มีคำถามตลอดเวลาว่าประเทศไทยยุคปัจจุบัน ใครคือนายกรัฐมนตรีตัวจริง ระหว่างแพทองธาร กับทักษิณ ชินวัตร
แล้วก็มีคำถามตามมาว่า หากแพทองธารไม่ใช่ลูกของทักษิณ แพทองธารจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยหรือไม่ แต่ก็มีคำถามตามอีกว่า ทำไมทักษิณกล้าส่งแพทองธารไปเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ทักษิณต้องรู้ดีอยู่แก่ใจว่าแพทองธารไม่มีความสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้
คำถามทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นเรื่องที่ทักษิณ แพทองธาร รู้คำตอบเป็นอย่างดี แต่ถามว่าแล้วทำไมจึงยังฝืนทำทั้งๆ ที่รู้ดี เรื่องนี้มีคำตอบอยู่ที่ทักษิณ ส่วนการที่มีผู้บอกว่ายังมีผู้อยู่เหนือกว่าทักษิณ แล้วคนคน นั้น คือผู้บงการทั้งหมด เรื่องนี้ขอสารภาพตรงๆ ว่า เกินกว่าระดับสติปัญญาของผู้เขียนจะตอบได้ เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าใครอยู่เหนือทักษิณ หรือใครบงการให้ทักษิณต้องทำเช่นที่กำลังกระทำอยู่
แต่ความจริงเชิงประจักษ์ คือ แพทองธารไม่มีความสามารถบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น จึงจำเป็นที่ทักษิณต้องแสดงบทบาทนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่อยู่เบื้องหลัง แต่ทว่าทักษิณก็ไม่สามารถซ่อนตัวอยู่ข้างหลังแพทองธารได้ เพราะทักษิณยังต้องการ show off ให้สาธารณะเห็นชัดว่าเขาคือคนที่มีอำนาจรัฐแท้จริง โดยมีแพทองธารเป็นแค่เพียงหุ่นชักของเขา ดังนั้น จึงไม่ต้องประหลาดใจว่าทำไมทักษิณจึงไม่รักษาหน้าลูกของตน ยิ่งทักษิณแสดงว่าตนเองมีอำนาจรัฐมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้แพทองธารน่าสมเพชมากขึ้นเท่านั้น แต่นั่นคือวิธีการของทักษิณ เพราะเขาประเมินแล้วว่าหากเขาปล่อยให้แพทองธารดำเนินเรื่องด้วยตัวเอง ความพังพินาศยับเยินจะบังเกิดโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง
การที่ทักษิณต้องดิ้นรนเพื่อให้ อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย เชื้อเชิญให้ตนเองไปเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานหมุนเวียนสมาชิก ASEAN ก็เป็นเพราะทักษิณต้องการใช้โอกาสที่นับได้ว่าใกล้จะถึงช่วงบั้นปลายของชีวิตได้แสดงบทบาทนำบนเวที ASEAN อีกสักครั้ง ดังนั้นจึงขอให้อันวาร์เชิญให้ทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของอันวาร์ แต่ถามว่าการเป็นประธานหมุนเวียนของ ASEAN มีอำนาจใดๆ ยิ่งใหญ่เกินกว่าสมาชิก ASEAN อีก 9 ประเทศหรือ ตอบว่าเปล่าเลย
อ้างตามบทบัญญัติของกฎบัตร ASEAN ที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 10 ที่ว่าด้วยการบริหารและขั้นตอนการดำเนินงานในข้อที่ 31 ว่าด้วยประธาน ASEAN กำหนดว่าต้องหมุนเวียนเปลี่ยนผู้รับตำแหน่งประธาน ASEAN ทุกปี โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษที่เป็นชื่อประเทศสมาชิก โดยประธาน ASEAN จะรับตำแหน่งตั้งแต่ 1 มกราค มถึง 31 ธันวาคมของแต่ละปี โดยในปีใดที่ประเทศสมาชิกได้รับตำแหน่งประธาน ASEAN ประเทศนั้นก็ต้องรับหน้าที่ประธานจัดการประชุมสุดยอด ASEAN (ASEAN Summit) และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การประชุมคณะมนตรีประสานงาน ASEAN คณะมนตรีประชาคม ASEAN ทั้งสามคณะ องค์กรระดับรัฐมนตรี ASEAN เฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม และประชุมของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
สำหรับบทบาทหน้าที่ของประธาน ASEAN คือส่งเสริมเพิ่มพูนผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิก ASEAN อย่างแข็งขัน รวมถึงความพยายามสร้างประชาคม ASEAN โดยการริเริ่มด้านนโยบาย การประสานงานโดยเน้นหลักฉันทามติ และความร่วมมือ รวมถึงต้องสร้างความมั่นใจในการเป็นศูนย์รวมของ ASEAN เพื่อการตอบสนองต่อประเด็นเร่งด่วน หรือต่อสถานการณ์วิกฤตที่ส่งผลกระทบต่ออาเซียน โดยจะต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที รวมถึงวางตัวเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ และจัดการในเรื่องต่างๆ เพื่อให้สนองตอบข้อกังวลที่เกิดขึ้นโดยทันที
นอกจากนี้ประธาน ASEAN ต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนของสมาชิก ASEAN เพื่อเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอก ASEAN อย่างใกล้ชิด รวมทั้งปฏิบัติภารกิจ และหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า ประธานหมุนเวียนของ ASEAN เป็นตำแหน่งที่มีพันธะหน้าที่ตามข้อกำหนด มิได้หมายความว่าสามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจส่วนการที่อันวาร์ตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธาน ASEAN ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะไม่มีข้อห้าม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ปรึกษาจะมีอำนาจใดๆ เพราะมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาเท่านั้น
ถามว่าก่อนหน้าที่อันวาร์จะรับตำแหน่งประธานหมุนเวียน ASEAN เหตุใดทักษิณไม่ขอให้ประธานก่อนหน้านั้นตั้งตัวเองเป็นที่ปรึกษา เรื่องนี้ตอบไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูล แต่ก็อาจคิดได้ว่าทักษิณอาจขอไปแล้ว แต่ประธานคนเดิมไม่สนใจคำขอ หรือทักษิณอาจไม่ได้ขอก็ได้ เพราะในขณะนั้น แพทองธารยังไม่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (หุ่นกระบอก)
กลับมาพูดถึงประเด็นอันวาร์มาไทยครั้งล่าสุด แล้วมีข่าวบอกว่าอันวาร์ได้พบกับทักษิณ ขอบอกว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องพิสดาร เพราะทั้งสองคนเคยพบกันมาแล้วเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ในการพบกันครั้งนั้น ทักษิณไม่กล้าบอกตรงๆ ว่าไปพบอันวาร์ที่ใด ส่วนอันวาร์ก็ทำได้แค่เพียงนำภาพการพบปะกันกับทักษิณแสดงไว้บนระบบ Social Medai ที่ชื่อ X เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าพบกันที่ใด เนื่องจากทักษิณยังไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไทยได้ตามอำเภอใจ เพราะยังมีสถานะเป็นผู้ได้รับการพักโทษ ดังนั้น หากจะเดินทางออกนอกประเทศ จำเป็นต้องขออนุญาตจากศาลเสียก่อน
แต่ก็น่าสังเกตว่า ภาพการพบกันระหว่างอันวาร์กับทักษิณครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ก็ถูกลบออกจาก X ไปแล้ว หลังจากอันวาร์ posted ได้ไม่นาน คำถามคือลบ post เพราะอะไร
เนื้อหาจาก X ของอันวาร์ก่อนถูกลบยังระบุว่าเขาได้พบกับผู้นำของ NUG (National Unity Government) และ SAC (State Administration Council) โดยระบุว่าเพื่อรับฟังมุมมอง และเพื่อเป้าหมายคือความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนต่อผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่กำลังประสบภัยในเมียนมา และเพื่อยุติความรุนแรงที่ยังคงดำเนินไปในเมียนมา
นอกจากนี้ อันวาร์ยัง posted ด้วยว่า ได้พบกับนักธุรกิจ และนักอุตสาหกรรมชั้นนำของไทย โดยหารือกันในประเด็นการทำธุรกิจกับมาเลเซีย เพื่อร่วมกันวางรากฐานที่สำคัญสำหรับอนาคตที่รุ่งโรจน์ของภูมิภาคแห่งนี้ โดยเน้นการแบ่งปัน และความยั่งยืน รวมถึงการขับเคลื่อนการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่มีคุณภาพสูง “อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้คัดค้านความพยายามสร้างสันติภาพที่ถาวรในเมียนมา และไม่ได้คัดค้านการที่อันวาร์เข้ามากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ แต่ก็ยังคงมีคำถามว่า ทำไมอันวาร์จึงไม่หารือเรื่องนี้พร้อมๆ กับสมาชิก ASEAN รายอื่นๆ พร้อมโดยพร้อมเพรียงกัน ทำไมจึงทำแบบลับๆ ล่อๆ มีลับลมคมใน ทำไมต้องเข้ามาเจรจากับมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเผด็จการของเมียนมา ทั้งๆ ที่อันวาร์มีสิทธิ์เชิญมิน อ่องหล่าย ไปพบปะสนทนากันในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
หากอันวาร์คิดว่าจะทำเรื่องนี้แบบการทูตเชิงลับ ก็ไม่ต้องประกาศตัวชัดเจนว่าตนเองเข้ามากรุงเทพฯ และไม่ต้องประกาศตัวว่ามาเจรจากับ มิน อ่อง หล่าย ในกรุงเทพฯแต่น่าจะใช้การทูตการเจรจาเชิงลับ แล้วดำเนินการเจรจากับฝ่ายปรปักษ์กับรัฐบาลทหารเผด็จการของเมียนมาไปพร้อมๆ กัน เพื่อมิให้นานาชาติมองอันวาร์ว่าเข้าข้างหรือให้ความสำคัญกับ มิน อ่อง หล่าย มากเกินกว่าฝ่ายต่างๆ ที่กำลังสู้รบกันในเมียนมา
ส่วน มิน อ่อง หล่าย นั้น เข้ามากรุงเทพฯ บ่อยจนน่าตั้งข้อสังเกต เพราะเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนก็เข้ามาประชุม BIMSTEC (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) แล้วก็ได้รับการต้อนรับจากแพทองธาร ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งการพบปะระหว่าง มิน อ่อง หล่าย กับแพทองธารในครั้งนั้นถูกตั้งคำถามจากนานาชาติ และคนไทยที่ไม่สนับสนุนการกระทำของ มิน อ่อง หล่าย ที่ทำรัฐประหาร แล้วสั่งจับตัวออง ซาน ซู จี รวมถึงฝ่ายปรปักษ์การเมืองอีกหลายคน รวมถึงยังทำสงครามปรามปรามชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเผด็จการของ มิน อ่อง หล่าย อีกด้วย
ดังนั้น ตัวแสดงทั้งสามคือ อันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารเผด็จการของเมียนมา และทักษิณ ชินวัตร สทร. แห่งประเทศไทย ที่ข่าวว่ามาพบปะกันในกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ แต่ไม่มีความชัดเจนใดๆ มามาพบกันแล้วเจรจากันในประเด็นสำคัญใดบ้าง แล้วการพบกันครั้งนี้ จะทำให้เกิดสันติภาพในเมียนมาได้จริงหรือ
ขอย้ำว่า ไม่มีใครคัดค้านความพยายามจะหาหนทางบรรลุเป้าหมายสันติภาพในเมียนมา แต่เพียงแค่ไม่มีใครเชื่อมั่นว่าการพบปะกันของคนทั้งสามในกรุงเทพฯ เมื่อสองสามวันก่อนจะทำให้เกิดสันติภาพแท้จริงในเมียนมา
ส่วน แพทองธาร นั้น แม้จะมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย แต่ก็ถูกมองว่าเป็นเพียงหุ่นกระบอกเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีวันที่หุ่นกระบอกจะสามารถแสดงบทบาทสำคัญใดๆ กับการเสริมส่งให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้ดีขึ้นในสายตาประชาคมโลก ดังนั้นจึงไม่ต้องประหลาดใจว่า เหตุใดการเจรจาเรื่องสำคัญระหว่างอันวาร์ และ มิน อ่อง หล่าย จึงตัด แพทองธารออกไปจากการพูดคุย แล้วก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมทักษิณจึงกลายเป็นหมากตัวที่ดูเสมือนว่าสำคัญในการพบปะกันครั้งนี้ นั่นเป็นเพราะว่า ทักษิณ จำเป็นต้องพาตัวเองไปอยู่บนเวทีการเจรจาสำคัญให้ได้ เพราะมันคือหนทางเดียวที่จะทำให้ทักษิณยังอยู่ในแสงของ spot light ทางการเมือง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี