พวกเราชาวไทยน่าจะก็คุ้นเคยกับคำว่า ปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นชาวอาหรับกลุ่มหนึ่ง ที่มีชีวิตความเป็นมาในผืนแผ่นดินทางตะวันออกสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่นเดียวกับชาวยิว เพราะทั้งสองชาติพันธุ์ต่างมาจากรากเหง้าหรือบรรพบุรุษเดียวกันคือ อับราฮัม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญกับการรุกราน และครอบครองโดยชนชาติอื่นมาโดยตลอด ล่าสุดคืออาณาจักรออตโตมานของพวกเติร์ก และท้ายสุดฝ่ายยุโรปตะวันตกเจ้าอาณานิคม
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของผู้นำฮิตเลอร์ฝ่ายเยอรมนีที่กระทำต่อชาวยิว ก็ได้มีการจัดตั้งประเทศอิสราเอลขึ้น เพื่ออำนวยให้ชาวยิวพลัดถิ่นได้มีที่อยู่อาศัยและเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดการขับไล่ชาวอาหรับปาเลสไตน์ออกไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน ต้องกลับกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัย หรือไม่ก็เป็นพลเมืองชั้นสองในประเทศอิสราเอล
ฝ่ายปาเลสไตน์จึงได้เรียกร้องความยุติธรรม และสิทธิในการมีประเทศของตนเองเคียงข้างกับฝ่ายยิวอิสราเอล โดยประชาคมโลกโดยทั่วไปก็สนับสนุนการแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างยิวอิสราเอล กับอาหรับปาเลสไตน์ ด้วยการให้มีการจัดตั้งประเทศปาเลสไตน์ คู่ขนานกับประเทศอิสราเอล ที่เรียกว่า Two State Solution (ซึ่งประเทศไทยก็สนับสนุนแนวทางนี้ด้วย) แต่เรื่องก็ยังค้างคาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะฝ่ายอิสราเอลโดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาบิดพลิ้ว ส่วนฝ่ายอาหรับทั้งหมดก็ขาดความแข็งแกร่งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการให้ได้มาซึ่งประเทศปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม รัฐปาเลสไตน์ (ที่ยังปราศจากดินแดนที่แน่นอน) ก็ได้รับการตอบรับเข้าเป็นรัฐสมาชิกผู้สังเกตการณ์ขององค์การสหประชาชาติ และประเทศไทยกับรัฐปาเลสไตน์ก็ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนคณะทูต โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยที่กรุงอัมมาน ราชอาณาจักรจอร์แดน มีเขตอาณาดูแลเขตเวสต์แบงก์ ในการปกครองของรัฐบาล PLO ขณะที่สำนักงานปาเลสไตน์ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ราชอาณาจักรมาเลเซีย มีเขตอาณาดูแลประเทศไทย
ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2521 ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อรัฐปาเลสไตน์ผ่านหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ คือ United Nations Relief and Work Agency for Palestinian Refugees in the Near East – UNRWA ด้วยเงินสนับสนุน 4-5 หมื่นเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณต่อปีมาโดยตลอด และนอกจากนั้นฝ่ายไทยยังให้ทุนการศึกษาอบรมแก่บุคลากรของรัฐปาเลสไตน์จำนวน5 ทุนต่อปี ในสาขา เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการบริหารจัดการธุรกิจขนาดเล็กและย่อม อีกทั้งไทย ปาเลสไตน์ และญี่ปุ่น ก็มีการร่วมมือกันแบบสามเส้าในการพัฒนาบุคลากรของฝ่ายปาเลสไตน์ เช่น ในสาขาการท่องเที่ยว และการเกษตร ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของกรอบ The Cooperation among East Asian Countries for Palestinian Development– CEAPAD ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งที่ 3 ของ CEAPAD ไทยได้เป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2561
กล่าวโดยรวมฝ่ายไทยก็มีมิตรจิตมิตรใจที่ดีต่อฝ่ายปาเลสไตน์ โดยการให้ความร่วมมือช่วยเหลือดังกล่าว แต่ก็เป็นไปในแบบค่อนข้างจะจำกัด ในขณะที่ฝ่ายไทยเองมีศักยภาพมากมายกว่านี้ที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือทั้งทางด้านมนุษยธรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของฝ่ายปาเลสไตน์ และในขณะเดียวกันก็ควรปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิสราเอล และระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ ให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าประชาชนพลเมืองของไทยประมาณร้อยละ 8 ก็นับถือศาสนาอิสลามเยี่ยงชาวปาเลสไตน์ และฉะนั้นก็ควรที่จะนำประเด็นนี้มาอยู่ในการพิจารณาช่วยเหลือฝ่ายปาเลสไตน์ให้กระชับขึ้นได้ โดยการดำเนินการใน 2 ระดับด้วยกัน คือในระดับรัฐบาล และในระดับประชาชนต่อประชาชน หรือนัยหนึ่งชาวไทยมุสลิมต่อชาวมุสลิมปาเลสไตน์
ประเทศไทยเองมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร และได้ปรับปรุงเพิ่มขยายผลิตภัณฑ์ฮาลาลต่างๆ จึงอยู่ในวิสัยที่จะเพิ่มความช่วยเหลือทางด้านอาหารต่อชาวปาเลสไตน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งไทยเราก็มีความเป็นเลิศในเรื่องการรักษาพยาบาล และมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่งในเรื่องเภสัชกรรม และเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ ก็อยู่ในวิสัยที่เราจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขได้ นอกจากนั้นอุตสาหกรรมขนาดเบาต่างๆ ของไทย ก็มีผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างค่ายผู้อพยพ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวร ไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านเรือนและครัวเรือนต่างๆ ซึ่งในการนี้ ไทยเราเองก็คงไม่ต้องรับภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ขยายการร่วมมือแบบสามเส้าได้ เช่น การให้มิตรประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมิตรประเทศที่มีความมั่งคั่ง เช่น บรูไน หรือราชอาณาจักรมุสลิมในตะวันออกกลาง มาซื้อสินค้าจากไทย เพื่อไปแจกจ่ายให้กับชาวปาเลสไตน์ ทั้งที่อยู่ในเขตปกครองของรัฐปาเลสไตน์ และที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศเลบานอนและประเทศจอร์แดน
หนึ่งในความภูมิอกภูมิใจของเราชาวไทยก็คือ “ทาน” และคุณค่าของความเป็นไทยก็คือ การเป็นผู้ให้หรือผู้ปฏิบัติหลักทาน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี