หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 มาได้ประมาณ 9 เดือน การเรียนรู้เรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของสยามก็มาถึงเรื่องการยุบสภา ซึ่งแสดงออกถึงการขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร และทางฝ่ายบริหารได้เลือกเอาการยุบสภา เพื่อให้ประชาชนตัดสินด้วยการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2481
ในที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2482 นายถวิล อุดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับวิธีการเสนอร่าง
พระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีต่อรัฐสภา โดยต้องการให้รัฐบาลเสนอรายละเอียดทั้งรายรับรายจ่ายโดยชัดแจ้ง นายถวิล อภิปรายถึงเหตุและผลอย่างยืดยาวและจบลงว่า
“โดยสรุป ข้อบังคับการประชุมของข้าพเจ้าซึ่งได้เสนอมานี้ความจริงไม่ใช่เป็นของใหม่ …รัฐบาลก็ได้วางวิธีการทำงบประมาณให้มีรายละเอียด และดูเหมือนมีรายละเอียดยิ่งกว่าที่ข้าพเจ้าเสนอมานี้เสียอีก ญัตติของข้าพเจ้านี้เพียงแต่ขอให้นำเอารายละเอียดซึ่งรัฐบาลทำอยู่นั้นส่งมาให้สภาฯ พิจารณา หลักการมีอยู่เพียงเท่านี้ อีกประการหนึ่งพูดกันในทางหลักการที่ข้าพเจ้าได้อ่านมานี้ ข้าพเจ้าได้อ่านคำบรรยายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองของท่านรัฐมนตรี…”
เท่านั้นยังไม่พอ ถวิล อุดล ยังขยายความต่อไปอีกว่า
“ท่านรัฐมนตรีคลังปัจจุบันนี้ ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ได้ให้หลักวิชาไว้ในตำราของท่านว่า งบประมาณที่ดีที่สุดนั้นจะต้องทำให้ละเอียดและชัดแจ้งที่สุด คำบรรยายของท่านนี้ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งซึ่งจูงใจให้ข้าพเจ้าเสนอญัตติอันนี้ขึ้นมา ถึงแม้ว่าคำบรรยายจะเป็นคำบรรยายในสมัยซึ่งท่านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง ข้าพเจ้าก็หวังว่า
ยังคงใช้ได้ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีคลังและข้าพเจ้าหวังว่าท่านคงสนับสนุนให้เป็นไปตามคำบรรยายนั้น”
จากนั้นพระยาไชยยศสมบัติ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังก็ได้อธิบายถึงการเสนอร่างงบประมาณว่าต่างจากร่างพระราชบัญญัติอื่นๆโดยปกติ และท่านได้ อธิบายขั้นตอนออกเป็นสามขั้นตอน ในขั้นแรกที่กระทรวงการคลัง ขั้นที่สองซึ่งเป็นขั้นนโยบายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และมาขั้นที่สามที่สภาฯ ทั้งนี้ท่านบอกว่า ที่ดำเนินมานั้นให้รายละเอียดอย่างดีมาแล้ว และตรวจสอบได้ ดังนั้นที่จะให้แก้ไขนั้นยังไม่เห็นด้วย ที่สำคัญก็คือนายกรัฐมนตรีซึ่งลุกขึ้นอภิปรายในลำดับต่อมานั้น ได้อภิปรายอย่างเข้มข้นเกินความคาดหมาย แสดงว่าท่านมีอะไรในใจ พระยาพหลฯน่าจะพอรู้ว่ามีคนสำคัญบางคนต้องการให้ท่านออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยสุจริตใจว่าข้อบังคับอันนี้รัฐบาลรับไม่ได้ ถึงแม้ว่าจะลงมติว่าให้รับหลักการแห่งร่างข้อบังคับนี้ แต่รัฐบาลเห็นว่าเป็นการผูกมัดเกินไป และไม่มีใครเขาทำกันในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลต้องรับร่างข้อบังคับนี้ไปแล้ว เมื่อไม่สามารถจะทำได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลจะต้องลาออกหมด”
สมาชิกสภาฯ ที่สนับสนุนความเห็นของนายถวิล อุดล คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ที่อภิปรายยาวมาก การอภิปรายได้ยุติลงโดยมีการลงมติลับ และผลการลงมติก็ คือฝ่ายนายถวิล อุดล ชนะได้เสียงสนับสนุน 45 เสียง โดยรัฐบาลได้เพียง 31 เสียง เมื่อรัฐบาลแพ้มติในสภาฯ เช่นนี้ หลังจากเลิกประชุมสภาผู้แทนราษฎรฯ นายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯจึงได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมรับใบลาอ้างสถานการณ์ ของโลกในขณะนั้นมีความวุ่นวาย จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 โดยให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน
พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พระยาพหลฯ ก็มิได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี