นโยบายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) หรือขึ้นภาษีนำเข้า โดยอ้างว่าตอบโต้การขาดดุลการค้าจากประเทศต่างๆ กำลังจะปรากฏอาการผื่นขึ้นในสหรัฐอเมริกาเอง
นั่นคือ ราคาขายปลีกสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศในสหรัฐ จะแพงขึ้น
ผู้บริโภคชาวสหรัฐจะต้องจ่ายเงินมากขึ้น
เสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ
ประธานเฟด FED เพิ่งออกมาเตือนว่า นโยบายภาษีดังกล่าวอาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
1. วิคเตอร์ เกา (Victor Zhikai Gao) รองประธาน Center for China and Globalization (CCG) บอกว่า “สงครามภาษีที่ทรัมป์จุดขึ้น เป็นการยิงใส่เท้าตัวเอง แต่กล่าวหาว่าจีนเป็นคนลั่นไก”
เกา เรียกยุทธศาสตร์ของทรัมป์ว่า “การก่อการร้ายทางเศรษฐกิจ (Economic Terrorism)”
ชี้ชัดไปในทางเดียวกันกับนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกว่า ภาษีนำเข้าที่ปธน.ทรัมป์ใช้เป็นอาวุธนั้น สุดท้ายจะส่งผลย้อนกลับไปทำร้ายผู้บริโภคอเมริกันเอง ซ้ำเติมเงินเฟ้อ และทำลายความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย
“ไม่มีทางที่จะฟื้นอุตสาหกรรมอเมริกาได้ ด้วยการทำลายระบบการค้าโลก” -วิคเตอร์ เกา กล่าว
การหันหลังให้จีนไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ แกร่งขึ้น แต่นำไปสู่การโดดเดี่ยวตัวเองจากเศรษฐกิจโลก และสุดท้าย ประชาชนอเมริกันจะเป็นฝ่ายที่ต้องจ่ายแพงขึ้น
เกายังชี้ว่า อนาคตทางการเมืองของสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดในอเมริกาที่มีอำนาจอย่างต่อเนื่องถาวร ต่างจากจีนที่มีเสถียรภาพ คาดการณ์ได้ และกำลังเดินหน้าไปตามการพัฒนาในระยะยาว
2. ความจริง จากรูปการณ์ที่ปรากฏ นโยบายข่มขู่รีดภาษีจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกครั้งนี้ คล้ายๆ กับคนร้ายวางระเบิดตึก เรียกค่าไถ่ ที่ฆ่าตัวตายไปพร้อมกับระเบิด
เพราะผลลัพธ์ตกกับเศรษฐกิจในสหรัฐเอง ที่ต้องจ่ายแพงขึ้น
ขณะที่ระบบโลกมีประสิทธิภาพการผลิตน้อยกว่าเดิม เพราะจะต้องมาผลิตในสหรัฐ แถมต้นทุนค่าแรงแพงขึ้น ส่งออกไปขายที่อื่นก็ไม่ได้
3. สงครามการค้าที่สหรัฐมุ่งหมายพุ่งเป้าถล่มจีน ก็ถูกจีนตอบโต้
สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีน 145%
ส่วนจีนประกาศเก็บ 125% พร้อมมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี
นายหลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าว ตอกย้ำว่า จีนได้บรรยายจุดยืนของตนเองที่มีปัญหาภาษีศุลกากรอย่างชัดเจนหลายครั้งแล้ว ซึ่งสงครามภาษีศุลกากรครั้งนี้ได้ก่อขึ้นโดยสหรัฐฯ จีนใช้มาตรการตอบโต้เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่ชอบด้วยธรรมของตนและความเสมอภาคความเที่ยงธรรมของโลก เป็นที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างสมเหตุสมผลโดยสิ้นเชิง สงครามการค้าและสงครามภาษีศุลกากรจะไม่มีผู้ชนะ จีนไม่อยากร่วมสงคราม แต่เมื่อสงครามเกิดขึ้น จีนก็ไม่กลัวที่จะต่อสู้
4. คำตอบจากจีน
ปธน.ทรัมป์ประกาศด้วยความหยาบคาย ว่า พวกเขากำลัง “Kiss my ass”
จนบัดนี้ ทางการจีนยังไม่ได้โทรไปง้อสหรัฐ
แต่กระทรวงพาณิชย์จีนได้ออก “สมุดปกขาว” ยืนยันคำตอบของจีน
สมุดปกขาวของจีนระบุว่า รัฐบาลอเมริกาอ้างเรื่องความมั่นคงมาทำให้ปัญหาเศรษฐกิจกลายเป็นปัญหาทางการเมือง ละเมิดหลักการตลาด วางอำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งจีนขอคัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยว อเมริกามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าอเมริกาเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์มหาศาลจากการค้าทางสากลมาเป็นเวลายาวนาน แต่บัดนี้อเมริกากลับเอาเรื่องอัตราภาษีนำเข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างแรงกดดัน มุ่งเพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว นี่คือพฤติกรรมของประเทศที่ยึดถือลัทธิเอาแต่ได้ ลัทธิปกป้องตัวเอง และลัทธิใช้อำนาจบาตรใหญ่
อเมริกาอ้างเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรม เป็นเครื่องมือในการแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า “America First” ทำลายล้างกฎระเบียบเศรษฐกิจการค้าสากลที่มีอยู่ ยึดถือผลประโยชน์ของอเมริกาอยู่เหนือผลประโยชน์โดยรวมของนานาชาติ สร้างความปั่นป่วนอย่างหนักให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก
ทางการจีนเน้นว่า “จีนไม่หาเรื่อง แต่ก็ไม่กลัวมีเรื่อง”
“สงครามการค้าไม่มีผู้ชนะ จีนไม่อยากทำสงครามการค้า แต่รัฐบาลจีนก็ไม่อาจนั่งดูดายให้อเมริกาทำลายและแย่งชิงผลประโยชน์ที่ถูกต้องของประชาชนจีน หากอเมริกายังดื้อดึง
ที่จะยกระดับมาตรการข้อจำกัดทางเศรษฐกิจการค้า จีนก็มีวิธีรับมือที่หลากหลาย จะตอบโต้กลับอย่างเด็ดเดี่ยว ต่อสู้จนถึงที่สุด”
5. “ยกก้อนหินขึ้นมา แต่กลับหล่นทับขาตัวเอง”
ล่าสุด นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย ได้เสนอถ้อยแถลง “ทัศนะของข้าพเจ้าต่อสงครามภาษี” เนื้อความน่าสนใจมาก ระบุว่า
“...การเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวางทั่วโลก ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เพื่อนๆ หลายคนได้สอบถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาอยากรู้ว่าชาวจีนมองเรื่องนี้อย่างไร และจะรับมืออย่างไร
ข้าพเจ้าจึงขอใช้พื้นที่เล็กๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพื่อแบ่งปันทัศนะส่วนตัว และเป็นการตอบคำถามสำหรับสาธารณชนที่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้
การได้เปรียบดุลการค้าเป็นความผิดหรือไม่?
การค้าระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรและข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การค้าขายที่สมัครใจและเพื่อประโยชน์ร่วมกัน การที่บริษัทอเมริกันเลือกประเทศไทยเป็นฐานผลิตฮาร์ดดิสก์แล้วนำกลับไปขายในสหรัฐฯ ก็เพราะไทยมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า หากคิดว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และตัดสินว่าไทยมีการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯและสมควรถูกขึ้นภาษี ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การที่สหรัฐฯ เกินดุลในภาคการค้าบริการกับคู่ค้าทั่วโลกมากถึง 295,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล จะถือว่าสหรัฐฯ ไม่เป็นธรรมต่อคู่ค้าทั่วโลกหรือไม่ และคู่ค้าทั่วโลกควรลงโทษสหรัฐฯ หรือไม่ ดังนั้น การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ จึงไม่สอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
การแบ่งงานกันทำและการค้าเสรีระหว่างประเทศต่างๆ คือรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
สหรัฐฯเองก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบการค้าโลก ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้บริโภคสินค้าคุณภาพดี ราคาคุ้มค่าจากทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ครองความได้เปรียบในภาคการเงิน เทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
คุณโอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) เคยเขียนบทความระบุอย่างชัดเจนว่า “สหรัฐฯ คือผู้ชนะรายใหญ่ที่สุดในเวทีการค้าโลก”
การเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ไม่ใช่ความยุติธรรม แต่คือการใช้อำนาจบีบบังคับ
สหรัฐฯ ใช้ภาษีเป็นอาวุธในการบีบบังคับคู่ค้าจนถึงขีดสุดและแสวงหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แท้จริงแล้ว นี่คือการใช้อำนาจการเมืองเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการค้า อันเป็นการกดดันฝ่ายเดียวต่อคู่ค้าอย่างไม่เป็นธรรม
ทั่วโลกมี 190 กว่าประเทศ ลองจินตนาการดูว่า หากทุกประเทศต่างคิดว่าประเทศของตนเองต้องมาก่อน และหลงเชื่อในสถานะที่มีอำนาจที่แข็งแกร่ง โลกนี้จะถอยกลับไปสู่ยุคแห่ง
กฎป่า ประเทศเล็กและประเทศที่อ่อนแอจะกลายเป็นผู้รับเคราะห์ และระเบียบกติกาสากลจะถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง
สหรัฐฯ จุดชนวนสงครามภาษี ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสั่นคลอนไปทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงต่อการถดถอยอย่างหนัก จนถูกนานาประเทศประณามอย่างรุนแรง
นายดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกร้องให้ชาติอาเซียนอย่านิ่งนอนใจ
นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เตือนว่าสิ่งที่สหรัฐฯ กำลังกระทำจะผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคใหม่ที่ใช้อำนาจโดยพลการมากขึ้น เต็มไปด้วยลัทธิการคุ้มครองการค้าและเป็นอันตราย
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน กล่าวต่อสาธารณะว่านโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก และทำลายผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วโลก
นายกรัฐมนตรีมาร์ค คาร์นีย์ แห่งแคนาดา กล่าวว่า เรื่องนี้คือ “โศกนาฏกรรมของ
การค้าโลก”
จีนจะรับมืออย่างไร?
แก่นแท้ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือ การได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นคู่ค้าสำคัญระหว่างกันทั้งด้านการค้าสินค้าและการค้าบริการ ตลอดจนการลงทุนระหว่างกัน การรักษาความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองประเทศไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นคุณต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย
ข้อเท็จจริงพิสูจน์แล้วว่า เมื่อจีนกับสหรัฐฯ ร่วมมือกัน ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ แต่หากปะทะกัน ย่อมเสียหายทั้งคู่ สงครามการค้าย่อมไม่มีผู้ชนะ ลัทธิคุ้มครองก็ไม่ใช่ทางออก ความสำเร็จของจีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นโอกาสสำหรับอีกฝ่าย มิใช่ภัยคุกคามต่อกันอย่างแน่นอน
จีนไม่ประสงค์จะทำสงครามภาษี แต่หากมีคนบังคับเรียกเก็บภาษีอย่างไม่มีเหตุผลกับจีน จีนก็จำเป็นต้องตอบโต้อย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมา จีนได้ดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ อย่างมีพลัง ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของจีน และเพื่อปกป้องระเบียบการค้าเสรีของโลก รวมถึงความยุติธรรมและความเป็นธรรมของมนุษยชาติ
สหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มต้นสงครามการค้า ท้ายที่สุดกลับส่งผลเสียทั้งต่อผู้อื่นและตัวเองผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบเป็นอันดับแรก
ผลการวิจัยของสถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ระบุว่า ท้ายที่สุด ต้นทุนด้านภาษีกว่า 90% จะตกที่ผู้นำเข้า ธุรกิจปลายน้ำ และผู้บริโภคในสหรัฐฯ
ความผันผวนของตลาดหุ้นและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่เป็นเหมือนรถไฟเหาะในช่วงนี้ ก็ได้สะท้อนถึงความจริงข้อนี้แล้ว
ประเทศจีนมีสำนวนโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ยกก้อนหินขึ้นมา แต่กลับหล่นทับขาตัวเอง”
ข้าพเจ้าเชื่อว่า การที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่เพียงแต่จะถูกต่อต้านจากนานาประเทศ ยังจะถูกคัดค้านโดยประชาชนชาวอเมริกันที่ชาญฉลาดอีกด้วย
มองความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ไทยหลังจากนี้อย่างไร?
จีน-ไทยมีภูมิประเทศที่เชื่อมต่อกัน มีอนาคตที่ร่วมกัน เป็นคู่ค้าสำคัญทั้งด้านการค้าและห่วงโซ่อุตสาหกรรม ท่ามกลางความปั่นป่วนของระบบเศรษฐกิจโลก จีนและไทยควรร่วมมือกัน ยึดมั่นในหลักการค้าเสรีและการเปิดกว้าง ยึดมั่นในการดำเนินความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ส่งเสริมการค้าระหว่างกันและการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน เรายังควรปกป้องระเบียบการค้าโลก ร่วมมือใช้กลไกความร่วมมือจีน-อาเซียน องค์การการค้าโลกและเวทีอื่นๆ เรียกร้องให้ทุกประเทศยึดมั่นในหลักการที่ไม่กีดกัน เปิดกว้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อร่วมกันปกป้องและสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีความร่วมมืออย่างเปิดกว้าง
จีนจะยังคงเดินหน้าขยายการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง และแบ่งปันโอกาสแห่งการพัฒนากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
จีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน และมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่เกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เรายินดีต้อนรับผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจากประเทศไทยให้เข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น
ฝ่ายจีนจะสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่น องค์กรภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งจะสนับสนุนให้บริษัทจีนในประเทศไทยใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุตสาหกรรมในท้องถิ่นของไทยให้เต็มที่ ร่วมมือกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในการพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
รวมถึงส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวของไทย
จีนพร้อมจับมือกับไทยเพื่อสร้างต้นแบบแห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่เอื้อประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มความมั่นคงภายใต้สถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่การเติบโตของเศรษฐกิจโลก”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี