรหรือไม่ ที่จะแก้ไขทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายแพ่งและพานิชย์ทำนองเดียวกับกฎหมายบำเหน็จบำนาญ กล่าวโดยเฉพาะในสิทธิของผู้อุปการะผู้ตายฉันบิดามารดากับบุตรและ “ผู้อยู่ในอุปการะ” ที่เป็นความ “ยุติธรรมที่แท้จริงตามธรรมชาติ”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี