บิมสเทค คือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation - BIMSTEC)ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกจาก 7 ประเทศในแถบอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
มองภาพรวมนับว่า เป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่ได้หารือกับประเทศสมาชิกในอ่าวเบงกอล ซึ่งมีประชากรกว่า 1,800 ล้านคน ที่ทรัพยากรธรรมชาติ ยังอุดมสมบูรณ์มากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแก๊สธรรมชาติ น้ำมัน สินแร่ ป่าไม้ ตลอดถึง พลอยไพลิน หยก เพชรนิล จินดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเมียนมา ที่มีทรัพยากรมหาศาล ตั้งแต่ภาคเหนือของประเทศติดชายแดนจีนลงใต้ไปถึงทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวเบงกอล
ในภาวะโลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้าที่สหรัฐโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กีดกันการค้าตามสโลแกนอเมริกาต้องมาก่อน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐทั่วโลก มากน้อยลดหลั่นกันไปตามความพอใจสหรัฐ ประเทศไทยถูกขึ้นภาษีนำเข้า 36% ซึ่งนับว่าน้อยกว่าเวียดนาม ลาว และ เมียนมา ในเวลาเดียวกันไทยต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐมากกว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นเป็นเด็กดีของอเมริกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพียง 10%
การเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำบิมสเทค จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของประเทศไทยได้แสวงหาตลาดการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดการท่องเที่ยวกับประเทศอินเดีย ที่กำลังกลายเป็นตลาดใหม่เข้ามาแทนจีน ปัจจุบันนักท่องเที่ยวอินเดีย เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วติดอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางมายังประเทศไทยมากที่สุด เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่อยู่ในอันดับ 9 และด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 1.16 ล้านคน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 นักท่องเที่ยวอินเดีย มาท่องเที่ยวประเทศไทยกว่า 2 ล้านคน ซึ่งศูนย์คาดการณ์การท่องเที่ยว ประมาณการว่าปี 2568 นักท่องเที่ยวอินเดียจะมาเที่ยวประเทศไทย 2.5 ล้านคน
นอกจากนั้นการประชุมบิมสเทค ยังพูดจาหารือกันทางด้านความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และที่มีความสำคัญที่สุด คือ การทวิภาคีกันกับผู้นำแต่ละประเทศ เพราะในที่ประชุมใหญ่แต่ละประเทศจะเสนอความเห็นในวงกว้าง ครอบคลุมทุกด้าน แต่น่าเสียดายที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทย มอบหมายให้ สทร.ทำหน้าที่ทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย
ภาพทีวีที่เห็น นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ในบิมสเทค ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ในรัฐบาลไทย กลับแสดงบทบาทสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำบิมสเทค นายทักษิณนั่งที่มีธงชาติไทยอยู่ข้างหลัง ระหว่างเจรจาทวิภาคีกับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งมีธงชาติอินเดีย อยู่ข้างหลัง ในทางสากลถือว่า ทั้งสองคนเป็นผู้นำประเทศทวิภาคีกัน
การที่ให้คนนอกไม่มีตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาลทำหน้าที่สำคัญของการประชุมนอกจากด้อยค่าเจ้าภาพจัดการประชุมแล้ว ยังทำให้ผู้นำทั้งหลายเกิดความสับสนว่า ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีสองคนหรืออย่างไร? และพาลเข้าใจว่านายกฯแพทองธาร ชินวัตร ไม่มีความรู้ความสามารถ เธอเป็นเพียงหุ่นเชิดของบิดาเท่านั้น ความสำคัญของการประชุมจึงลดน้อยลงไป
อย่างไรก็ตาม ยังดีที่ไม่มีภาพนายทักษิณ ทวิภาคีกับ พลเอกมิน อ่อง หล่าย แขกคนสำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำบิมสเทค ครั้งนี้ ดังที่นักวิชาการด้านความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวว่าพลเอกมิน อ่อง หล่าย น่าจะทวิภาคีกับผู้นำกองทัพหรือทหารเท่านั้น พลเอกมิน อ่อง หล่าย ให้ความสำคัญกับทหารมากกว่ารัฐบาลเพื่อไทย
ที่กล่าวว่าพลเอกมิน อ่อง หล่าย เป็นแขกคนสำคัญในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากว่าพลเอกมิน อ่อง หล่าย โดยปกติไม่ค่อยเดินทางไปเยือนประเทศไหน ส่วนใหญ่จะเดินทางไปเยือนประเทศจีนกับรัสเซีย ดังนั้น การที่พลเอกมิน อ่อง หล่าย รับเชิญมาร่วมประชุมบิมสเทคในประเทศไทย ถือว่าเป็นการให้เกียรติประเทศผู้ริเริ่มความร่วมมืออ่าวเบงกอล ซึ่งก่อตั้งในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี 2540 และถือว่าพลเอกมิน อ่อง หล่าย ให้เกียรติทหารไทยที่มาร่วมเจรจาในขณะที่ประเทศเมียนมาประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
จึงพูดได้ว่าพลเอกมิน อ่อง หล่าย เยือนไทย มีแต่ได้กับได้หรือ วิน วิน ด้วยกันทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ได้อันดับแรกคือ ทหารกับทหาร ได้พูดกันซึ่งหน้าถึงปัญหาคาราคาซัง และข้อครหาที่มีมากมายซึ่งฝ่ายเมียนมาเชื่อว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government=NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาฝ่ายนาง ออง ซาน ซู จี และกองกำลังติดอาวุธ (People’s Defense Force=PDF) ตลอดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา บางส่วนเคลื่อนไหวในดินแดนประเทศไทย โดยมีนักการเมืองบางพรรคสนับสนุน ให้ที่พักพิงจริงหรือไม่? จึงจำเป็นที่ทหารกับทหารต้องพูดกันซึ่งหน้า
หรือกรณีมีข้อกล่าวหาว่า ว้า รุกล้ำเข้าในดินแดนของประเทศไทย ทหารกับทหารต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร จะต้องให้ประเทศไทยใช้กำลัง หรือ เมียนมาจะเจรจากับว้าเอง และปัญหาการค้ามนุษย์โรฮีนจา ซึ่งประเทศบังกลาเทศ และเมียนมาเป็นต้นทาง โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปมาเลเซียและอินโดนีเซีย เชื่อว่าทหารกับทหารต้องหาแนวทางร่วมมือกันในการแก้ปัญหา
ที่ทหารกับทหารต้องหารือกันเรื่องถอนรากถอนโคน อาชญากรรมข้ามชาติที่เมืองเมียวดี รัฐกะหรี่ยงในเมียนมา เป็นแหล่งค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย เป็นศูนย์กลางการหลอกลวง
ออนไลน์ หรือ คอลเซ็นเตอร์ ที่ต้องยอมรับว่า รัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากผลประโยชน์ทับซ้อนหลายอย่าง ที่ฝ่ายมั่นคงรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไรแต่ไม่รายงานทั้งหมดให้รัฐบาลทราบ เพราะไม่แน่ใจในศักยภาพและสติปัญญาของผู้นำรัฐบาล
เมื่อทหารชั้นผู้ใหญ่ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ได้พูดคุยกับพลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทยหรือไม่ก็แม่ทัพในพื้นที่ ก็จะได้ทำความเข้าใจกันว่า จะถอนรากถอนโคนอาชญากรรมข้ามชาติอย่างไร เชื่อว่าทหารกับทหารตกลงกันได้ เพราะความสัมพันธ์ทหารไทยกับเมียนมายังคงแนบแน่น ไม่ว่าในยามที่ประเทศเมียนมาหรือประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร
ผบ.สส.ไทย เป็นผู้สั่งการให้หน่วยกู้ภัยค้นหาทหารไปช่วยเหลือค้นหาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาก่อนหน้ามาเลเซียซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนซ้ำ
ส่วนพลเอกมิน อ่อง หล่าย ที่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกาและตะวันตกตลอดเวลาสี่ปีที่ผ่าน การมาร่วมประชุมบิมสเทค ในประเทศไทยได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับนานาชาติ ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้เลวร้ายดังที่ถูกกล่าวโดยโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตก ในเวลาเดียวกันก็ได้อธิบายว่า สงครามกลางเมืองเมียนมาไม่ได้ร้ายแรงไปกว่าที่เป็นมา
ตลอดเวลากว่า 60 ปี ที่ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ รบราฆ่าฟันแย่งชิงผลประโยชน์กันเองในพื้นที่นั้นๆ
ตลอดเวลา 60 ปีเมียนมาปะทะกับกลุ่มชาติพันธุ์น้อยมาก แต่หลังจากพลเอก มิน อ่อง หล่าย ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 มีกองกำลังติดอาวุธ “พีดีเอฟ” เพิ่มเติมขึ้นมา พีดีเอฟ ไม่เคยฝึกทหารไม่มีความรู้ความชำนาญในการรบ เปรียบกันได้เหมือนนักศึกษาและคนหนุ่มสาวไทย หนีเข้าป่าจับปืนหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งนักศึกษาและคนหนุ่มสาวมีอุดมการณ์มั่นคง ไม่ถึง 3 ปี ก็กลับออกจากป่า มารับใช้ทุนสามานย์อยู่ทุกวันนี้ นักศึกษาไทยเข้าป่าจับปืนฉันใด พีดีเอฟเมียนมา จับอาวุธขึ้นมาทำสงครามกับทหารเมียนมาฉันนั้น สถานการณ์ในเมียนมาไม่ได้เลวร้ายดังที่อเมริกาโฆษณาชวนเชื่อ
การมาประชุมบิมสเทค ของพลเอกมิน อ่อง หล่าย จึงได้มีโอกาสทำให้นานาชาติมั่นใจในการเตรียมการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นปลายปี 2025 เมียนมาไม่สนใจว่าอาเซียนจะรับรองการเลือกตั้งหรือไม่ แต่พลเอกมิน อ่อง หล่าย มั่นใจว่าชาติสมาชิกบิมสเทค รวมทั้งรัสเซีย และจีนจะสนับสนุนและรับรองผลการเลือกตั้งเมียนมา
นอกจากชี้แจงถึงความพร้อมในการเลือกตั้งแล้วเชื่อว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย จะขอความช่วยเหลือจากนานาชาติที่เมียนมาประสบภัยแผ่นดินไหวร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
และสิ่งหนึ่งที่คนไทยไม่ควรลืมว่า พลเอกมิน อ่อง หล่าย เคารพรักศรัทธาทหารอาชีพของไทย ถึงกับปวารณาตนเป็นบุตรบุญธรรมป๋า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษสองแผ่นดินของไทย
ส่วนชาติสมาชิกบิมสเทคอื่นๆ อาทิ บังกลาเทศ ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา คงจะยกประเด็นเศรษฐกิจการค้า ตลอดถึงความมั่นคงขึ้นมาเจรจา
สุดท้ายนี้ขอชื่นชมกระทรวงการต่างประเทศที่ยึดมั่นในหลักการไม่หวั่นไปตามเสียงคัดค้าน นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า
“การที่ไทยในฐานะประธานการประชุมบิมสเทคครั้งนี้ เชิญผู้นำเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นไปตามกฎบัตรของบิมสเทคที่ต้องเชิญผู้นำทุกประเทศมาร่วมประชุม รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่าข้อตกลงทุกอย่างจะได้รับการรับรองจากทุกประเทศสมาชิก”
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี